ค้นหาเด็กกลุ่มเสี่ยง ลดอัตราพัฒนาการล่าช้า
กรมสุขภาพจิตเผยผลนำร่องโครงการพัฒนาการเด็กล้านนา เน้นค้นหา-รักษาเร็ว ดูแลตั้งแต่ห้องคลอดถึงคลินิกเด็กดี ช่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงน้ำหนักตัวน้อย ภาวะขาดออกซิเจน มีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าเด็กไทยพัฒนาการสมวัย 85% ในปี 2559
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก โดยกรมอนามัยสำรวจพบว่าตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เด็กมีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 28-32 มาตลอด ในปี 2559 สธ.จึงตั้งเป้าหมายให้เด็กต้องมีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 85 โดยกรมสุขภาพจิตได้ผลักดันให้เกิดโครงการบูรณาการพัฒนาการเด็กล้านนา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของ สธ. โดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ พัฒนาเทคโนโลยี เครื่องมือและสนับสนุนวิทยากรในการเผยแพร่เครื่องมือ ได้แก่ คู่มือประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง และคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งจะเป็นคู่มือประจำตัวของเด็กไทยทุกคน เพื่อให้ผู้ปกครองได้ดูแลพัฒนาการของลูกร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
“โครงการนี้นำร่องในเขตสุขภาพที่ 1 จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน พัฒนาทั้งระบบการเฝ้าระวัง คัดกรอง ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เชื่อมโยงข้อมูลแบบเป็นปัจจุบัน ตั้งแต่ห้องคลอด หน่วยดูแลเด็กแรกคลอด กลับเข้าสู่โรงพยาบาลต้นสังกัดในคลินิกเด็กดี (WCC) ตลอดจนเสริมพลังบุคลากรสาธารณสุขให้มีความรู้ความสามารถในการประเมิน คัดกรองพัฒนาการเด็กได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ เนื่องจาก ค้นพบเร็ว การช่วยเหลือได้เร็วและมีประสิทธิภาพ กลุ่มเป้าหมายของการติดตามในโครงการเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงหลัก 2 กลุ่ม คือ เด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย (Low Birth Weight) และเด็กแรกเกิดที่มีภาวะขาดออกซิเจน (Birth Asphyxia) ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า และนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ เช่น สมองพิการ สมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ ออทิสซึม เป็นต้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า วันที่ 23 ธ.ค. จะจัดงานรณรงค์พัฒนาการเด็กประจำปี 2557 เพื่อมอบความสุขให้เด็กและคนพิการ จ.เชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย
ด้าน นพ.สมัย ศิริทองถาวร ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2556 – 30 ก.ย. 2557 พบว่า เด็กกลุ่มเสี่ยงที่ติดตามช่วยเหลือมีแนวโน้มด้านพัฒนาการดีขึ้น กลุ่มเด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย (Low Birth Weight) จำนวน 2,355 คน ประเมินครั้งแรกพบ สมวัย ร้อยละ 80.04 เทียบกับการประเมินครั้งล่าสุด พบ พัฒนาการสมวัย ร้อยละ 84.94 สำหรับกลุ่มเด็กแรกเกิดที่มีภาวะขาดออกซิเจน (Birth Asphyxia) ได้รับการประเมินพัฒนาการจำนวน 555 คน ประเมินครั้งแรก พบ สมวัย ร้อยละ 80.73 เทียบกับครั้งล่าสุด พบ สมวัยร้อยละ 83.63
ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต