ค้นหาคนเสี่ยงคิดสั้น หนทางป้องกันการฆ่าตัวตาย
“การฆ่าตัวตายเป็นบาปที่ร้ายแรงที่สุด” คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวในทางธรรมที่เราชาวพุทธคงเคยได้ยินกันอยู่บ้าง ซึ่งสิ่งสำคัญไม่แพ้กว่ากัน คือทำไมคนต้องคิดฆ่าตัวตาย และจะมีวิธีป้องกันการฆ่าตัวตายได้หรือไม่.
องค์การอนามัยโลก ประมาณการไว้ว่าใน แต่ละปีจะมีคน 1 ล้านคนเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย และมีการคาดการณ์ไว้ว่า ในปี พ.ศ.2563 จะมีคนเสียชีวิตด้วยปัญหาดังกล่าว 1.53 ล้านคน นอกจากนี้สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายของอเมริกา ประมาณอัตราส่วนของผู้ที่พยายามทำร้ายตัวเองแต่ไม่สำเร็จมีสูงกว่าผู้ที่ทำสำเร็จถึง 25 เท่าทีเดียว ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบถึงครอบครัวและผู้คนรอบข้างอีกประมาณ 10-20 ล้านคนในแต่ละปี
และในทุกวันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก โดยในปีนี้ (2554) คำขวัญวันฆ่าตัวตายโลก กำหนดว่า Preventing Suicide in Multicultural Societies หรือ “การป้องกันการฆ่าตัวตายในหลากสังคมหลายวัฒนธรรม”
นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล่าถึงสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศให้ฟังว่า อัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทย ขึ้นสูงสุดในปี พ.ศ.2542 โดยในช่วง 2 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ จากนั้น ในปี พ.ศ.2543กรมสุขภาพจิตได้เริ่มดำเนินโครงการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายลดลงในระดับหนึ่ง โดยในปี 2542 มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 5,290 คน คิดเป็นอัตรา 8.59 ต่อประชากรแสนคน และปี 2553 มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,761 คน หรือประมาณวันละ 10 คน (คิดเป็นอัตรา 5.90 ต่อประชากรแสนคน) ทั้งนี้การลดลงของอัตราการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นชัดเจนในพื้นที่ที่ดำเนินกิจกรรมสำคัญเพื่อการป้องกันปัญหานี้ ได้แก่ การค้นหาผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายและให้การช่วยเหลือ การเพิ่มคุณภาพบริการทางสุขภาพจิต โดยเฉพาะการค้นหาและรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า การพัฒนาระบบข้อมูล การสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนการเผยแพร่ข่าวสารในเรื่องนี้ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเหตุผลที่เกิดการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่นั้น มีปัจจัยสาเหตุที่หลากหลาย ทั้งการมีอาการซึมเศร้า มีโรคเรื้อรัง ปัญหาโรคจิต ดื่มสุรา มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถูกคนใกล้ชิดซุบซิบนินทาว่าร้ายให้เสียหาย จนอับอาย ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทุบตี พักอาศัยร่วมกับบุคคลที่ติดสุราและติดยาเสพติด ได้รับข่าวการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายของคนอื่นในชุมชน แสดงท่าทีว่าจะทำร้ายตนเอง ใช้วิธีการรุนแรง คาดหวังให้ตาย นอกจากนี้ ยังพบว่า การว่างงานเป็นสาเหตุสำคัญของความเครียดในวัยทำงาน ดังนั้นผู้มีปัจจัยเสี่ยงตามปัจจัยข้างต้น ควรได้รับการดูแลช่วยเหลือ เพื่อป้องกันปัญหา โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อด้วยกัน ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาก ก็ยิ่งต้องการความช่วยเหลือมาก
“สิ่งที่จะช่วยป้องกันผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย คือ การได้รับบริการสุขภาพจิตที่ดีมีคุณภาพ การมีคนรอบข้างคอยเป็นกำลังใจ มีปัจจัยปกป้องที่ดี ได้แก่ การมีจุดหมายในชีวิต มีทักษะในการแก้ปัญหา มีความเข้มแข็งทางใจ มีศรัทธาต่อศาสนา มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว มีความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งบางช่วงของชีวิตคนเราอาจจะต้องพบกับปัญหาหรืออุปสรรคที่แก้ไขได้ยาก หรือยังมองไม่เห็นทางออก หากรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ควรหาคนช่วยเหลือ และหากยังมองไม่เห็นทางออก ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถขอใช้บริการได้ที่สถานบริการใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต ได้ที่ 1323 สำหรับผู้ที่มีอาการเบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้ และไม่สนใจหรือไม่สนุกกับกิจกรรมที่เคยชอบ อาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ ควรเข้ารับการรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน” คุณหมอประเวชกล่าวทิ้งท้ายฝากไว้เป็นกำลังใจให้กับใครหลายคนที่กำลังเริ่มก้าวสู่หนทางหมดหวัง
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี เคยกล่าวเอาไว้ว่า การเกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตนับว่ายากแล้ว แต่การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นนับว่าอยากกว่า และเมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ก็ควรใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า การฆ่าตัวตายจึงนับเป็นเรื่องที่ ไม่ควรแม้แต่จะคิด
เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th