ค้นคุณค่าสมุนไพร…ในอาหารไทย
กินให้เป็นยา สร้างภูมิคุ้มกันโรค
ยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่ยุติการแพร่ระบาด!!
ขณะที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขอนามัยรับผิดชอบต่อตนเองและคนรอบข้างอย่าง เคร่งครัด ทั้งในขณะที่ป่วยด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่การสร้างสุขนิสัยล้างมือบ่อยครั้ง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อหวัดร้ายทั้งสิ้น
นอกเหนือจากการรณรงค์เน้นย้ำดังกล่าว ที่ผ่านมายังมีความเคลื่อนไหวการแนะนำให้เลือก รับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์อุดมด้วยวิตามิน พืชผักสมุนไพรใกล้ตัวภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ซึ่งนอกจากจะมีผลดีต่อสุขภาพ ยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหลีกไกลจากการเจ็บป่วยได้อีกด้วย
การรู้หลักนำมาใช้ สิ่งนี้นั้นมีข้อควรรู้และแม้จะเป็นสิ่งที่ทราบกัน มีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีการเตือนระวังถึงการใช้อย่างถูกวิธี !!
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัด การใช้สมุนไพรตำรับยาที่ช่วยสร้างภูมิต้านทาน ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน บรรเทาอาการ ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในความต่อเนื่องได้ร่วมกันหาแนวทางการนำคุณค่าคุณประโยชน์ดังกล่าว ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายสามารถป้องกันการติดเชื้อ บรรเทาอาการของโรคและนอกจากการป้องกันดูแลตนเองที่ผ่านมาได้ส่งเสริมสุขภาพรับประทานสมุนไพรในรูปของอาหาร เครื่องดื่ม
ในผัก ผลไม้ ผักพื้นบ้าน ที่คุ้นเคยซึ่งมีวิตามินซีสูงรวมอยู่ด้วยนั้นมีอยู่ไม่น้อย อย่างเช่นในยอดมะยม ดอกขี้เหล็ก ยอดสะเดา มะระขี้นก พริกหวานรวมทั้งพริกชนิดต่างๆ แล้วก็ยังมี แครอท มะขามป้อม ฝรั่ง ส้ม มะม่วง มะละกอ รวมทั้งผักสีเขียวเข้มอย่าง คะน้า บรอกโคลี ผักโขม ฯลฯ ซึ่งต่างช่วยบำรุงสุขภาพเสริมสร้างสุขภาพ
นอกจากนี้ในผัก ผลไม้ ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีความสำคัญ สมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากที่มีรายงานมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสไข้หวัด อย่าง พลูคาวหรือคาวตองหรือพลูแก สามารถนำมาทานสดหรือทานกับน้ำพริก ขณะที่ กระเทียม ขิง กะเพรา ตะไคร้ สมุนไพรที่มีอยู่ในอาหารหลากหลายเมนู ทั้งแกงเลียง ผัดกะเพรา ต้มยำ แกงส้มผักรวม น้ำพริกผักต่าง ๆ เมี่ยงคำ ฯลฯ เหล่านี้เป็นอาหารที่สมุนไพรช่วยป้องกันการเจ็บป่วย
แต่ถ้าเริ่มเป็นหวัดมีอาการไข้ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ มีเสมหะดังที่ทราบฟ้าทลายโจร ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้นมีสรรพคุณบรรเทาอาการของโรคหวัด รักษาอาการไข้เจ็บคอและรักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ
“การใช้สมุนไพรชนิดนี้ควรใช้เมื่อมีอาการและไม่ควรใช้เกิน 7 วัน เพราะอาจทำให้มีอาการมือเท้าชา อ่อนแรงในผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุและด้วยที่เป็นพืชสมุนไพรซึ่งอาจมีปลูกไว้ตามบ้านเรือนสามารถนำมาใช้ในรูปของยาต้มโดยใช้ส่วนเหนือดินสับเป็นท่อนๆ หรือใช้ใบสดล้างให้สะอาดแล้วนำมาต้ม ประมาณหนึ่งกำมือนำน้ำมาดื่ม อีกทั้งยังมีงานวิจัยกล่าวถึงส่วนดอกซึ่งมีสารสำคัญอยู่มาก
แต่อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังซึ่งในผู้ป่วยบางราย ฟ้าทลายโจรอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้บ้าง โดยมีอาการระบายท้อง วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ฯลฯ ซึ่งหากมีอาการควรหยุด ใช้ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานและ หากอาการป่วยรุนแรงไม่หายควรพบแพทย์”
ขณะที่ผักผลไม้หลายชนิดมีคุณประโยชน์มีสรรพคุณทางยา ในมิติของอาหารอีกหลากหลายเมนูมีความหมายต่อการเสริมภูมิคุ้มกัน ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำฝ่ายพิษวิทยาทางอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้ว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่มีการแพร่ระบาดสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส การที่ไวรัสมาทำอันตรายเรา ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันเราอ่อนแอลงซึ่งเมื่อมีสารแปลกปลอมเข้ามาไม่ว่าจะเป็นอนุมูลอิสระ แบคทีเรียผ่านเข้ามาในร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค ดังนั้นถ้าภูมิคุ้มกันอ่อนแอเซลล์เม็ดเลือดขาวมีศักยภาพต่ำลงหรือน้อยลงก็มีโอกาสเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย
อาหารที่เลือกรับประทานจึงมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทำให้มีศักยภาพทำงานได้อย่างเต็มที่และอาหารเหล่านี้มีอยู่ในพืชผักสมุนไพรที่ใกล้ชิดคุ้นเคย แต่อาจมองข้ามกันไป
“อาหารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อไวรัสทั่วไปที่มีการศึกษาวิจัย ในส่วนของอาหารสมุนไพร จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบอยู่ในอาหารไทยอยู่มากซึ่งก็จะมี กระเทียม หอมแดง ขิง ขมิ้นชัน กะเพรา สะเดา พริกไทย ฯลฯ”
ถ้าแยกเป็นชนิดอย่าง กระเทียม จะเห็นได้ว่ามีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพเซลล์ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการทานกระเทียมสกัดหรือว่ากระเทียมสับ ตำปรุงอยู่ในอาหารหลากหลายเมนูก็จะไปช่วยกระตุ้นเซลล์เม็ด เลือดขาวทำลายสิ่งแปลกปลอม เช่น ไวรัส แบคทีเรีย
ขิง พืชอาหารอีกชนิดที่รู้จักกันดี อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในเอกสารวิชาการต่างประเทศซึ่งสารสำคัญในพืชชนิดนี้มีผลยับยั้งหยุดการเจริญของเชื้อไวรัส โดยในตำรายาจีนมีการพูดถึงนำมาใช้ยาวนาน
ผักอีกชนิดที่รับประทานกันอยู่บ่อยครั้ง โดยที่สามารถช่วยป้องกันเสริมภูมิคุ้มกันไม่ให้เป็นหวัดได้ง่าย อย่างผักใบ ประเภท กะเพรา สะเดา ก็พบว่ามีสารช่วยต่อต้านไวรัส นอกจากนี้ยังมี โหระพา รักษาอาการไข้ที่มีสาเหตุจากหวัดและไข้หวัดใหญ่ตามตำรายาแผนโบราณ
พริกไทย ซึ่งไม่เพียงเพิ่มรสชาติอาหารแต่ยังมีคุณประโยชน์ มีส่วนช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพืชผัก ภูมิปัญญาไทยที่ปรากฏในอาหารที่รับประทานกันและ ในการรับประทานเมื่ออยู่ในรูปของอาหารนั้นมีความปลอดภัยต่อการบริโภค
“การบริโภคอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป แน่นอนว่าย่อมไม่เกิดผลดีก่อเกิดโทษต่อร่างกายได้ สารบางอย่างถ้าสกัดเป็นตัวเดี่ยว หากทานในปริมาณมากก็อาจทำหน้าที่เหมือนอนุมูลอิสระก็จะไปทำลายเซลล์ทำให้ร่างกายเราอ่อนแอลง การทานอาหารที่มีความหลากหลายประกอบด้วยพืชผักหลายชนิดสารสำคัญจะออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน”
การรับประทานอาหารไม่ซ้ำในประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงมีส่วนสำคัญต่อการช่วยดูแลสุขภาพ อีกทั้งในพืชสมุนไพรหลักที่กล่าวมามีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ การเลือกนำมาบริโภคสามารถทำได้มากมายทั้งในประเภท แกงเผ็ด ต้มโคล้ง ต้มยำ ผัด กระทั่งในอาหารประเภทน้ำพริกซึ่งมีผักอยู่หลากชนิด ฯลฯ สำรับอาหารไทยจึงเป็นอาหารที่มีคุณค่าช่วยป้องกันโรคหลีกไกลความเจ็บป่วยได้
“อาหารไทยโดยมากจะมี ขมิ้น หอม กระเทียม ฯลฯ เป็นองค์ประกอบหลักเป็นเครื่องแกงต่างๆ อย่างถ้าเป็นผักใบอย่างกะเพราที่นำมารับประทานก็ใช่ว่าจะทานเดี่ยว มีพืชผักชนิดอื่นร่วมอยู่ด้วยทั้งพริก กระเทียมซึ่งต่างก็มีสารสำคัญมีความหลากหลายในมื้ออาหารและ นอกจากรับประทานในรูปของอาหารผักผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามิน ยังนำมาทำเป็นเครื่องดื่มก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยป้องกันเสริมสร้างสุขภาพ โดยทั่วไปเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ทราบกันแต่ก็มักมองข้าม แต่ในคุณค่าคุณประโยชน์ของพืชผักอาหารใกล้ตัวเหล่านี้ที่มีความหมายต่อสุขภาพตะวันตกนั้นให้ความสนใจในสิ่งนี้เพิ่มขึ้น”
การทานอาหารที่อุดมด้วยผักหลากหลายชนิด อาจารย์ท่านเดิมยังให้มุมมองอีกว่า ผักหลายชนิดมีสารสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ การทานผักที่หลากหลายมีส่วนช่วยป้องกันเสริมสร้างสุขภาพทำให้ระบบร่างกายดีขึ้น โรคหัวใจ ความดัน หรือโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ฯลฯ ก็จะไม่ถามหา ส่วนความเป็นห่วงที่อยากฝากเตือนให้เพิ่มความระมัดระวัง การรับประทานอาหารร่วมกันควรใช้ช้อนกลางเพื่อหลีกเลี่ยงการติดต่อการแพร่ระบาด
ขณะที่อาหารเป็นยาในความหมายดังกล่าวจึงเป็นการป้องกัน ไม่ได้หมายถึงการรักษา การรับประทานอาหารหลากหลายมีประโยชน์ครบคุณค่าเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ออกกำลังกายพักผ่อนอย่างเพียงพอ อีกทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมส่งผลเสียต่อสุขภาพ รับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวมทั้งหมดนี้ไม่เพียงสร้างเสริมให้ร่างกายแข็งแรง
แต่ยังเป็นอีกทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพป้องกันเตรียมพร้อมไกลห่างจากความเจ็บป่วยการแพร่ระบาดของหวัดร้ายเวลานี้อีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update 28-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก