‘ค่ายอาสา’ ปลุกสำนึกวิชาพลเมืองสู่เยาวชน

เกือบ 10 ปี ที่ค่ายอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือ "ค่ายสร้างสุข" ผลผลิตของ "มูลนิธิโกมลคีมทอง" และสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ "สสส." ได้ปลุกปั้นเยาวชนทั่วประเทศ ให้เป็น "เด็กค่ายอาสา" ภายใต้ความหวังว่าต้นกล้าเล็กๆ นี้ จะเติบใหญ่เป็นร่มเงาที่พึ่งให้สังคม


'ค่ายอาสา' ปลุกสำนึกวิชาพลเมืองสู่เยาวชน thaihealth


จากวันนั้นถึงวันนี้….."ค่ายสร้างสุข" ยังเดินหน้าปั้นเด็ก ค่ายอาสาขึ้นต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมและการลงพื้นที่ต่างๆ แม้ช่วง เวลาไม่กี่วันของการได้คลุกคลีกับชาวบ้านอาจไม่ได้นำไปสู่ "ผลลัพธ์" ที่เป็นรูปธรรมทันที แต่ทักษะการสังเกต หาข้อมูลที่รอบด้าน ไม่ต่างอะไรจาก "อาวุธ" ที่เด็กค่ายอาสาต้อง มีติดตัว ดังเช่นที่นักศึกษาภาคเหนือกลุ่มหนึ่งได้รับจาก การลงพื้นที่ ต.บ้านกล้วย อ.ภูซาง จ.พะเยา ภายใต้กิจกรรม "ค่ายสร้างสุข" ปีที่ 9


ดิลก หาญพล เจ้าหน้าที่มูลนิธิโกมลคีมทอง บอกว่า กลุ่มนักศึกษาภาคเหนือ มีความสนใจทำค่ายอาสาหลายประเด็น แต่ก่อนเปิดโอกาสให้ลงมือทำค่ายจริง จำเป็นต้องมีกิจกรรม ฝึกปฏิบัติที่จะสอนทักษะในเรื่องที่จำเป็นสำหรับการทำงานร่วมกับชุมชน ในขั้นตอนนี้ประโยชน์ของชุมชนเป็นเพียงผลพลอยได้ แต่ "หัวใจหลัก" ของการทำค่ายอยู่ที่การเติบโตภายในของเยาวชน


"เขาอาจเคยได้ยิน ได้เห็นมา และการลงพื้นที่จริง ให้ลองทำจริง การฝึกทักษะทำงานค่าย จะช่วยหนุนเสริมให้พวกเขามองภาพรวมของการทำงานได้ดีขึ้น"


ขณะที่ นุ่น อัญชลี ไชยวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย บอกว่า ทักษะการทำงานกับชาวบ้าน หรือการสัมภาษณ์ ถือเป็น "แบบฝึกหัดจริง" ที่เพิ่ง ได้ทดลองเป็นครั้งแรก หลังจากเคยได้ยินจากคำบอกเล่าแค่ตอนเรียน และสิ่งที่ประทับใจ คือ การได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านถึงประเด็นสาธารณะที่อาจนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชน เห็นการเตรียมข้อมูลที่จะนำมาแบ่งปันกันของชาวบ้าน สะท้อนได้ว่าทุกคนสามารถเป็นพลเมืองที่จะตรวจสอบนโยบายของภาครัฐได้ เมื่อถึงคราวที่ชุมชนมีความเปลี่ยนแปลง


"งานค่ายอาสาช่วยฝึกทักษะการทำงานร่วมกับคนที่มี ความหลากหลาย อย่าลืมว่าการพัฒนาสังคมไม่ได้เกิดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต่างคนก็ทำหน้าที่พลเมืองที่ต่างกัน นักศึกษาสามารถช่วยในเรื่องข้อมูล หรือจัดเวทีให้ได้สื่อสารความจริงไปสู่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ส่วนคนที่จะตัดสินใจคือตัวชาวบ้านเอง"


ส่วน แชมป์ วิศวะ ชาตรีกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง บอกว่า การลงพื้นที่จริงจำเป็นต้องมีทักษะที่รอบด้าน เริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นฐานง่ายๆ อย่างการเล่นเกม เพื่อดึงสมาธิก่อนเข้าเนื้อหา การชักชวน ชาวบ้านให้ร่วมเสวนาในประเด็นที่เราต้องการ หรือบอกข้อมูลที่ชาวบ้านอาจไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อขยายสนามจากมหาวิทยาลัยมาสู่ชุมชน เราจำเป็นต้องมองให้รอบด้าน ต้องฝึกทักษะการเข้าหาชาวบ้าน รู้ถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซักซ้อมก่อนจะลงสนามจริง


"การทำค่ายคงไม่ใช่แค่การไปลงพื้นที่ทำอะไร สักอย่างหนึ่งแล้วจบ แต่ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะนำไปสู่อะไร"


ด้าน บอล ไชยวัฒน์ มะกรูดอินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่สนใจการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจในภาคเหนือ เปิดมุมมองว่า โลกปัจจุบันทำให้ทุกคนตื่นตัวและรับรู้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น "การพัฒนาเมือง"ต้องไม่ทำด้วยมุมมองของรัฐจากส่วนกลางอย่างเดียว แต่ต้องมีพื้นฐานมาจากการตัดสินใจของชุมชน คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์คนในท้องถิ่น


ดังนั้นความหมายหนึ่งของการทำค่าย จึงเป็นพื้นที่ร่วมกันระหว่างข้อมูลส่วนกลางกับคนในชุมชน คอยกระตุ้นให้ชาวบ้านและเยาวชนเองทำหน้าที่ "พลเมืองที่มีคุณค่าต่อส่วนรวม"


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code