ค่ายนักเล่าความสุข รุ่นที่ 3 ปั้น “นักสื่อสารสุขภาวะ” ลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    สสส. สานพลังภาคี จัดกิจกรรม “ความสุขต่างวัย” ค่ายนักเล่าความสุข รุ่นที่ 3 ปั้น “นักสื่อสารสุขภาวะ” ลดปัญหา Generation Gap ช่องว่างระหว่างวัย ในสังคมผู้สูงอายุ โชว์ 30 ผลงาน “แบ่งปันความสุข” สร้างแรงบันดาลใจ

                    เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ที่ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเรียนรู้ “วันแบ่งปันความสุข” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะ – ค่ายสารคดี ครั้งที่ 17 และค่ายนักเล่าความสุข ร่วมกับมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ นิตยสารสารคดี, ธนาคารจิตอาสา และแพลตฟอร์มความสุขประเทศไทย เพื่อเตรียมรับมือกับโลกที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่มีความแตกต่างระหว่างเจนเนอเรชัน สร้างสังคมสุขภาวะ

                    นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สสส.)  กล่าวว่า กิจกรรม “แบ่งปันความสุข” เปรียบเสมือนค่าย หรือแคมป์ของคนทุกวัย ที่เปิดพื้นที่ให้เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มาแลกเปลี่ยนมุมมองชีวิต สร้างความสุขร่วมกันผ่านการตั้งทีม หรือฉายเดี่ยว เป็น “นักสื่อสารสุขภาวะ” ผ่านการเล่าเรื่องความสุขของตัวเองและครอบครัวในมุมต่างๆ พร้อมรูปภาพ ในรูปแบบสารคดี ให้เกิดพลังบวก กำลังใจ หรือสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วได้ หัวใจสำคัญของกิจกรรม คือ การลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap หลังพบว่าไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีความแตกต่างในช่วงวัยมากขึ้น จนเกิดคำว่า “ต่างวัย ต่างความคิด” นำมาสู่ความไม่เข้าใจกันในหลายครอบครัว แม้กระทั่งในที่ทำงาน ทั้งนี้ สสส.เห็นว่าการสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี มีส่วนสำคัญต่อการลดความขัดแย้ง หรือช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ได้ จึงสานพลังกับภาคีเครือข่าย พัฒนาคนหลากหลายวัย ให้เป็นผู้ใช้และผู้สร้าง เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์งานรูปแบบสารคดีขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะขึ้นมา

                    “นิยามความสุขของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป และเปลี่ยนแปลงตามวัย หรือจังหวะชีวิตในเวลานั้น แต่การรับฟังด้วยความใส่ใจ อาจทำให้เราทุกคนเข้าใจกัน และสร้างสุขร่วมกัน จนทำให้เกิดระบบนิเวศสื่อที่ดีขึ้นได้ และแม้ว่าจะทุกข์หรือสุข สสส. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารสุขภาวะให้ทุกคนมีพลังบวก และพร้อมรับมือกับทุกสิ่งในชีวิต หวังว่า เรื่องเล่าความสุขของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ที่มีผู้สมัครถึง 132 ทีม จำนวนรวมทั้งสิ้น 264 คน และได้รับการคัดเลือกเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นนิทรรศการทั้งหมด 30 ทีม 30 ผลงาน จะสร้างแรงบันดาลใจ บ่มเพาะความเข้าใจในตนเองและผู้อื่นได้” นางญาณี กล่าว

                    นายสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี  กล่าวว่า ค่ายนักเล่าความสุข เป็นกิจกรรมที่เชื่อว่า ทุกคนมีเรื่องเล่า และทุกเรื่องราวสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจได้ ค่ายนักเล่าความสุขรุ่น 3 ในธีม “สุขต่างวัย” ครั้งนี้ นอกจากเปิดรับสมัครนักอยากเขียนแล้ว ยังมีข้อกำหนดว่า ผู้ร่วมทีมต้องมีอายุต่างกันอย่างน้อย 5 ปี มาทำกิจกรรม สร้างสรรค์เรื่องเล่าร่วมกันได้ โดยมีทีมงานนิตยสารสารคดีในฐานะที่เป็นผู้วางกระบวนการ สนับสนุนวิทยากรด้านการเขียน การถ่ายภาพ ทำให้เกิดการเรียนรู้ และทำงานระหว่างทาง ที่ผู้ร่วมทีม “ต่างวัย” จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงได้แลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกัน ท้ายที่สุดผลงานจากค่ายนักเล่าความสุข รุ่น 3 อาจจะส่งต่อแรงบันดาลใจสู่ผู้อ่านมากหรือน้อยนิดก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้เรียนรู้และค้นพบความสุขต่างวัย ต่างมุมมองจากเพื่อนร่วมทีม และอาจทำให้เข้าใจกัน และเกิดแรงบันดาลใจต่อกัน ในการพัฒนาตัวเองในงานต่อไปได้

                    “กิจกรรมครั้งนี้มีสุขสปีกเกอร์  เค-คณิน พรรคติวงษ์ ที่หลายคนรู้จักผ่านเพจ ‘แม่ เมนูนี้ทำไง’ กับการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกชาย ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวของเมนูอาหาร  พร้อมทั้งติดเครื่องมือ “ความสุข” กับ มะขวัญ-วิภาดา แหวนเพชร นักเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Low season สุขสันต์วันโสด และอาจารย์สอนวิชา “ทักษะแห่งความสุข”  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันค้นหานิยามความสุขของตนเอง พร้อมแนะนำเทคนิคการดูแล “ใจ” ของตัวเองในแต่ละวัน สามารถอ่านเรื่องเล่าหลากอารมณ์ จากค่ายนักเล่าความสุข รุ่น 3 “สุขต่างวัย” ได้ที่ www.sarakadee.com “ นายสุวัฒน์  กล่าว

                    นางสาวโสภาวรรณ วิทย์ดำรง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนักเล่าความสุข รุ่นที่ 3 ทีม So sEasy เจ้าของผลงานเรื่อง สุขปลายทางของชีวิต…มิได้มีเพียงความเศร้าโศก กล่าวว่า หลังจากเกษียณจากงานประจำเมื่อปี 2563 จึงเริ่มอยากพัฒนาทักษะการเขียน เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่วนตัวเป็นคนชอบเขียนสารคดี จึงสมัครเข้าค่าย “สุขต่างวัย” นักเล่าความสุข รุ่นที่ 3 รวมถึงมีประสบการณ์ตรงเรื่องช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว  จึงเห็นว่ามีประโยชน์กับตัวเอง โดยผลงานที่ส่งเข้าร่วม มีเพื่อนร่วมทีมอีกคนที่ร่วมกันทำ มีอายุห่างกันราว 10 ปี เป็นการเล่าเรื่องราวด้วยภาพและบทความของแม่ที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเกือบระยะสุดท้าย เริ่มเตรียมตัว เตรียมใจในการเดินทางไกล ด้วยการเริ่มต้นถักโครเชต์เพื่อเป็นของชำร่วยในงานศพและร่างพินัยกรรม ขณะที่ลูกก็หาสมุดเบาใจมาให้แม่เขียน ว่าอยากทำอะไร หรือถ้าป่วยหนักไม่รู้สึกตัว แม่จะรักษาที่โรงพยาบาลหรือขอกลับมาอยู่บ้านเพื่ออยู่แบบประคับประคองกับคนในครอบครัว

                    “ความสุขอยู่กับปัจจุบันดีที่สุด การสร้างสุขด้วยสติ สุขจากข้างใน ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก เป็นเรื่องที่ดีในการดำเนินชีวิต การเข้าค่ายครั้งนี้ตอบโจทย์ชีวิตวัยเกษียณมาก เพราะทำให้รู้ว่าช่วงเวลาชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ถูกหล่อหลอมมากันคนละแบบ สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพียงรับฟังซึ่งกันและกัน” นางสาวโสภาวรรณ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code