ค่ายชีวิตเรียนรู้สมุนไพร

บ้านมอทะ ในตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่นักศึกษาจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี สังกัดวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร สถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิตร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา เข้าไปจัดโครงการค่ายอาสาพัฒนาพื้นที่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการใช้สมุนไพร เพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาจากชาวบ้าน และร่วมพัฒนาชุมชน

ค่ายชีวิตเรียนรู้สมุนไพร

พื้นที่บ้านมอทะส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำ มีน้ำตามลำห้วยไหลตลอดปี ที่พักอาศัยเป็นบ้านยกสูงด้วยไม้ขนาดใหญ่ มีใต้ถุนด้านล่าง และมีครัวแยกออกมาด้านข้างติดกับตัวบ้าน บางครอบครัวมีไว้เลี้ยงสัตว์ บ้านเกือบทุกหลังเกือบทุกอย่างทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ไม้ไผ่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกผัก ผลไม้ไว้ค้าขายและเก็บไว้บริโภคเอง อาหารประจำท้องถิ่นคือ ผักและน้ำพริก ส่วนน้อยที่เป็นเนื้อสัตว์ ส่วนการเดินทางเข้าออกหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงจะเป็นการเดินเท้าและรถจักรยานยนต์เป็นส่วนมาก

ค่ายชีวิตเรียนรู้สมุนไพรน.ส.ณิชนันท์ ปุ่มเพชร หรือน้องอุ๋ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร เล่าให้ฟังว่า มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มูลนิธิโกมลคีมทอง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนให้เราลงสำรวจและทำโครงการ เพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ในพื้นที่บ้านมอทะ ได้พูดคุยกับผู้นำที่ชาวบ้านให้ความนับถือ คือ ลุงพินิจ เป็นชาวกะเหรี่ยงปกากะญอ พบปัญหาว่า ชาวบ้านมอทะมีปัญหาด้านสุขภาพ และโรคที่พบบ่อย คือ ไข้มาลาเรีย ไข้หวัด เจ็บคอ ท้องร่วง เป็นต้น ทางหมู่บ้านได้นำความรู้ด้านภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรมาดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย มีหมอยาพื้นบ้านประจำหมู่บ้านและเป็นสมาชิกเครือข่ายหมอยาพื้นบ้านในตำบลด้วย

“เราได้พูดคุยถึงการทำกิจกรรมในบ้านมอทะ ผู้นำชุมชนให้ความร่วมมือและยินดีที่นักศึกษาจะมาทำกิจกรรม ซึ่งทางหมู่บ้านมอทะต้องการให้ช่วยในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่การปลูกพืชผักสวนครัว การทำแปลงผักสำหรับไว้กินเอง รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ในการดูแลรักษาโรค โดยเฉพาะเรื่องการนวดไทยและการใช้สมุนไพร และอยากให้นักศึกษาเรียนรู้วิธีการนำอุปกรณ์จากธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ เช่น การสานตะกร้า การทำภาชนะใส่อาหารด้วยไม้ไผ่ เป็นต้น”

ค่ายชีวิตเรียนรู้สมุนไพรขณะที่ น.ส.จิราภรณ์ โยวทิตย์ นักการแพทย์แผนไทย ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการนี้ กล่าวว่า เป้าหมายที่ต้องการในการออกค่ายครั้งนี้ คือ ให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักการเป็นผู้ให้ ผู้นำ ผู้ตาม เกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ สร้างกิจกรรมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนกับนักศึกษาด้านการดูแลรักษาสุขภาพและวิถีชีวิตชาวบ้าน เช่น กิจกรรมนวดตนเอง ได้แก่ การทำท่าบริหารร่างกายฤๅษีดัดตน การประดิษฐ์อุปกรณ์ เช่น กะลามะพร้าวสำหรับบริหารฝ่าเท้า ไม้นวดตนเองลดอาการปวด การทำยาสมุนไพร การเดินป่าศึกษาสมุนไพร จึงเห็นว่าบ้านมอทะ เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ในการออกค่ายครั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักการเป็นผู้ให้ ผู้นำ ผู้ตาม ความรักความสามัคคีในหมู่คณะ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วย ระหว่างการแพทย์แผนไทยและการรักษาของหมอพื้นบ้านเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตและการดูแลสุขภาพแบบธรรมชาติ

“สิ่งที่เราอยากให้นักศึกษาได้เรียนรู้ คือ ภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับด้านสมุนไพรจากปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อจะได้รู้ว่าชาวบ้านเขามีวิธีการใช้สมุนไพรในการดำรงชีพอย่างไร ที่สำคัญนักศึกษาจะได้เรียนรู้การทำคลอดแบบชาวบ้าน โดยไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย”

ปัจจุบันคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนกลับมาเห็นความสำคัญของสมุนไพรไทยกันมากขึ้น เพราะมีผลข้างเคียงต่อการรักษาน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน ที่สำคัญเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่มีการสั่งสมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่าต่อการเรียนรู้และรักษาสืบทอดไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code