ค็อกเทล…ยาลดอ้วนอันตราย..ถึง ‘ตาย’

 /data/content/19543/cms/efhklsuv2458.jpg         ตัวยาหลากหลายชนิดที่มีการจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการสอบสวนเพิ่มเติมขยายผล หลังจากที่ได้รับแจ้งจากหน่วยควบคุมกำกับด้านยา (Health Sciences Authority, HSA) ประเทศสิงคโปร์ กรณีศุลกากรประเทศสิงคโปร์ตรวจพบผู้โดยสารหญิงนำยาเม็ดไม่ระบุชื่อ จำนวนหลายชนิด สั่งจ่ายโดยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่เมื่อนำไปตรวจวิเคราะห์แล้ว พบว่าเป็น ยาชุดลดน้ำหนักสูตรค็อกเทล

          ชื่อตัวยาหลากหลายชนิดที่มีการจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการสอบสวนเพิ่มเติมขยายผล หลังจากที่ได้รับแจ้งจากหน่วยควบคุมกำกับด้านยา (Health Sciences Authority, HSA) ประเทศสิงคโปร์ กรณีศุลกากรประเทศสิงคโปร์ตรวจพบผู้โดยสารหญิงนำยาเม็ดไม่ระบุชื่อ จำนวนหลายชนิด สั่งจ่ายโดยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่เมื่อนำไปตรวจวิเคราะห์แล้ว พบว่าเป็น ยาชุดลดน้ำหนักสูตรค็อกเทล ที่ประกอบด้วยตัวยาแผนปัจจุบันหลายชนิด เช่น bisacodyl, chlorpheniramine, fluoxetine, thyroxine, frusemide, sibutramine และ hydrochlorothiazide เป็นต้น

          ซึ่งคุณสมบัติโดยตรงของยาเหล่านี้ไม่ใช่ยาที่มีข้อบ่งชี้ในการลดน้ำหนัก แต่เป็นยาสำหรับรักษาอาการชนิดอื่นๆ เช่น เป็นยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือแม้แต่ยาที่ช่วยให้นอนหลับ ที่หากใช้โดยไม่อยู่ในความดูแลของแพทย์ อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงได้ เช่น การใช้ยา bisacodyl ซึ่งเป็นยาระบายร่วมกับ frusemide ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะ ร่วมกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลียและขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย/data/content/19543/cms/abefipuvx135.jpg

          นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บอกว่า หลังจากได้รับเรื่องดังกล่าวจากทางสิงคโปร์ อย.ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และพบว่ายาชุดลดน้ำหนักสูตรค็อกเทลดังกล่าวมีการสั่งจ่ายโดยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีการจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายทางอินเตอร์เน็ต ทั้งในชื่อ สลิมมิ่ง พิลส์ และชื่อตามชื่อของโรงพยาบาลที่สั่งจ่าย ซึ่งทางอย.ได้มีการประสาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบแล้ว

          “ที่น่าเป็นห่วงคือ ยาไซบูทรามีน (sibutramine) ซึ่งพบว่าขนาดของยาที่สั่งจ่ายนั้น เป็นขนาดที่ใกล้หรือมากกว่าขนาดยาที่ใช้ในการรักษาสูงสุดต่อวัน คือประมาณ 15 มิลลิกรัม ที่สำคัญคือ อย.ได้ยกเลิกทะเบียนตำรับยาทุกตำรับที่มีส่วนประกอบของยาตัวนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 หลังมีข้อมูลการทดลองทางคลินิก ยืนยันว่ายาดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองถึง 16% นอกจากนี้ยังมีอาการที่พบบ่อยจากการบริโภคยานี้ คือทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ที่ล้วนเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทั้งสิ้น”  คุณหมอบุญชัยบอกพร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยาตัวนี้ มีบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย หลังมีข้อมูลว่าการกินยาตัวนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์ บริษัทได้เรียกคืนยาที่มีส่วนประกอบของไซบูทรามีนออกจากท้องตลาดทั้งหมด พร้อมทั้งแจ้งขอยกเลิกทะเบียนตำรับยาทุกตำรับที่มีส่วนประกอบยาไซบูทรามีนโดยสมัครใจ

          เลขาธิการ อย. บอกว่า จากการติดตามและเฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้ยาของประชาชน พบว่ายังมีผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการกินยาลดความอ้วนอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่ อย. มีความห่วงใยเป็นอย่างมาก โดยพบว่ายาลดความอ้วนที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 กลุ่ม คือ ยาที่ออก ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง จะออกฤทธิ์ช่วยลดความอยากอาหาร และยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมของไขมันจากอาหาร“ยาชุดลดน้ำหนักสูตรค็อกเทลที่ตรวจพบ ส่วนใหญ่เป็นการนำยาแผนปัจจุบันมาจัดเป็นชุด ประกอบด้วยยาประมาณ 1-5 รายการ เช่น ยาลดความอยากอาหาร ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ยาไทรอยด์ฮอร์โมน ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งยาแต่ละตัวล้วนมีผลทั้งการรักษาและผลข้างเคียงที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยาบางชนิด หากกินไม่ถูกวิธี อาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้”  นพ.บุญชัยบอกพร้อมทั้งอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมให้ฟังว่า ยาทุกชนิดล้วนแล้วแต่มีผลข้างเคียงในการใช้ เช่น ยาลดความอยากอาหาร มีผลข้างเคียง คือ ทำให้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปากแห้ง ใจสั่น คลื่นไส้ ยาระบาย จะกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวทำให้ถ่ายมากหรือบ่อยขึ้น ยาขับปัสสาวะ เพื่อขับน้ำออกจาก ร่างกาย มีผลทำให้น้ำหนักลดลงเร็วหลังใช้ยา แต่ร่างกายก็จะเสียน้ำมากเช่นเดียวกัน

      /data/content/19543/cms/abdnosux3468.jpg    “ที่อันตรายมากๆตัวหนึ่ง คือ ยาไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นยาที่เพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย แต่ส่งผลข้างเคียงสูงมากต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด อาจทำให้อุจจาระบ่อย ใจสั่น เหนื่อยง่าย กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง ซึ่งเป็นอันตรายมาก รวมถึงยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ ที่นำ มาจัดเป็นชุดไว้ เพื่อลดอาการใจสั่นที่เกิดจากยาลดความอยากอาหาร แต่ยานี้มีผลข้างเคียง คือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นช้า วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายทั้งสิ้น” เลขาธิการ อย.แสดงความห่วงใย

          นพ.บุญชัย ยังบอกอีกว่า สิ่งที่ อย.อยากให้ผู้บริโภคตระหนักก็คือ แม้จะได้รับยาตามแพทย์สั่ง แต่ผู้ใช้ก็ควรศึกษาว่ายาที่ได้รับมานั้นเป็นยาอะไร มีผลเสียต่อร่างกายอย่างไร หากใช้ไม่ถูกต้องก็อาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ซึ่งจริงๆแล้ว การลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนสามารถทำได้โดยไม่ต้องกินยาหรือเสียค่าใช้จ่าย เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่กินจุบกินจิบ หมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสมต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส นอกจากจะทำให้มีสุขภาพดีแล้ว ยังทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 

Shares:
QR Code :
QR Code