คู่มือเด็กปลอดภัยจากสารหนู
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
แฟ้มภาพ
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำ "คู่มือพร้อมสื่อ" การจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสิ่งแวดล้อมแก่เด็ก เพื่อให้ครูนำไปส่งเสริมให้ความรู้แก่เด็กในการป้องกันตนเองจากสารพิษ การลดความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัสสารพิษ จากการปนเปื้อนทั้งทางน้ำและทางอากาศ ในพื้นที่เสี่ยงผลกระทบจากโลหะหนักที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาระยะยาวต่อสุขภาพ และการเรียนรู้ของเด็ก
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ได้ริเริ่ม "โครงการวิจัยเพื่อติดตามผลกระทบจากสารโลหะหนักในเขตอุตสาหกรรม และฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กระบวนการรู้คิด และการเรียนรู้ในเด็กประถมศึกษาปีที่ 4-6" โดยร่วมกับคณะครู 6 โรงเรียนในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อติดตามสถานการณ์ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กระบวนการรู้คิด และการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งศึกษาปัจจัยทางด้านครอบครัว และสังคมที่มีความสัมพันธ์กับภาวะบกพร่องดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางสติปัญญา การเรียนรู้ของเด็ก และการป้องกัน
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศยุติกิจการเหมืองทองในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสารโลหะหนักในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ สารโลหะหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สารหนู" ซึ่งจัดว่าเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ต่อความผิดปกติทางปัญญา (cognitive dysfunction) ที่อาจปนเปื้อนไปกับอาหาร และน้ำดื่มจากห่วงโซ่อาหารในสิ่งแวดล้อม ทั้งทางดิน น้ำ และอากาศ ส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ หรือภาวะการเจ็บป่วยหรือโรคเรื้อรัง และทักษะด้านสติปัญญาการเรียนรู้
จากการศึกษาติดตามผลกระทบ ในเด็กวัยเรียนอายุ 8-13 ปี จำนวน 199 คน ในปี 2562 พบว่ามีอุบัติการณ์การรับสัมผัสสารหนู อนินทรีย์ในปัสสาวะมากกว่าเกณฑ์ปกติในเด็ก ร้อยละ 4.5 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในปี พ.ศ. 2559 โดยลดลงถึง 12 เท่าตัวภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในปี 2559 พบสารหนูในปัสสาวะเด็กถึงร้อยละ 35.6 และจากการประเมินความบกพร่องทางการเรียน (Learning Disabilities: LD) ในเด็ก พบความบกพร่องทางการเรียนรู้ ร้อยละ 22.22 ส่วนการสำรวจในปี พ.ศ. 2559 พบภาวะบกพร่องทางการเรียนอยู่ที่ ร้อยละ 23.5 นอกจากนั้นจากการประเมินระดับสติปัญญา (Intelligence Quotient: IQ) พบว่าเด็กมีระดับสติปัญญา IQ ปกติ (เกณฑ์เฉลี่ย) ร้อยละ 59.4 และพบว่าเด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ถึงร้อยละ 40.6
สำหรับคู่มือที่ให้ความรู้แก่เด็กในการป้องกันตนเองจากสารพิษ เช่น 1. ล้างผักผลไม้ก่อนรับประทานทุกครั้ง 2. สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีฝุ่นควันสารพิษ 3. อาบน้ำชำระล้างร่างกายทุกครั้ง หลังกลับจากทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้าน 4. ล้างมือทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก 5. ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด 6. ดื่มน้ำที่มาจากขวดปิดสนิท หรือน้ำกรอง และ 7. สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้เด็กป้องกันตนเองในเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยหล่อหลอมจนเป็นลักษณะนิสัย และเกิดเป็นพฤติกรรมในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเอง