คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ เพื่อนร่วมทางครอบครัวสายรุ้ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศ ต้องเผชิญปัญหาการไม่ยอมรับ ถูกรังแกหรือล้อเลียนเสมอ อย่างไรก็ตามคนในครอบครัวจะต้องไม่ซ้ำเติม แต่ต้องคอยให้กำลังใจและทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นแนวการเรียนรู้และแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม จึงได้มีการจัดทำเป็นคู่มือดูแลเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ
วันที่ลูก "Come Out" "ตอน ม. 2 เราบอกกับแม่ว่า เราอาจชอบผู้หญิง" ศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนหญิงแห่งเอเชีย ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กำลังถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งหลังจากที่ได้บอกแม่ในวันนั้นแล้ว ท่าทีจากครอบครัว ทำให้ศิริวรรณเกิด ความมั่นใจในตัวตน และกล้าที่จะเปิดตัวตน สู่สังคมมากขึ้น
"พอบอกแม่แล้วแม่ดีใจกับเรา เราเลยอยากบอกเพื่อนสนิท ซึ่งเพื่อนสนิทในกลุ่มเข้าใจเรา เพราะส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์หลากหลายทางเพศอยู่แล้ว"
แต่หลังจากการ Come Out ของตนเอง ศิริวรรณยังได้เรียนรู้ว่าในโลกชีวิตจริง ใช่ว่าทุกคนในสังคมจะเปิดใจกว้างเหมือนแม่ และคนรอบตัวของเธอ
เด็กสาวย้อนถึงเหตุการณ์วันหนึ่งที่ เธอต้องถูกสังคมตัดสินในทางที่เธอเลือก จนทำให้ตนเองกับเพื่อนรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน
"เราตั้งคำถามในใจนะว่าการที่เราเป็นเพศทางเลือกมันเป็นปัญหาตรงไหน หรือเราทำผิดอะไร" ศิริวรรณ เผยความรู้สึกด้วยเสียงสั่นเครือ
ปัจจุบันเด็กและเยาวชนหลากหลาย ทางเพศต้องเผชิญปัญหาการถูกรังแกหรือ ล้อเลียนเสมอ พฤติกรรมที่เรียกว่า "บุลลี่" ไม่ได้เกิดเฉพาะที่เห็นในโลกออนไลน์ แต่ในชีวิตออฟไลน์ การไม่ยอมรับ ในเรื่องเพศทางเลือกยังคงแฝงอยู่ทุกที่ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ชุมชน หรือแม้แต่ในโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่
สร้างเสริมปัญญาความรู้ให้แก่อนาคตของชาติ
ศิริวรรณเล่าว่า ไม่เฉพาะเพื่อนแต่ครูบางคนก็เป็นคนบุลลี่เด็กเองด้วยซ้ำ แม้จะยังมีครูหลายคนที่เข้าใจและปฏิบัติกับเด็กทุกคนเท่าเทียมกัน โดยไม่สนใจว่ามีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร
"หนูอยากให้ครูเข้าใจเราและเป็นแบบนี้ทุกคน" ศิริวรรณตัดพ้อ
เรื่องเล่าจากครอบครัวสายรุ้ง
"วันที่เขาบอกเรา เราอยากให้เขาสบายใจที่จะเปิดเผยกับเรา เราก็ขอบคุณเขาที่ให้โอกาสเราได้รับรู้เรื่องนี้ด้วย"
มัจฉา พรอินทร์ เครือข่ายครอบครัวที่มีลูกหลานหลากหลายเพศ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านมุมมองของผู้เป็นแม่ เธอเผยความรู้สึกตนเองในตอนนั้นว่า
"ลูกมาบอกเราว่า แม่หนูคิดว่าหนูชอบ ผู้หญิงได้ด้วย ถ้าเป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่ได้ฟังแล้วอาจตกใจ แต่เรารู้สึกดีใจกับลูก ที่เขา อายุเท่านี้ แต่สามารถรู้ว่าตัวเองคือใครและชอบใครได้" มัจฉาเล่า
ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวของมัจฉาจะมองเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกคนสามารถคุยกันได้เป็นปกติ
"เราเป็นครอบครัวที่มีความทับซ้อนอีกระดับ คือเราเป็นครอบครัวหลากหลาย ทางเพศ เรามีความสัมพันธ์และคู่สมรสแบบหญิงรักหญิง เรามีลูกสาวที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งปัจจุบันเราพบว่า ครอบครัว ที่ไม่มีการสมรสแบบเท่าเทียม หรือครอบครัวที่ก่อตั้งด้วยเพศเดียวกัน ต้องเผชิญกับปัญหาการไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย เราจึงพยายามผลักดันเรื่องนี้"
ในระดับครอบครัว มัจฉาเป็นอีกหนึ่งตัวแทนที่ต่อสู้ เพื่อให้ได้ครอบครัวได้รับการยอมรับ และการคุ้มครองจากกฎหมาย ส่วนในระดับสังคม มัจฉายังเดินหน้ากับบทบาทของการเอ็นจีโอทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดสมรส เท่าเทียมกัน รวมถึงเธอยังพยายามขับเคลื่อนให้สังคมเห็นความสำคัญ ของการพัฒนาสิทธิให้กับครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับครอบครัวแบบอื่นๆ ในสังคม
ด้านศิริวรรณ ผลจากการที่ได้เติบโตมาในครอบครัว ที่แม่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน จึงได้มีโอกาสซึมซับเรื่องราวจากเพื่อนๆ เยาวชนเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งยังกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเพื่อนๆ ที่เผชิญปัญหาเดียวกัน
"ยังมีเด็กในชุมชนเดียวกับเราที่เจอปัญหานี้ เขาหาเพื่อนไม่เจอ หนูอยากช่วยตรงนั้นว่า เขาควรมีกลไกอะไรไปช่วยปกป้องเขาได้" ศิริวรรรณเอ่ย
แต่นอกจากต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับแล้ว เด็กๆ เหล่านี้ยังต้องปัญหาที่ทับซ้อนบนความหลากหลาย นั่นคือค่านิยมของสังคมไทยและพ่อแม่ที่แฝงอยู่ในรูปแบบ"ความคาดหวัง"
"บางคนบอกว่ามีความหลากหลายทางเพศ ต้องเก่งแบบฟ้าประทานกว่าคนอื่น แต่หนูนี่ไม่ได้เป็นเด็กเรียนเก่งหรือเพื่อน บางคน พ่อแม่พยายามให้เรียนหนักมากเพื่อให้เป็นคนเก่ง อยากให้พ่อแม่ยอมรับเราโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ยอมรับว่าเราเป็นคนดี คนเก่ง หรือว่าเรามีความหลากหลายทางเพศ" ศิริวรรณระบายความรู้สึก
ครอบครัวคือ Safe Zone
ในฐานะคนทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ มัจฉาให้ข้อมูลว่าเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศ มักมีความซับซ้อนของปัญหาและเผชิญความรุนแรงแตกต่างกันไป
"จากประสบการณ์จากเยาวชนที่ทำงานด้วย ส่วนใหญ่คือครอบครัวพอรู้เรื่องมักตกใจ เพราะไม่รู้จะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร อีกประเภทคือพ่อแม่จะตอกย้ำกับลูกว่า มันไม่จริงหรอก ลูกยังเด็กไม่เข้าใจเรื่องนี้ดี หรือห้ามปรามไม่ให้เขาไปบอกกับใคร บางรายก็ใช้ความรุนแรง บังคับหรือกดดันลูก"
เธอเอ่ยว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากพื้นฐานพ่อแม่ส่วนใหญ่ มักเป็นห่วงว่าลูกต้องออกไปเผชิญโลกภายนอกและถูกสังคมไม่ยอมรับ
"บางคนก็กังวลว่าจะถูกสังคมตัดสินว่าเราเลี้ยงลูกไม่ได้ดี นี่เป็นเพราะสังคมคาดหวังและบอกว่าเราต้องเลี้ยงลูกให้อยู่ในกรอบที่สังคมมอบให้ พ่อแม่จึงอ้างความปรารถนาดี
ความจริงเรื่องเพศเราพูดคุยกันได้ตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเด็กไม่มีข้อมูล พ่อแม่ก็ต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูก"มัจฉาให้ข้อคิด
เช่นเดียวกับ นพ.เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic ) โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมเสริมในมุมมองวิชาการว่า
"จริงๆ อันดับแรกสังคมไทยต้องเข้าใจก่อนว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นมิติหนึ่งของมนุษย์ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่โรค ไม่ได้เป็นปัญหา ไม่จำเป็นต้องหาสาเหตุว่า เกิดจากอะไร และไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปเปลี่ยน"
คุณหมอเบญทวิชเอ่ยต่อว่า หากครอบครัวให้การยอมรับความหลากหลายเรื่องเพศ เด็ก ๆ จะรู้สึกปลอดภัย แต่ถ้า ที่บ้านไม่ยอมรับ อาจมีผลให้เขาใช้ชีวิตค่อนข้างลำบาก และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือปัญหาต่าง ๆ ตามมา
"การยอมรับมันจะทำให้เขาโตขึ้น และพร้อมที่จะใช้ชีวิตรับมือในเรื่องอื่นๆ ได้ เพราะอย่าลืมว่าชีวิตไม่ได้มีโจทย์แค่การ ก้าวข้ามเรื่องเพศเท่านั้น"
แต่ปัญหาคือสังคมไทยวัฒนธรรม การคุยเรื่องเพศไม่เคยมีบนโต๊ะอาหาร ดังนั้นการพยายามบอกให้สังคมผ่านสื่อ หรือ "คู่มือ" น่าจะช่วยเป็นกระบอกเสียง ช่วยสื่อสารกับสังคมได้เข้าใจถึง LGBT ได้
ปลดล็อกพ่อแม่ด้วยคู่มือสายรุ้ง
"คู่มือนี้เกิดจากความเชื่อว่าพ่อแม่ มีความรักลูกในแบบตัวเอง บางครั้งพ่อแม่ ไม่ได้เกลียดอะไรนะ เพียงแต่เขาไม่รู้ เขามีความกังวลว่าลูกจะมีอนาคตไหม แก่ตัวไปใครจะเลี้ยง เราจึงต้องเข้าใจสิ่งที่ พ่อแม่กังวลก่อน แล้วค่อยๆ คลายทีละประเด็น เช่น การแต่งงานไม่ได้ ไม่ใช่เป็นปัญหาที่ตัวคน แต่เป็นเพราะกฎหมาย เป็นปัญหาโครงสร้างสังคม เราต้องแก้ที่โครงสร้าง เราจึงหวังว่าคู่มือจะเป็นด่านแรกที่เข้าถึงได้และเข้าใจง่ายขึ้นกับผู้ปกครองและพ่อแม่" นพ.เบญทวิชกล่าว
สำหรับ"คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ" เล่มนี้อาจเป็นคู่มือเล่มแรกในประเทศไทย ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดทำขึ้น เนื่องจากเห็นว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยเองก็ยังไม่มีข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจพบพ่อแม่ ส่วนใหญ่ที่มีลูกมีความหลากหลายทางเพศ มีความกังวลใจ ทุกข์ต่อการเปิดเผยตัวตน ของลูกต่อสาธารณะ ซึ่งเกิดจากด้วยพื้นฐาน
ความรักความห่วงใยที่กังวลว่าลูกหลานตน จะได้รับการยอมรับจากสังคมหรือไม่ ลูกจะถูกรังแก หรือแม้แต่เพิ่มฮอร์โมนแล้วร่างกายจะสุขภาพปกติหรือเปล่า เป็นต้น
"เรามองเรื่องนี้เป็นเรื่องสุขภาวะโดยตรง เพราะเขาไม่สามารถมีความสุข หรือมีชีวิตเช่นเดียวกับคนทั่วไปได้
การลดความเหลื่อมล้ำสุขภาพเป็นหน้าที่ สสส. จึงมองว่าเราน่าจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่คลายความกังวลและอยากมีส่วนร่วม ทลายกำแพงนี้ จึงร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยฯ ในการปลดล็อก สำหรับคู่มือเล่มนี้เราขอใช้คำว่าเป็นเพื่อนร่วมทางกับพ่อแม่ คือไม่ใช่ว่าการมีคู่มืออย่างเดียวแล้วจะเป็นทุกคำตอบสำหรับพ่อแม่ เพียงแต่จะทำให้พ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งเรานำข้อมูลมาจากพ่อแม่ที่มีประสบการณ์ ภายใต้การสังเคราะห์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ด้านความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแม้จะใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน แต่ก็เป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันได้" ภรณีกล่าว
ไม่ใช่แต่พ่อแม่ที่ควรอ่าน ทุกคนก็สามารถอ่านได้ หากเพียงอยากทำความเข้าใจ ถึงความหลากหลายทางเพศบนโลกนี้ ทั้งนี้ ดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ http://online.anyflip.com/slmrr/cjaj/mobile/index.html