คุยกับลูกเรื่องเพศคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกตัดสินใจไม่พลาด
ในวัฒนธรรมไทยการพูดคุย หรือแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างเปิดเผยอาจยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ยิ่งไม่ต้องถึงการพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัว ยิ่งเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนใจ ทั้งที่ในความเป็นจริงเรื่องเพศนั้นเป็นปัญหาหนักใจของเด็ก ๆ เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น หากพวกเขาไม่ได้รับคำปรึกษาที่ดีอาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดที่นำมาซึ่งปัญหาที่ยากเกินแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น การตั้งครรภ์เมื่อยังไม่พร้อม การติดโรคทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
ดังนั้นการคุยเรื่องเพศกับลูกถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ที่จะช่วยให้ลูกเลือกตัดสินใจถูกทาง เมื่อเวลาสำคัญมาถึง
เมื่อถึงเวลาสำคัญอยากให้ใครเป็นคนตอบคำถามเหล่านี้ของลูก
“หลั่งนอกจะท้องไหม”
“คือ…ไม่รู้วิธีใส่ถุงยางครับ”
“กำลังท้องกับเด็กอายุ 15 ขณะที่เราก็ยังเรียนมหาลัยไม่จบ ทำอย่างไรดี”
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของคำถามที่วัยรุ่นมักไปถามบนโลกออนไลน์ ซึ่งไม่มีใครการันตีได้ว่า คำตอบที่พวกเขาได้รับ จะเป็นคำตอบจากใคร และมีความถูกต้องหรือไม่
ทำไมถึงไม่คุยเอง ถ้าลูกเองก็อยากคุยกับพ่อแม่
จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น (แม่วัยรุ่น)” โดย ศ.ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2554 พบว่า วัยรุ่นทั้งหญิงและชายต่างคาดหวังให้พ่อแม่เป็นที่พึ่งเรื่องเพศสำหรับพวกเขา แต่ด้วยช่องว่างของความไม่เข้าใจกัน และการรับรู้เรื่องเพศที่ต่างกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ทำให้วัยรุ่นทั้งหญิงและชายเลือกที่จะคุยกับเพื่อนเรื่องเพศมากกว่า แต่เมื่อถึงที่สุดหากวัยรุ่นเกิดตั้งครรภ์ พวกเขาจะต้องกลับมาหาที่ปรึกษาซึ่งก็คือ พ่อ-แม่ อยู่ดี
ถึงเวลาวัดระดับความพร้อมก่อนจับเข่าคุยกับลูก
คุณสามารถวัดความพร้อมการคุยเรื่องเพศกับลูกด้วยแบบวัดระดับต่อไปนี้ http://www.คุยเรื่องเพศ.com/ เพื่อจะได้รู้ว่า ตัวเองยังขาดข้อมูล หรือความรู้อะไรหรือไม่ก่อนไปคุยกับลูก
มาคุยเรื่องเพศกับลูกกัน
เรื่องเพศเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย เด็กๆ จึงควรมีความรู้เรื่องเพศวิถีรอบด้าน เพื่อการมีสุขภาวะทางเพศที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
อุปสรรคสำคัญ ของการคุยเรื่องเพศกับลูก คือการที่ผู้ใหญ่บางคนมองเรื่องเพศเป็นเรื่องต่ำ หยาบ สกปรก เป็นเรื่องที่ควรปกปิด และการพูดถึงแปลว่าเป็นการกระตุ้นให้ลูกสนใจ (ชี้โพรงให้กระรอก)
อุปสรรคต่อมาคือการที่พ่อแม่ไม่มีทักษะที่จะพูดคุยเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนนี้กับลูก การพูดคุยจึงเป็นไปเพื่อสั่งสอน ไม่ใช่การรับฟังและฝึกวิธีคิด
6 เทคนิคในการพูดคุยเรื่องเพศกับลูก
1. รับฟัง ไม่ตัดสิน
หลายครั้งการฟังของพ่อแม่ มักเกิดขึ้นพร้อมความคิดในใจ ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวัง กังวล กลัว ทำให้การฟังลูก ไม่ได้ทำให้ลูกรู้สึกว่ามีคนฟังเพื่อเข้าใจมันจริงๆ พ่อแม่ควร “ฟัง” เพื่อรับรู้ความรู้สึก และความต้องการที่ลูกมี ซึ่งการฟังอย่างไม่ตัดสินผิดถูก จะเป็นประตูสู่การคุยเรื่องเพศในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างรอบด้านมากขึ้น
2. ตั้งคำถาม
เด็กที่พ่อแม่ตั้งคำถาม จะเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าที่พ่อแม่สอน เพราะการตั้งคำถาม ทำให้เด็กได้ทบทวนวิธีคิด มุมมองของตัวเองต่อปัญหานั้น ๆ “ลูกคิดว่ายังไง ที่เดี๋ยวนี้วัยรุ่นเค้าก็มีแฟนกัน” “ลูกคิดว่ามีข้อดี ข้อเสีย อย่างไรบ้าง”
3. ชื่นชมในสิ่งที่ดี
เมื่อลูกมีความคิด หรือการตัดสินใจที่ดี เราควรชมเชยลูกให้ลูกรู้ว่าคุณสมบัติใด เป็นคุณสมบัติที่ดี เช่น “แม่ภูมิใจมากเลย ลูกเป็นเด็กที่ตัดสินใจเรื่องการไปต่างจังหวัดกับแฟนด้วยตัวเอง”
4. ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
ไม่ต้องกังวลถ้าจะไม่รู้ข้อมูลบางอย่าง เราอาจจะตอบลูกตรงไปตรงมา อะไรที่ไม่รู้ ชวนลูกไปค้นหาข้อมูลด้วยกัน
5. แสดงความเชื่อมั่นในตัวลูก
การที่พ่อแม่แสดงความเชื่อใจลูก จะทำให้ลูกเชื่อมั่นและเชื่อใจตนเอง
6. เป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา
เราทุกคนต้องการคนที่พึ่งพาได้ในวันที่เกิดปัญหา การที่พ่อแม่เป็นที่พึ่งของลูก จะทำให้ลูกสามารถแก้ไขปัญหา หรือฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตไปได้
การคุยเรื่องเพศกับลูกไม่ใช่เรื่องยาก ฝึกบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ เรื่องเพศก็จะกลายเป็นเรื่องสุขภาพที่คุยกันได้ปกติในครอบครัว
ถ้าอยากรู้วิธีคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างถูกวิธี หาข้อมูลได้ที่นี่
www.คุยเรื่องเพศ.com
1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม