คุม ‘ปัจจัยเสี่ยง’ แก้ไขเด็กไทย ‘อ้วนอมโรค’

เรื่องของ "เด็ก" กับวิกฤติด้าน"โภชนาการ" ยังคงเป็นปัญหาสำคัญไม่ว่าประเทศใดๆ เพราะขณะที่ มุมหนึ่งของโลกยังมีเด็กอีกมากมาย "อดอยาก" ขาดแคลนอาหารการกิน ท้องไม่เคยอิ่มจน "ผอมเหลือแต่กระดูก" อีกด้านหนึ่ง เด็กอีกไม่น้อยก็เข้าข่าย "กินเกิน" บริโภคมากไปในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แถมยังไม่นิยมออกกำลังกายเพราะชีวิตติดอยู่กับโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์


คุม 'ปัจจัยเสี่ยง' แก้ไขเด็กไทย 'อ้วนอมโรค' thaihealth


แฟ้มภาพ


สำหรับประเทศไทย สถานการณ์โรคอ้วนในเด็กต้องบอกว่า "น่าเป็นห่วง" ดังการเปิดเผยของ นายสง่า ดามาพงษ์ อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย เมื่อต้นปี 2558 อ้างถึงข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2558 เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทยจะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยเทียบ ระหว่างเด็กอ้วนกับเด็กธรรมดาคิดเป็น 1 ใน 5 ส่วนเด็กในวัยเรียน จะมีสัดส่วนระหว่างเด็กอ้วนกับเด็กธรรมดาอยู่ที่ 2 ใน 10


โดยเฉพาะ "เด็กในเมือง" จะอ้วนมากถึงร้อยละ 20-25 จากสถิติดังกล่าวสรุปได้ว่าประเทศไทยมีอัตรา โรคอ้วนในเด็กเร็วที่สุดในโลก เฉพาะระยะ 5 ปีที่ผ่านมา เด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มถึงร้อยละ 36 และเด็กวัยเรียน 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 พร้อมกับย้ำว่า หากยังปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป เด็กเหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 80!!!


สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง มาจาก "สิ่งแวดล้อมรอบตัว" เช่นที่ ผศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน เสวนา "คนไทยเลือกกินอย่างไร เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการบริโภคอาหาร" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อปลายปี 2558 ถึงทฤษฎี "เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม" ที่มีหลักคิดว่า


"สิ่งแวดล้อมรอบข้างมีผลมากต่อการตัดสินใจเลือกทำหรือไม่ทำของมนุษย์ในเรื่องต่างๆ" ซึ่งมีการทดลองในต่างประเทศ กับเรื่องใกล้ตัวที่สุดของคนเราอย่าง "การกิน" อาจารย์ธนะพงษ์ยกตัวอย่างการทดลองหนึ่งที่น่าสนใจ ผู้ทดลองแบ่งกลุ่มผู้ถูกทดลองเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับอาหารใส่จานในปริมาณเท่ากัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ กลุ่มหนึ่งจะมองเห็นอาหารจานข้างๆ ที่ตั้งไว้เป็น จานใหญ่มีปริมาณอาหารมาก ขณะที่อีกกลุ่มจะมองเห็นอาหารจานข้างๆ ที่ตั้งไว้เป็นจานเล็กมีปริมาณอาหารอยู่น้อย ซึ่งผลที่เกิดขึ้น พบว่ากลุ่มที่มองเห็นอาหารจานใหญ่อยู่ใกล้ๆ จะบริโภคมากกว่ากลุ่มที่มองเห็นอาหารจานเล็ก ชี้ให้เห็นว่า..ถ้าเห็นคนรอบข้าง "กินจุ" ตัวเราก็มีแนวโน้มที่จะกินแบบนั้นตามไปด้วย!!!


"อันนี้เป็นการทดลองในอเมริกา อาหารในจานของตัวเองของทุกคนจะขนาดเท่ากัน แต่กลุ่มหนึ่งเห็นอาหารจานข้างๆ ใหญ่มาก แต่อีกกลุ่มเห็นอาหารจานข้างๆ ไม่เยอะเท่าไร เขาจะดูว่าอาหารจานข้างๆ ระหว่างใหญ่กับเล็กมีผลต่อการบริโภคยังไง พบว่ากลุ่มที่จานข้างๆ ใหญ่ เขาบริโภคไป 175 กรัม แต่กลุ่มที่จานข้างๆ เล็ก เขาบริโภคไปแค่ 100 กรัม แสดงให้เห็นว่าจานข้างๆ มีผลต่อการบริโภคถึง 75 เปอร์เซ็นต์


คุณจะกินเยอะหรือกินน้อยไม่ได้อยู่ที่จานของคุณ แต่กลับไปอยู่ที่จานข้างๆ คุณ ที่เป็นแบบนั้นเพราะเราคิดเวลาคนอื่นมากินกับเรา หรือเราดูคนอื่นเวลาที่เราคิด" อาจารย์ธนะพงษ์ กล่าว


นอกจากคนรอบข้าง อีกการทดลองในต่างประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์รายนี้อ้างถึง คราวนี้แบ่งผู้ถูกทดลองเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม จะได้ทำแบบสอบถาม โดยจะมีช็อกโกแลตให้กินเป็นของทานเล่นด้วยในปริมาณ เท่ากัน แต่สิ่งที่ต่างกัน กลุ่มหนึ่งจะได้รับช็อกโกแลตบรรจุ 1 ถุงใหญ่ ขณะที่อีกกลุ่มจะได้รับช็อกโกแลต 4 ถุงย่อย ผลการทดลองพบว่า แม้ช็อกโกแลตที่ให้จะมีปริมาณ เท่ากัน แต่กลุ่มที่ได้ 4 ถุงเล็ก กลับบริโภคน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ 1 ถุงใหญ่


การทดลองนี้ได้ข้อสรุปว่า "ขนาดบรรจุภัณฑ์" ก็มีผลต่อพฤติกรรมการกินไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน!!!


"การทดลองนี้ไม่ได้ให้คนมากินช็อกโกแลต แต่ให้มาทำแบบสอบถาม ซึ่งใช้เวลาทำประมาณ 30 นาที ระหว่างนั้นก็มีช็อกโกแลตให้กินเป็นของทานเล่น กลุ่มหนึ่งได้ 4 ถุงเล็ก อีกกลุ่มได้ 1 ถุงใหญ่ แต่จริงๆ แล้วจะ 1 ถุงใหญ่ หรือ 4 ถุงเล็ก ก็มีปริมาณรวมเท่ากัน คือ ถุงใหญ่ 200 แคลอรี่ ส่วนถุงเล็ก 50 แคลอรี่ แต่คูณ 4 ถุง ก็ 200 แคลอรี่เท่ากัน ผลที่ได้คือกลุ่มที่ได้ถุงใหญ่จะกินเยอะ ถ้าคิดเป็นปริมาณก็ 130 แคลอรี่ ส่วนกลุ่มที่ได้ถุงเล็กเขากินแค่ 80 แคลอรี่ ก็คือขนาดถุงมีผลต่อการกิน"อาจารย์ธนะพงษ์ ระบุ


จากการทดลองทั้ง 2 ได้ข้อสรุปสำคัญสำหรับหน่วยงานหรือเครือข่ายที่ต้องการขับเคลื่อนพฤติกรรมอันพึงประสงค์ คือ "จำกัดอิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์"  เช่น อาจต้องผลักดันให้อาหารบางชนิดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมีบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กจนบริโภคติดต่อกันได้น้อย หรือเข้าถึง-พบเห็นได้ยาก


บทความ เด็กไทยกินฉลาด ปราศจากพุงอ้วนโดยสถาบันราชานุกูล กล่าวถึงพิษภัยของภาวะอ้วนในเด็กไว้ว่า หากปล่อยไว้จนโต เด็กอ้วนลักษณะนี้มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด ภาวะ ไขมันสูงในเลือด รวมถึงอัมพฤกษ์-อัมพาต จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในหมวดกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง แต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ ซึ่งทั่วโลก ใช้มาตรการนี้สามารถควบคุมผู้บริโภคให้ลดลงได้


อีกมาตรการหนึ่งที่น่าสนใจ คือการทำฉลากอาหารในลักษณะ "สัญญาณไฟจราจร" ซึ่งมีการรณรงค์กันอยู่ที่เว็บไซต์ Change.org แบ่งเป็น "สีเขียว" แสดงถึงปริมาณสารอาหารที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ สามารถรับประทานได้ "สีเหลือง" แสดงปริมาณสารอาหารที่ค่อนข้างสูง กินได้แต่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ควรรับประทานแต่น้อย และ "สีแดง" แสดงถึงปริมาณสารอาหารที่สูง กินแล้วอาจ ส่งผลเสียต่อสุขภาพควรหลีกเลี่ยงในการรับประทาน โดยใช้กับสารอาหาร 4 ประเภท คือพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม


ฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจร ยังทำหน้าที่กระตุ้นให้ผู้ผลิตอาหารควบคุมสารอาหารต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพื่อไม่ให้มีสัญลักษณ์สัญญาณไฟจราจรสีแดงอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารของตัวเอง คล้ายกับฉลากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใครๆ ก็อยากได้ "เบอร์ 5" ที่หมายถึงมีอัตราประหยัดไฟสูงสุดคงต้องฝากเรื่องนี้ไว้เป็น "นโยบายเพื่อเด็กไทย" รับวันเด็ก 2559 เพราะหากสุขภาพไม่ดีแล้ว จะพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ คงทำได้ยาก!!!


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code