คุมเหล้ากว่า 7 หมื่นพื้นที่ปลอดขาย-ดื่ม-โฆษณา

 

เป็นที่น่ายินดีที่มีข่าวว่าหน่วยงานภาครัฐประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะจัดระเบียบพื้นที่ปลอดการขาย การดื่ม และโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายทั่วประเทศอีกกว่า 70,000แห่ง ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่าง 5 หน่วยงาน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เพื่อจัดให้สถานที่ในกำกับดูแล ได้แก่ บ้าน สถานที่ราชการ ศาสนสถาน เป็นพื้นที่ปลอดการขาย การดื่มและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า การลงนามร่วม 5 หน่วยงาน จะทำให้มีพื้นที่ปลอดการขาย การดื่ม และการโฆษณาเหล้าเพิ่มขึ้นจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 70,000 แห่ง ทั้งศาลากลางจังหวัดที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการเทศบาล ที่ทำการ อบจ. ที่ทำการ อบต. โรงเรียน สถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา อุดมศึกษา และศาสนสถานทั้ง 5 ศาสนาหลักของประเทศ ได้แก่ พุทธอิสลาม คริสต์ พราหมณ์ฮินดู ซิกข์ และขอความร่วมมือชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ดูแลการบังคับใช้กฎหมายในหมู่บ้าน ตำบล เช่น ห้ามขายเหล้าในวันและเวลาห้ามขาย ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ในปีนี้จะเร่งขับเคลื่อนนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามแผนยุทธศาสตร์ระดับโลก และตามเจตนารมณ์ที่นานาประเทศทั่วโลกได้ประกาศร่วมกันในการประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (global conference on alcohol policy) ครั้งแรกของโลก ที่ประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ใน 4 มาตรการหลักคือ 1.สนับสนุนสร้างความเข้มแข็งและผสมผสานมาตรการที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีประสิทธิผลและความคุ้มค่าคือ การเพิ่มภาษีการจำกัดการโฆษณาสื่อสารการตลาด และการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ง่ายเกินไปทั้งในมิติของบุคคล วันเวลา กับสถานที่ขายและการดื่ม โดยผนวกเข้าไปในกระบวนการวางแผนด้านสาธารณสุขและนโยบายการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ 2.นำเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีหรือการเก็บเงินพิเศษสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปรณรงค์เพื่อลดอันตรายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.ส่งเสริมให้องค์กรภาคประชาแอลกอฮอล์ 3.ส่งเสริมให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาครัฐเพื่อก่อให้เกิดนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิผล และ 4.พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งระบบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ทั้งสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และความเข้มแข็งของนโยบาย

ปัจจุบันไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 12 ฉบับ เช่นกฎหมายจำกัดสถานที่-เวลาดื่ม อายุผู้ซื้อรวมทั้งมีการรณรงค์ในช่วงเทศกาลและวันสำคัญ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา รับน้องปลอดเหล้า ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ฯลฯ โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงกว่า 14,000 ล้านบาท

และปีนี้ สธ.จะเพิ่มการใช้มาตรการทางสังคมในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยขอความร่วมมือผู้นำ 5ศาสนา ให้เผยแพร่ธรรมะตามหลักคำสอนเพื่อโน้มน้าวจิตใจให้ลด ละ เลิกอบายมุขทั้งปวง และร่วมกับ สสส. สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า รณรงค์ประชาสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้ตระหนักถึงโทษ พิษภัย และผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน 

Shares:
QR Code :
QR Code