คุมเข้มโฆษณายาเถื่อน “วิทยุชุมชน-ทีวีดาวเทียม-อินเทอร์เน็ต”
สช.เร่งคุมวิทยุชุมชน 7,700 สถานี เคเบิล ทีวีดาวเทียม อินเทอร์เน็ต โฆษณายา-อาหารเสริมผิดกฎหมาย เผยมีเงินสะพัดสูงกว่า 3 พันล้าน กระทบผู้บริโภค 12 ล้านครัวเรือน หลังยอดร้องเรียนสูง 1,000 รายการต่อเดือนขณะที่ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอ กสทช.ออกประกาศ สั่งปิดสถานี
ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 มติสมัชชาสุขภาพเบื้องต้นเห็นตรงกันถึงการจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม จำนวนมากที่ผิดกฎหมาย และมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 3,000 ล้านบาท
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นปัญหาในการโฆษณาผ่านสื่อ มีทั้ง 1. ยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยาแผนโบราณ 2. อาหาร และ 3. เครื่องสำอาง ซึ่งในแต่ละวันมีผู้โทรเข้ามาสอบถามที่ อย.ถึงวันละ 80-100 ราย ขณะที่เรื่องร้องเรียนมีประมาณ 100 กรณีต่อเดือน
นอกจากนี้ ทาง อย.ยังมีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาผ่านสื่อ ทั้งโทรทัศน์ เคเบิล และวิทยุ อยู่ที่ 1,000 รายการต่อเดือน และจากการติดตามเกือบทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งบางผลิตภัณฑ์มีการโฆษณาซ้ำๆ ฉายวนซ้ำ 50-80 ครั้งต่อวัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้จดจำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องช่วยดำเนินการ
จากข้อมูลนำเสนอต่อที่ประชุม ระบุว่า มูลค่าของการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว การโฆษณายาสู่ผู้บริโภคในช่วงปี 2549-2552 มีมูลค่าสูงกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปี ส่วนการโฆษณาอาหารมีมูลค่าการโฆษณาสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีมูลค่าโฆษณาสูงกว่าปี 2539 ถึง 12 เท่า
เฉพาะมูลค่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสริมอาหาร จากข้อมูลบริษัทผลิตสื่อโฆษณาเพียงบริษัทเดียว ในปี 2545 พบว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีมูลค่าสูงถึง 821 ล้านบาท และมีการขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคผ่านสื่อหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลในปี 2553 พบว่าวิทยุท้องถิ่นทั่วประเทศไทยมีมากกว่า 7,700 แห่ง และคาดการณ์ว่า มีจำนวนครัวเรือนมากกว่า 12 ล้านครัวเรือน หรือประมาณเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยที่เข้าถึงสื่อเคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม ทั้งนี้ ประมาณการว่ามีเม็ดเงินโฆษณาผ่านเคเบิลทีวีและดาวเทียมราว 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี
ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการโฆษณาในวิทยุท้องถิ่นมากที่สุด โดยมีกลยุทธ์สร้างแรงจูงใจและตอกย้ำบ่อยๆ จากข้อมูลของศูนย์ผู้พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น พบการโฆษณาผ่านวิทยุท้องถิ่นและเคเบิลที่ฉายวนไปวนมาอย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน สูงสุด 11 ครั้งต่อวัน ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีคลื่นวิทยุท้องถิ่นหลายแห่งที่มีผู้ประกอบการรายเดียวเหมาโฆษณาตลอดทั้งวัน
นอกจากนี้ ยังพบกลยุทธ์การโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อผ่านรูปแบบต่างๆ อย่างการพูดสด การรับประกันคุณภาพโดยนักจัดรายการ ผู้มีชื่อเสียง การอ้างประสบการณ์การใช้ ที่เป็นการชวนเชื่อ และในการโฆษณาเหล่านี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่นำมาโฆษณานั้นปลอดภัย ผ่านการรับรองจากภาครัฐแล้ว
ภญ.ศรีนวล กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาโฆษณายาและอาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทางสื่อต่างๆ ต้องร่วมกันทุกภาคส่วน คือ 1. ภาครัฐ ซึ่งนอกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ดูแลในเรื่องยาและอาหารโดยตรงแล้ว ยังมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการติดตามข้อมูลผู้ที่กระทำผิดได้ง่าย
ส่วนที่ 2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปค.) ในการติดตามควบคุมดูแลสื่อท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมา ในการควบคุมการโฆษณานั้น ในกรณีที่เป็นสื่อส่วนกลางที่มีตัวตน ที่ผ่านมาทาง อย. ได้เข้าดำเนินการอยู่แล้ว เพราะชัดเจน ติดตามได้ง่าย แต่ที่มีปัญหามาก คือ สื่อในท้องถิ่น โดยเฉพาะที่อยู่ไกลๆ อย่าง วิทยุชุมชน เคเบิลท้องถิ่น ที่ยากต่อการเข้าไปตรวจจับ 3. ภาคประชาชน และสื่อมวลชน โดยในส่วนของสื่อนั้น หากมีการกำหนดจรรยาบรรณและจริยธรรมในการรับโฆษณาผลิตภัณฑ์ ก็จะช่วยทาง อย.ได้มาก ขณะเดียวกัน ในส่วนประชาชนเองจะต้องให้ความรู้ เพื่อที่จะได้สามารถคัดกรองพิจารณาได้ว่าสินค้าใดน่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งจะช่วยได้มาก
หลังการรับมติ การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม จะนำเข้า ครม. ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับมติสมัชชาไปปฏิบัติต่อไป รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ภญ.ศรีนวล กล่าวต่อว่า นอกจากแนวทางความร่วมมือข้างต้นแล้ว ยังต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้มีคำสั่งทางปกครองในการยกเลิกผลิต และจำหน่าย นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้มีการพัฒนากฎหมายที่ล้าสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากทั้ง พ.ร.บ.ยา 2510 และ พ.ร.บ. อาหาร 2522 ในส่วนของโทษปรับนั้นน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการตลาด คุ้มค่าที่จะถูกจับลงโทษ อย่างเช่น กรณีโฆษณาอาหารโดยไม่ได้ขออนุญาตจะถูกปรับเพียงแค่ 5,000 บาทเท่านั้น ขณะที่การโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง มีโทษแค่จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น จึงควรปรับปรุง
ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การควบคุมการโฆษณายา อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นปัญหา อย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการเข้าดำเนินการ เพราะที่ผ่านมา มีปัญหาและมีการร้องเรียนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการอวดอ้างโฆษณาที่เกินจริง ซึ่งเป็นเรื่องยากต่อการดำเนินการตรวจจับ
แม้แต่ทาง อย.เอง ยังจำนน เนื่องจากการสำรวจจำนวนวิทยุชุมชนของทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าบางจังหวัดมีวิทยุชุมชนมากถึง 200 สถานี จึงเป็นเรื่องยากที่ทาง อย.จะสามารถดำเนินการได้ ดังนั้น ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอเพื่อควบคุมปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ต้นทาง โดยเสนอให้ทาง กสทช. ออกประกาศควบคุม
หากพบว่าผู้ประกอบกิจการวิทยุชุมชนใดที่มีการกระทำความผิด ปล่อยให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ถูกต้อง โดยบางแห่งพบว่าเป็นผู้จำนวนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเอง จะต้องรับผิดชอบ และให้ถึงขั้นสามารถปิดวิทยุชุมชนนั้นได้ ซึ่งที่ผ่านมา การสั่งปรับเพียงแต่ 1,000-2,000 บาท ตามกฎหมายของทาง อย. ที่มีอยู่นั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ น.ส.สารี กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ