คุมเข้มเชื้อโรคและพิษจากสัตว์

 

สธ.ห่วงนำเข้าเชื้อโรคและพิษจากสัตว์อย่างเสรี กระทบความปลอดภัย สั่งกรมวิทย์ให้ความรู้หน่วยงานผลิต ครอบครอง นำเข้า ส่งออก พัฒนาระบบขนส่ง พร้อมปรับปรุงกฎหมายคุมเข้ม

วันที่ 8 พ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์  นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวในงาน “โครงการสัมมนาความรู้ด้านการขนส่งเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์” ว่า ประเทศไทยมีองค์กรหรือหน่วยงานหลายแห่งถือสิทธิครอบครองเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ส่วนใหญ่นำเข้ามาเพื่อศึกษาวิจัย จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายในการควบคุม ซึ่งประเทศไทยมี พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2525 มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544 กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งมีภารกิจตามพ.ร.บ.ดังกล่าวให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องบรรจุภัณฑ์และการขนส่งเชื้อโรค และสารชีวภาพเพื่อให้หน่วยงานที่ผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ได้พัฒนาระบบการขนส่งให้เป็นไปตามหลักวิชาการและหลักปฏิบัติสากล

“การสัมมนาในวันนี้เริ่มต้นที่ปัญหาพื้นฐานที่ยังแก้ไม่ได้ คือ การควบคุมมาตรฐาน การขนส่ง การเคลื่อนย้าย การเก็บรักษา การนำเข้า เพราะอย่างน้อยต้องรู้ว่ามีอะไรเข้ามาในประเทศบ้าง หากไม่วางมาตรการควบคุมตั้งแต่การตรวจสอบสิ่งที่นำเข้าประเทศว่ามีอะไรบ้าง สต็อกมีอะไรบ้าง เก็บดูแลอย่างไร จะเป็นปัญหาเรื่องความปลอดภัยของประเทศ”นพ.ประดิษฐ กล่าว

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐมีสิทธิ์นำเข้าอยู่แล้ว แต่ไม่มีหน้าที่ต้องมารายงานตรงนี้เป็นปัญหา ส่วนภาคเอกชนมีหน้าที่ต้องรายงานตามปกติ เช่น นำเข้าเพื่อการค้า อย่างแลคโตบาซิลัส ซึ่งเป็นเชื้อโรคอย่างหนึ่งก็มีการขออนุญาตนำเข้ามาเช่นกัน อย่างไรก็ตามหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐให้ขออนุญาต และรายงานการนำเข้าพิษ หรือเชื้อโรคต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการจัดระดับความรุนแรงของเชื้อโรค พิจารณาออกใบอนุญาตครอบครองเชื้อโรค ว่าระดับความรุนแรงใดจะต้องพิจารณาระดับมาตรฐานความปลอดภัยของห้องแล็บด้วย กฎหมายฉบับนี้จะทำให้รู้ว่าเชื้อโรคระดับความรุนแรงใดอยู่ในห้องปฏิบัติการที่ไหนบ้าง

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code