คุมเข้มน้ำแข็ง หลังพบมีการปนเปื้อนสูง

สธ.ผ่านร่างคำแนะนำคุมเข้มน้ำแข็ง หลังงานวิจัยพบน้ำแข็งมีการปนเปื้อนสูง


คุมเข้มน้ำแข็ง หลังพบมีการปนเปื้อนสูง thaihealth


นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ร่างคำแนะนำ เรื่อง การควบคุมการประกอบกิจการการผลิต สะสม แบ่งบรรจุ และค้าส่ง น้ำแข็ง ได้ผ่านมติของคณะกรรมการสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว รอเสนอให้ประธานคณะกรรมการสาธารณสุขลงนาม โดยทางกรมอนามัยเตรียมส่งเสริมสนับสนุนให้ราชการส่วนท้องถิ่น นำเอาคำแนะนำดังกล่าวไปออกเป็นข้อกำหนดท้องถิ่น เพื่อใช้ควบคุมสถานประกอบกิจการผลิตน้ำแข็ง รวมไปถึงสถานที่สะสม แบ่งบรรจุ และค้าส่งน้ำแข็ง เนื่องจากน้ำแข็งยังเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเกิดโรคท้องร่วง ขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำแข็งจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในรูปแบบการใส่ในเครื่องดื่มต่าง ๆ หรือการใส่ในขนมประเภทเย็น เช่นน้ำแข็งไส น้ำปั่น เป็นต้น และน้ำแข็งมีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การใช้แช่ อาหารสดเพื่อถนอมอาหาร ชะลอการเน่าเสีย การบดผสมกับเนื้อในการทำลูกชิ้น


"หากกระบวนการผลิตไม่ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลหรือไม่ควบคุมดูแลในด้านสุขลักษณะทั้งการผลิต การขนส่ง การเก็บรักษา และจำหน่ายอย่างดีแล้ว อาจเกิดการปนเปื้อนและเป็นแหล่งแพร่กระจายของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการป่วยจากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคได้ ดังนั้น การควบคุม ดูแล ให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามหลักการสุขาภิบาล ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบรรจุ การขนส่ง และการจำหน่าย จึงเป็นสิ่งสำคัญ" นพ.สมศักดิ์ กล่าว


ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลการสุ่มสำรวจความปลอดภัยอาหารของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 1-12 ในปี 2555 พบว่า น้ำแข็งเพื่อบริโภคที่มีการจำหน่ายใน ร้านอาหารและแผงลอย 142 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียถึง 48 ตัวอย่าง คิดเป็น 33.8% จะเห็นได้ว่าน้ำแข็งที่บริโภคนี้ยังมีการปนเปื้อนสูง ซึ่งเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียแม้จะไม่ใช่เชื้อโรคที่มีอันตราย แต่เป็นเชื้อที่บ่งบอกถึงความสกปรกได้ เพราะเชื้อนี้ส่วนใหญ่จะพบในอุจจาระของคนและสัตว์เลือดอุ่น ถ้าพบเชื้อนี้ ในน้ำแข็งหรืออาหาร ก็หมายความว่าน้ำแข็งหรืออาหารนั้นๆ น่าจะมีการปนเปื้อนจากอุจจาระ


นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า กรมอนามัยได้มีโครงการนำร่องในการพัฒนาสถานที่ผลิต สะสม แบ่งบรรจุ และค้าส่งน้ำแข็งต้นแบบ โดยจะมีการอบรมมาตรฐานและสุขลักษณะที่ดีที่ต้องปฏิบัติให้แก่โรงน้ำแข็งและร้านค้าส่งในภาคอีสาน และจะขยายผลต่อไปยัง ภาคอื่นๆ และในส่วนของร้านอาหารเองก็ต้องมีการปฏิบัติจัดเก็บและจำหน่ายน้ำแข็งอย่างถูกสุขลักษณะ กล่าวคือห้ามนำสิ่งของใด ๆ มาแช่รวมในน้ำแข็งที่ใช้บริโภค ต้องใช้อุปกรณ์มีด้ามในการตักน้ำแข็ง


 


 


ที่มา : มติชนออนไลน์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code