คุมอาหาร-เครื่องดื่มกระทบสุขภาพเด็ก ห่วงโรคอ้วนพุ่งเร่งออกกฎสกัดการตลาด

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ

                    นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการเป็นประธานการประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กผ่านระบบออนไลน์ ว่า จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดลปี 2563 พบว่า ใน 2ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยมีภาวะอ้วนขึ้นมากกว่า 2 เท่า โดยเด็กอายุ 1-5 ปี มีภาวะอ้วนและเริ่มอ้วนเพิ่มจากร้อยละ 5.8เป็นร้อยละ 11.4 เด็กอายุ 5-14 ปีเพิ่มจากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 13.9 และเด็กอายุ 15-18 ปี มีภาวะอ้วนร้อยละ 13.2 ซึ่ง สหพันธ์โรคอ้วนโลกคาดการณ์ว่าปี 2573 ประชาชนไทยที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ เพื่อยุติโรคอ้วนในเด็กไทยตามตัวชี้วัดระดับโลก ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขให้ครอบคลุมในทุกด้าน

                    ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัยประธานการรับฟังความคิดเห็นการประชาพิจารณ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมี 9 มาตรการหลัก คือ 1.ฉลากต้องไม่ใช้เทคนิคดึงดูดเด็ก เช่น ไม่ใช้การ์ตูน หรือดาราเป็นแบบ และควรแสดงสัญลักษณ์กำกับที่เข้าใจง่าย 2.ควบคุมการแสดงความคุ้มค่าด้านราคา 3.ควบคุมการจำหน่ายในสถานศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา 4.ควบคุมการโฆษณาทุกช่องทาง 5.ควบคุมการแลก แจก แถม ให้ชิงโชคชิงรางวัลส่งฟรี 6.การมอบ หรือให้สิ่งของอุปกรณ์ของใช้ หรืองบประมาณในการจัดกิจกรรมใดจะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก 7.การบริจาคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในสถานศึกษา และสถานที่ศูนย์รวมของเด็ก 8.การจัดตั้งกลุ่มชมรมชุมชนออนไลน์ จะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก 9.การติดต่อชักชวน หรือจูงใจเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม จะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถร่วมประชาพิจารณ์ได้ที่  https://moph.cc/PHFOROGN สำหรับประชาชนได้ที่  https://moph.cc/PHFORALL  ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2566 และสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักโภชนาการกรมอนามัย โทร.0-2590-4941.

Shares:
QR Code :
QR Code