คุณเป็น ‘โรคย้ำคิดย้ำทำ’ หรือไม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคที่หลายคนสงสัยว่าตนเองจะเป็นหรือไม่ เมื่อมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ จนเกินปกติ ซึ่งโดยเฉลี่ยคนไทยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำราวร้อยละ2-3 ของคนไทยทั้งหมด โดยสามารถเริ่มต้นสังเกตเห็นอาการตั้งแต่วัยเด็กถึงช่วงวัยรุ่น เราจะพบโรคย้ำคิดย้ำทำในวัยรุ่นได้เมื่ออายุ 20 ปี
อ.พญ.ธนิตา หิรัญเทพ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำ เกิดจากการทำงานของสมอง ซึ่งบางส่วนของสมองทำงานมากกว่าปกติก็จะเกิดอาการย้ำคิดย้ำทำขึ้นมาได้ โดยสมองส่วนหน้าและสมองส่วนกลาง หากทำงานประสานกันผิดปกติ ก็จะมีอาการดังกล่าวนี้ขึ้นได้ รวมทั้งอาจมีสาเหตุเกิดจากพันธุกรรมได้อีกด้วย
โรคย้ำคิดย้ำทำเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่คุณภาพชีวิตจะเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ ในทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มต้นสังเกตอาการของตนเองเกี่ยวกับการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ หรือมีเหตุกังวลซ้ำ ๆ ถ้าหากมีข้อสงสัยอย่ารอให้มีอาการควรจะรีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการระดับความรุนแรงในคนไข้
ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ ผู้ป่วยที่มีอาการจนกร่อนชีวิต จะมีอาการหลงลืม บางครั้งอาจคิดว่าตนจะทิ้งของมีค่า จะกังวลไม่ทิ้งของ กลัวจะทิ้งของมีค่าและเก็บสะสมของเอาไว้มาก ๆ ซึ่งเป็นของที่ควรนำไปทิ้งแล้ว แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าควรจะเก็บเอาไว้ด้วยความกังวล
ส่วนวิธีการรักษา หากมีอาการแล้วเกิดผลกระทบกับชีวิต ควรจะรีบพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มต้น แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจสุขภาพจิต ในบางรายที่มีความสงสัยว่าอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ จึงมีอาการคล้ายกับย้ำคิดย้ำทำ บางโรคอาจต้องส่งตรวจสมอง เช่น คนไข้กลุ่มที่มีลักษณะการเคลื่อน ไหวที่ผิดปกติต่าง ๆ และอาจจะมีอาการคล้ายกับอาการย้ำคิดย้ำทำเพื่อหาสาเหตุที่ถูกต้องและแก้ปัญหา
ส่วนแนวทางการรักษา ในทางการแพทย์แบ่งการรักษาเป็น 2 แนวทางคือ การใช้ยาในการรักษา และการไม่ใช้ยาในการรักษา โดยในส่วนของการใช้ยาหลังจากพิจารณาการรักษาแล้ว จะให้รับประทานยาลดอาการทางจิตหรือยาต้านเศร้า หรือยาที่ออกฤทธิ์สมดุลของสารเคมีบางอย่าง ยากลุ่มนี้อาจจะใช้เวลานานถึงจะออกฤทธิ์ที่ชัดเจนประมาณ3-4 สัปดาห์ และควรได้รับการรักษาแบบควบคู่พฤติกรรมบำบัด แต่ถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้นก็อาจจะรับการรักษาโดยการผ่าตัด เช่น การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อช่วยปรับสัญญาณการทำงานของสมองที่บริเวณนั้น แต่แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยยาและควบคู่พฤติกรรมบำบัดเป็นหลักมากกว่า ทางที่ดีเมื่อเริ่มสงสัยและมีอาการควรจะรีบพบแพทย์ทันที