คุณภาพอาหารเด็กไทย เรื่องใหญ่ที่ต้องใส่ใจ
การบริโภคอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการส่งผลโดยตรงต่อการเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีของเด็ก แต่ปัจจุบันพบว่าคุณหนูๆ ของเรากำลังเผชิญภาวะเตี้ย อ้วน สมองสั่งการช้าเพราะขาดสารอาหาร ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า และคุณภาพของเยาวชนวันนี้คือคุณภาพของประชากรในวันหน้า และในปัจจุบันเด็กเล็กตามโรงเรียน ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ยังขาดความเข้าใจเรื่องโภชนาการที่ถูกต้องอีกมาก
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาโภชนาการของเด็กไทยให้ดีขึ้น โดยการผลักดันของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเครือข่ายโภชนาการสมวัย
ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในการเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้กับนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา จากเดิมที่ได้รับเพียง 13 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 20 บาท ซึ่งภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 สนับสนุนงบประมาณทั้งสิ้น 24,775,999,200 บาท ส่งผลให้นักเรียนได้รับประโยชน์จำนวน 5,800,469 คน
ก่อนจะมีการอนุมัติงบประมาณอาหารกลางวันดังกล่าวนั้น พบว่าสุขภาวะของเด็กไทยโดยรวมยังไม่ได้มาตรฐาน มีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ส่งผลกระทบในด้านสติปัญญาและศักยภาพการเจริญเติบโตตามวัย โดยต้นเหตุของปัญหาดังกล่าวนอกจากจะมาจากอาหารที่ไม่ได้คุณภาพแล้ว ยังมีองค์ประกอบด้านอื่นๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขโดยด่วน โดยเฉพาะในโรงเรียนและชุมชนต่างๆ ดังนี้
ประการแรกคือต้องมีนักโภชนาการประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหาร ครู แม่ครัว แม่ค้า แกนนำนักเรียน และผู้ปกครองที่ได้รับการอบรมหลักสูตรการจัดการอาหารและโภชนาการต่อเนื่อง อย่างในต่างๆ ประเทศชั้นนำ และควรมีมาตรฐาน (SPEC) การจัดบริการอาหารที่ได้มาตรฐานโภชนาการสำหรับใช้ในการจ้างเหมาบริการอาหาร ซึ่งจะช่วยควบคุมคุณภาพอาหารและราคาที่เหมาะสม รวมทั้งควรบริหารจัดการแบบครัวกลางที่เบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ทำให้ช่วยควบคุมคุณภาพอาหารให้ได้ตามมาตรฐานโภชนาการ และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
ประการต่อมาคือ ส่งเสริมครอบครัว หรือชุมชนปลูกผัก อย่างน้อย 1 ครัวเรือน 5 ชนิดผัก จำหน่ายให้กับโครงการอาหารกลางวัน โดยมีการจัดทำเมนูอาหารหมุนเวียนอย่างน้อย 1 เดือน ที่สอดคล้องกับทะเบียนผักผลไม้ของกลุ่มเกษตรกรในชุมนุม นอกจากจะช่วยลดต้นทุนและส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยให้กับเด็กและครอบครัวแล้ว ยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน ซึ่งผู้ปกครองควรมีส่วนร่วม และอำนาจในการตัดสินใจและร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบคุณภาพอาหารอันจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาที่เร็วขึ้น
กลไกที่สำคัญอีกประการคือ การบรรจุงานอาหารและโภชนาการไว้ในแผน พัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งมีระบบควบคุม กำกับ และประเมินผลการจัดการคุณภาพอาหาร และเฝ้าระวังภาวะโภชนาการนักเรียน โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ปีละ 2 ครั้ง
สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการแก้ไขปัญหาโดยมีการติดตามเดือนละครั้ง และมีมาตรการทางสังคมด้านอาหารและโภชนาการที่นำไปสู่การปฏิบัติต่อเนื่อง จะส่งผลให้เด็ก ผู้ปกครอง และชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโภชนาการที่พึงประสงค์ได้ง่าย
ภายหลังการดำเนินการเรื่องดังกล่าวมาเกือบครึ่งปี นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยเรื่องดังกล่าวไม่นานนี้ว่า จากการสุ่มประเมินคุณภาพอาหารโรงเรียนใน 4 ภาค 20 จังหวัด รวม 66 แห่ง ของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 4-14 มีนาคม 2557 โดยทำการสุ่มประเมินหลังจากโรงเรียนได้รับค่าอาหารกลางวัน เพิ่มขึ้นเป็น 20 บาท/คน พบว่ามีเพียงร้อยละ 20 ของโรงเรียนเท่านั้นที่สามารถจัดอาหารกลางวัน มีคุณภาพได้มาตรฐาน ที่เหลือยังต้องปรับปรุงทั้งคุณภาพ ปริมาณ และความสะอาด
อย่างไรก็ตาม กรมอนามัยก็ไม่นิ่งนอนใจ ก็จะผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับภาคีที่เข้าร่วม เช่น การถ่ายทอดและนำชุดความรู้ สื่อ นวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการอาหารและโภชนาการให้มีคุณภาพได้มาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย
รวมทั้งขยายผลแหล่งเรียนรู้ด้าน การจัดการอาหารและโภชนาการในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน จากปี 2556 ที่มีอยู่ 706 แห่งเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 300 แห่ง ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดจังหวัดต้นแบบการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการ อย่างน้อยภาคละ 1 จังหวัด ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเด็กไทยประมาณ 6 ล้านคน ได้กินอิ่มอย่างมีคุณภาพ
“คาดหวังว่าภายในระยะ 10 ปี (พ.ศ.2567) จะสามารถลดภาวะผอม จากร้อยละ 9.1 เหลือร้อยละ 7 ภาวะอ้วนและเตี้ย จากร้อยละ 17 และ 16.3 เหลือไม่เกินร้อยละ 11 หรืออย่างน้อย ภาวะอ้วนและเตี้ยลดลงได้ ร้อยละ 0.5 ต่อปีเมื่อเทียบกับสถานการณ์เดิม และส่งเสริมให้เด็กไทยเพศหญิงและเพศชายมีความสูงเฉลี่ย 165, 175 ซม. และมีไอคิวเฉลี่ยมากกว่า 100 จุด”
ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์นี้ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้เช่นกันว่า จากการติดตามภายหลังรัฐบาลเพิ่มงบประมาณโครงการอาหารกลางวันศูนย์เด็กเล็ก จาก 13 บาท เป็น 20 บาท พบว่ายังมีปัญหาคือ ศูนย์เด็กเล็กจำนวนหนึ่งยังได้รับงบประมาณไม่ครบตามที่รัฐบาลอนุมัติ และโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณไปยังไม่สามารถจัดอาหารให้มีคุณภาพได้ โดยพบว่ามีการนำงบไปเพิ่มในส่วนเนื้อสัตว์และข้าว แต่อาหารยังไม่ครบ 5 หมู่เหมือนเดิม เพราะขาดผัก ผลไม้ และอาหารเช้า เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการบริหารงาน พบว่าหลายโรงเรียนมีความกังวล ในวิธีการใช้งบประมาณ เมื่องบประมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งทำให้ต้องเลือกผู้ประกอบการที่มีราคาต่ำแทนการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์กับเด็ก
นอกจากนี้ยังพบว่าสุขาภิบาลในห้องครัวและสุขอนามัยของผู้ทำอาหารบางแห่งยังไม่ดีเพียงพอ จากปัญหาทั้งหมดที่พบ จึงอยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมแก้ปัญหา เร่งรัดงบประมาณให้ทั่วถึงแก่ศูนย์เด็กเล็กโดยเร็ว และต้องให้ความสำคัญในเรื่องทักษะ ความรู้ ของผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบเรื่องอาหารสำหรับเด็ก โดยต้องได้รับการอบรมจากหน่วยงานที่มีความรู้
"ปัจจุบันมีการสร้างโปรแกรมเพื่อให้โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กใช้ในการวางแผนการทำอาหารให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งมีโรงเรียนเพียงบางส่วนที่ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปดังกล่าว หากส่งเสริมให้บุคลากรใช้โปรแกรมเป็น ก็จะสามารถวางแผนได้อย่างละเอียดว่าต้องซื้ออะไร เท่าไร ควรทำเมนูอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ เพราะโภชนาการที่ดีหมายถึงต้นทุน คุณภาพชีวิตของเด็กด้วย" อาจารย์สง่าระบุ
เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีคุณภาพได้ ก็ต้องเริ่มจากการมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ หลังจากทราบปัญหาแล้ว หวังว่าผู้เกี่ยวข้องรีบจัดการด่วน ก่อนที่อนาคตของชาติจะกลายเป็นคนที่เติบโตแบบไม่สมวัยและไม่สมบูรณ์
ประชากรไม่มีคุณภาพ ประเทศชาติก็อยู่ไม่ได้ไปด้วย.
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต