คุณภาพอากาศไม่ดี เป็นวงรอบที่ต้องเจอทุกปี
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลแนะคุณภาพอากาศไม่ดี เป็นวงรอบที่ต้องเจอทุกปี วอนตระหนักดูแลสุขภาพ พร้อมช่วยกันลดการก่อมลพิษ
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงกรณีคุณภาพอากาศประเทศไทยที่ช่วงเย็นวานนี้มีช่วงหนึ่งที่กรุงเทพฯ ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ว่า ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน ความกดอากาศต่ำที่ทำคุณภาพอากาศแย่ลงเร็วโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และคาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ จากข้อมูลดัชนีอากาศย้อนหลัง 3 ปี ที่ผ่านมา พบปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นสอดคล้องกันคือพบมากช่วงอากาศหนาว สูงสุดช่วง ก.พ. และต่ำสุดช่วงเดือน มิ.ย.ซึ่งเป็นฤดูฝน และข้อมูลบ่งชี้ว่ามลพิษที่เกิดขึ้นไม่ใช่ควันที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านแต่เป็นมลพิษที่เกิดจากกิจวัตรประจำวันของคนเมืองที่สะสมตลอดปี เป็นปริมาณมลพิษในอากาศที่เห็นได้ชัดเมื่อมีมวลอากาศเย็นมากดและจำกัดพื้นที่ที่มลพิษจะลอยอยู่ได้ให้น้อยลง สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าเรายังไม่สามารถควบคุมแหล่งการผลิตมลพิษเหล่านี้ได้ และประชาชนยังตระหนักเรื่องนี้ไม่มากเท่าที่ควร จากเมื่อวานนี้ยังเห็นประชาชนที่ใส่หน้ากากาอนามัยเพื่อป้องกันไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม การที่ประชาชนต้องอยู่ในสภาพอากาศที่เช่นนี้ทุกปี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมมือกันเตรียมรับมือสถานการณ์นี้ ประชาชนควรมีความรู้ถึงพิษภัยของมลพิษในอากาศ ว่ามีผลต่อร่างกายทุกระบบ ที่คุกคามทุกคนโดยเฉพาะเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ประชาชนควรปรับกิจกรรมประจำวันรู้จักใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองที่ถูกต้องเหมาะสมตามคุณภาพอากาศ ทั้งหน้ากากอนามัยธรรมดา 2 แผ่นซ้อนกัน หน้ากาก N-95 ใช้เครื่องฟอกอากาศหรือแผ่นกรองอากาศ ขณะที่ภาครัฐควรใช้กฎหมายเคร่งครัด ทั้งการควบคุมปริมาณและคุณภาพยานพาหนะ การจำกัดกระบวนการก่อสร้าง ลดกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรม และควบคุมการ เผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงการปิดสถานศึกษาและสถานที่ทำงานของภาครัฐและเอกชน ท้องถิ่นควรจัดหาสถานที่สาธารณะในแต่ละชุมชนให้เพียงพอ เพื่อเป็นที่พักอาศัยของประชากรกลุ่มเสี่ยงเมื่อระดับคุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตรายหรือวิกฤต โดยต้องมีการติดตั้งระบบปรับและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในสถานที่นั้นด้วยโปรดใส่ใจคุณภาพของอากาศที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต
ทั้งนี้ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ในระยะเฉียบพลัน จะพบการระคายเคืองตา ระบบหายใจ แต่ในระยะยาวยังต้องรอข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันอีกครั้ง แต่เบื้องต้นข้อมูลจากจีนและอเมริกา พบระดับ. PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น เป็นอัตราเร่งให้ผู้ป่วยที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นเร็วขึ้น แต่ข้อมูลนี้เป็นการเก็บต่อเนื่องมานานถึง 15 ปีและมีการวิจัยในพื้นที่จริง แต่ไทยยังต้องรอข้อมูลทางระบาดวิทยาก่อน