คุณค่ารัก (แท้) กับความหลากหลายทางเพศ

คุณค่ารัก (แท้) กับความหลากหลายทางเพศ thaihealth


           “ความรัก…ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคู่รักชายหญิงเสมอไป มันอยู่ที่ว่าเราเจอกับใครและรักกับใครต่างหาก  แต่หลายคนมักมองว่า ความรักที่แท้จริงจะไม่เกิดขึ้นกับคนรักเพศเดียวกัน”


คุณค่ารัก (แท้) กับความหลากหลายทางเพศ thaihealth


‘ความรักกับความหลากหลายทางเพศ’


          ดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล คลื่นกรีนเวฟ 106.5 FM บอกเล่ามุมมอง ที่มีต่อความรักของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือเพศที่สามว่า ความคิดที่เชื่อว่าต้องเป็นเพศนั้นหรือเพศนี้ถึงจะเป็นรักแท้ คู่รักชายจริงหญิงแท้ก็ใช่ว่าจะเจอรักแท้ทุกคู่ คบกันแล้วเลิกก็มี ขณะเดียวกันคู่รักชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง หลายคู่ที่อยู่ดูแลกันยาวนานเป็น 10-20 ปี ไม่ว่าจะเป็นคู่รักชายหญิงหรือคู่รักเพศเดียวกัน หากเจอใครสักคนที่รักและมีความตั้งใจว่าจะไม่ทำให้เขาต้องเสียใจเพราะเรา


          “ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ รักแท้ก็เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นเพศอะไร แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราไม่ได้รักกันมากพอ”


‘หลากความรัก หลายมุมมอง’


          การเป็นเพศที่สามไม่ได้ทำให้ความอ่อนด้อยในความเป็นมนุษย์น้อยลง แต่เราใช้การสมมติมายึดติดว่า เพศที่สามเป็นเพศที่ผิดปกติต่างหาก สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเป็นเพศอะไร แต่อยู่ที่ว่าเราวางตัวอย่างไร หากเราไม่ทำร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใคร ทำประโยชน์เพื่อสังคมและผู้อื่นก็เป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่หรือ


          หากถามว่าสังคมจะยอมรับไหมหรือคิดอย่างไร จริงๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับคนสองคนนะ ถ้ารักกันและเลือกแล้ว ก็ต้องดูแลและจับมือไปด้วยกัน คำพูดของคนอื่น พวกเขาก็แค่พูดและเดินจากไป คำพูดของใครก็ทำให้เราเป็นอย่างที่เราไม่ได้เป็นไม่ได้


คุณค่ารัก (แท้) กับความหลากหลายทางเพศ thaihealth


‘มุมมองความรัก สะท้อนผ่านสื่อ’

          ปัจจุบันสื่อมีการนำเสนอมุมมองความรักของเพศที่สามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นละคร มิวสิควีดิโอ หรืออย่างซีรี่ย์ ตอน 'ความรักของหัวใจที่ไม่มีจริง' ที่มีการนำเสนอมุมมองความรักของเพศที่สาม แต่ไม่ใช่แค่เพศที่สามอย่างเดียว ยังรวมถึงการไม่ได้รับการยอมรับของคนในครอบครัว


          ดีเจพี่อ้อย บอกว่า ตัวละครยอมรับในตัวเองว่าเป็นชายรักชาย แต่ครอบครัวกลับไม่ยอมรับ และวันหนึ่งได้พบกับผู้ชายคนหนึ่งทางอินเทอร์เน็ต ที่ยอมรับตัวตนและรู้ว่าเขาเป็นชายรักชาย มันทำให้เขาเปิดใจและพูดคุยกันตลอด ทำให้คนหนึ่งเกิดความรักที่มากเหลือเกิน แต่ในขณะที่อีกคนหนึ่งก็มากรัก แค่นี้ความรักก็ไม่เท่ากันแล้ว


          ละครพยายามจะให้เรียนรู้ความรักอีกแบบหนึ่งคือ ความรักแห่งการพึ่งพิง ความรักที่คิดว่า เขาคือทุกสิ่งทุกอย่าง มันอาจจะทำให้อีกฝ่ายแบกรับความคาดหวังจนอึดอัด เราจะได้มุมมองของความรักจากโลกออนไลน์ รวมถึงการยอมรับในตัวเองและจะทำอย่างไรให้ครอบครัวยอมรับตัวตนของเราได้


           แน่นอนว่า สิ่งที่คนดูจะได้คือ ข้อคิดเรื่องการพูดคุยกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งเป็นเรื่องกึ่งจริงกึ่งจินตนาการ เราไม่ควรยึดมั่นถือมั่นกับคนที่เราเห็นแค่เพียงข้อความ การคุยกันผ่านตัวหนังสือมันตกแต่งได้ ข้อความลบและพิมพ์ใหม่ หรือจะให้น่ารักหรือสวยหรูแค่ไหนก็ได้


คุณค่ารัก (แท้) กับความหลากหลายทางเพศ thaihealth


‘รู้จักรัก อย่างเข้าใจ’


          ‘เราต่างอยากเลือกเป็นเพศใดก็ตาม เป็นคนแบบใดก็ตามที่โลกยอมรับ แต่เมื่อเป็นไม่ได้ เราสามารถเป็นคนดีได้ในเงื่อนไขของเรา’


          ดีเจพี่อ้อย ให้ข้อคิดและคำแนะนำอีกว่า ความรักของเรานั้น ต้องไม่ทำความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ไม่ว่าตัวเราจะเป็นเพศไหนก็ตาม เลือกคนที่เรารักและรักเรา และที่สำคัญความรักของเราต้องไม่ทำร้ายใคร ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เพราะฉะนั้น เมื่อจะรักใคร ควรรักในแบบที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน


         'รักอยู่บนพื้นฐานแห่งความรักในตัวเอง เช่นเดียวกันเราต้องเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะรักแท้จะไม่เกิดขึ้นในเพศใดก็ตามหากเราไม่เคยจริงใจกับใครเลย'


คุณค่ารัก (แท้) กับความหลากหลายทางเพศ thaihealth


“สื่อ” ชี้นำความหลากหลายทางเพศได้ จริงหรือ?


          สำหรับความกังวลที่ว่า “สื่อ” จะเข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมความหลากหลายทางเพศของวัยรุ่น อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทญ์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ยังไม่มีงานวิจัยที่สรุปว่าสื่อที่นำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศ ทำให้วัยรุ่นเป็นเพศหลากหลายมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่าสื่อน่าจะมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของวัยรุ่นและสังคมที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ 


          “แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่วัยรุ่นเห็นอะไรบ้างผ่านสื่อ เพราะตอนนี้การควบคุมให้วัยรุ่นเข้าถึงสื่อดีๆ เท่านั้น แทบจะเป็นไปได้ยาก แต่สำคัญที่พ่อแม่ จะสร้างเกราะป้องกันให้กับลูกได้ดีแค่ไหน


          เพราะเกราะป้องกันที่สำคัญคือ การทำให้ลูกเป็นคนที่มีความรักและนับถือตัวเองที่ดี มีทักษะชีวิตที่สำคัญในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ รู้จักควบคุมอารมณ์ เพื่อให้ลูกเลือกที่จะรับสื่ออย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น นอกจากนี้พ่อแม่ควรมีบทบาทในการสร้างกติกา เพื่อกำหนดการใช้เวลาให้ลูกอยู่กับสื่ออย่างเหมาะสม” คุณหมอให้แง่คิด


 


 


          เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th


         ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code