คุณค่าของโครงการ UNC โดยอาจารย์ นักศึกษาและภาคประชาสังคม
ที่มา : เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล
UNC Talk 3 : คุณค่าของโครงการ UNC โดยอาจารย์ นักศึกษา และภาคประชาสังคมปี 5
ช่วงเสวนา UNC Talk 3 : โดย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ได้แก่ ผศ.พรพรรณ เชยจิตร และอาจารย์สุภาพร หนูก้าน นักศึกษาได้แก่ นายอาณกร ตันสุริวงศ์ และนายณภัทร เกษโกมล ภาคประชาสังคมได้แก่ คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ จากเพจ Toolmorrow การแสดงนิทรรศการนักศึกษา ครั้งที่ 4 “UNC The Exhibition 2018” โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ปี 5 (ปี2561) วันที่ 28 ตุลาคม 2561
พิธีกร : ขอถามอาจารย์ว่ารู้สึกอย่างไร ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ร่วมมากี่ปี
อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: เข้าร่วมมา 5 ปีแล้ว เข้าร่วมตั้งแต่โครงการยังหาวิธีการของการเป็น UNC ที่เราอยากได้ เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด
พิธีกร : แล้วพอได้มาเข้าร่วมรู้สึกอย่างไรบ้าง
อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: เสน่ห์ของโครงการนี้ คือการได้ทำงานกับโจทย์จริงๆ นักศึกษาได้สัมผัสกับโจทย์ที่มีชีวิต กับผู้คนที่ประสบปัญหาต่างๆ ด้านสังคม เขาก็จะได้คิดค้นหาวิธีและนำความรู้ที่เขามีมาแก้ไข และพัฒนาปัญหา
ผศ.พรพรรณ เชยจิตร: ดูแลสาขานิเทศศาสตร์ เห็นทางอาจารย์สาวเข้าร่วมโครงการ จนปีที่ 4 ก็มาเข้าร่วม เริ่มเข้ามาช่วยจนกระทั่งปีที่แล้ว ก็ได้ถามนักศึกษาว่าเขาอยากทำไหม แล้วก็เป็นเรื่องที่ดีที่นักศึกษาอยากทำ แล้วพาเขาเข้ามาร่วมอย่างจริงจังในช่วงรอบที่แล้วเป็นต้นมา และปีหน้าก็จะมีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้าร่วมอีก
พิธีกร: น้องๆ รู้สึกอย่างไรบ้างที่มาเข้าร่วมโครงการ
นายณภัทร เกษโกมล: ผมรู้สึกดีใจที่ได้มาทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะจากที่เราเรียนมา เราอยากจะทำอะไรเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราเรียนมาสามารถทำงานได้จริง พอได้ร่วมโครงการก็รู้สึกว่ามันได้ผลจริงๆ เกิดผลกระทบต่อผู้คนจริงๆ
พิธีกร: รู้สึกเหนื่อยไหม
นายณภัทร เกษโกมล: เนื่องจากไม่ใช่วิชาในหลักสูตร เป็นเหมือนงานอาสา ก็รู้สึกว่าจะค่อนข้างเหนื่อย แต่ก็คุ้มและยาก ต้องแบ่งเวลาจากการเรียนด้วย
นายอาณกร ตันสุริวงศ์: เป็นปีแรกที่สาขาได้เข้าร่วมในโครงการนี้ ก็รู้สึกตื่นเต้น และเพื่อนๆ หลายๆ คนที่มาร่วมก็ตื่นเต้น ไม่เคยได้เห็นงานของรุ่นพี่ เราต้องเริ่มทุกอย่างใหม่หมด เพื่อให้ตรงกับโจทย์ที่ UNC ให้มา แล้วก็ต้องตรงกับสิ่งที่เราเรียนอยู่
พิธีกร: โจทย์ของ UNC ยากสำหรับเราไหม
นายอาณกร ตันสุริวงศ์: คิดว่าไม่ยาก ทุกโจทย์ที่ UNC ตั้งไว้มันคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราหรืออยู่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยที่เราเจอในทุกวัน
พิธีกร : ได้ทำผลงานอะไรมาจัดในนิทรรศการครั้งนี้
นายณภัทร เกษโกมล: คณะของผมได้โจทย์สื่อสร้างสรรค์ ก็ตรงกับคณะของเราคือคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตรงกับที่เราเรียนมา ผมเรียนออกแบบ เอนิเมชั่น และเกม ก็จะนำสามอย่างมารวมกัน ทำเป็น VR ชื่อผลงานว่า “แชร์ร้าว” คำว่า แชร์ ก็คือการที่เราแชร์ ส่วน ร้าว ก็คือแล้ว เป็นศัพท์ของวัยรุ่น เป็นการสะท้อนสังคมในเรื่องของการแชร์
พิธีกร : แล้วของอีกคนทำอะไร
นายอาณกร ตันสุริวงศ์: ชื่อผลงาน INFLUFAILURE (Influencer- failure) คือปัญหามันเกิดจากการที่ปัจจุบันเรามี Influencer เยอะมาก ใครที่มีกล้อง มีอินเตอร์เน็ต ก็มาเป็น Influencer ได้ แล้วก็จะมีทั้งดีและไม่ดีที่สามารถครอบนำความคิดของคนที่แชร์สิ่งแปลกๆ ก็เลยเอาคำมาบวกกันระหว่าง Influencer- failure คือเป็นผู้นำทางความคิดที่ล้มเหลว
พิธีกร: ได้มาเดินชมผลงานนิทรรศการของน้องๆ แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: มีอะไรน่าสนใจหลายชิ้นงาน จริงๆ ผมเคยไปให้คอมเม้นต์งานมาแล้ว จริงๆ งานนี้ทำให้ผมรู้สึกนึกถึงสมัยเราเป็นวัยรุ่น เป็นยุคของการเวิร์คช็อปค่ายสถาปัตยกรรม พอเรามาอยู่ในวงการสื่อ เรารู้สึกดีใจว่ามีงานแบบนี้ที่ช่วยเหลือสังคม ที่ทำสื่อดีๆเพื่อสังคม ในปัจจุบันเป็นยุคโซเชียลมีเดีย หลายๆ ครั้งคนเสพสื่อไม่มีวิจารณญาณหรือเสพสื่ออย่างคึกคะนอง ก็อาจจะเกิดปัญหาได้ หลายๆ คนก็หยิบประเด็นเหล่านั้นมาให้ทุกคนได้ฉุกคิด ก็คิดว่ามันดีมากและชื่นชม
พิธีกร: อยากจะแชร์มุมมองอะไรให้กับน้องๆ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: โลกออนไลน์มีคนที่พร้อมจะโต้ตอบเราเสมอ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือตรรกะ (Logic) ตรรกะเราต้องแน่น เหตุผลเราต้องแน่น เราทำงานออนไลน์มาเป็นร้อยๆ คลิป แล้วเกิดการโต้กลับเยอะแยะมากมาย แล้วเราค้นพบว่าสิ่งที่ทำให้เราพลาดคือการทำการบ้านน้อย เราเอาความคิดของเราไปใส่มากเกินไป โดยไม่มีข้อมูลจริง ถ้าคุณอินกับปัญหาจริง ต้องเอาตัวตนออกไปก่อน และพยายามรับฟังปัญหาจริงๆ คุณจะค้นพบอะไรบางอย่าง แต่งานช่วยสังคมไม่ใช่งานเพื่อเอาเท่ห์ ไม่ใช่แค่เอาภาพสวย มันมีมากกว่านั้น ถ้าเกิดคุณทำถึงระดับที่ทำให้ตระหนักรู้ สร้างแรงกระเพื่อมหรือทำให้สังคมได้ประโยชน์ วันหนึ่งคุณจะรู้สึกว่าเราอิ่มทิพย์ ความสุขจากการให้มันมีความสุขแบบนี้นี่เอง ขอเอาใจช่วยน้องๆทุกคน
พิธีกร: เรารู้สึกยังไงที่พี่เขาให้คำแนะนำดีๆ กับเรา
นายอาณกร ตันสุริวงศ์: รู้สึกว่าคำแนะนำที่พี่ให้ สามารถไปต่อยอดได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่ในงานนี้ เช่นเรื่องของการใช้ตรรกะ เห็นด้วยกับที่คุณสุรเสกข์พูด เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ในโลกออนไลน์ ซึ่งแค่จะไม่ใช่ในโลกออนไลน์ แต่มนุษย์เราควรที่จะมีตรรกะตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในโลกออนไลน์หรือในชีวิตประจำวัน
พิธีกร: แล้วอาจารย์มีมุมมองอย่างไรบ้างในการทำสื่อ
ผศ.พรพรรณ เชยจิตร: เห็นด้วยจริงๆ ในเรื่องของการสื่อสารในปัจจุบัน ถามว่าทุกวันนี้เหมือนเราพูดกัน เราไม่ค่อยเข้าใจ เพราะว่ามีแต่คนอยากจะพูด โดยที่ไม่ได้สนใจจะฟังหรือคิดให้มันลึกซึ้งจริงๆ ว่าสิ่งที่คนอื่นพูดเขาต้องการสื่อสารอะไร แล้วเราอยากจะพูด เราควรจะพูดอะไรหรือแม้กระทั่งการแชร์ มันควรต้องคิดหรือฟังให้หลายๆทาง คิดอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะสื่อสารออกไป เป็นสิ่งที่อยากให้เด็กรุ่นใหม่คิดเยอะๆ
พิธีกร : ตอนนี้สังคมก้มหน้าหมดเลย วิธีการเสพข่าวทุกคนจะมุ่งเน้นแต่ในโลกออนไลน์เท่านั้น
ผศ.พรพรรณ เชยจิตร: เป็นสังคมก้มหน้าและทุกคนคิดเห็นแต่ตัวเอง ไม่ได้มองในมิติอื่นๆ ที่มันรอบด้าน ก่อนที่จะตัดสินใจที่จะเชื่อจะแชร์หรือจะสื่อสารอะไรเพิ่มเติมลงไปอีก
อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: การทำงานกับเด็กๆ เกี่ยวกับเรื่องการแชร์ เราจะเริ่มจะให้เขาเอาประสบการณ์ตัวเองกับการใช้โซเชียลมีเดียมารวมกัน พอมันได้ความคิดหรือสิ่งที่เขาประสบมา เราก็จะถามว่าคุณจะเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาทำสื่อ แล้วปล่อยออกไป ผลตอบรับที่ออกมาจะยอมรับได้หรือไม่ เพราะจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ จากคำถามทำให้เด็กกรองสิ่งที่เขาจะสื่อออกไปให้มันดีขึ้น สุดท้ายแล้วการทำงานกับนักศึกษาคือต้องยอมรับ Feedback ที่กลับมาให้ได้
พิธีกร: มีอะไรจะฝากถึงเด็ก
คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: จริงๆ ผลงานออกมาไม่ดีก็เป็นเรื่องธรรมดา บางงานเรามั่นใจว่ามันจะประสบความสำเร็จ แล้วมันไม่ประสบความสำเร็จก็มีเหมือนกัน สิ่งที่อยากจะบอกก็คือเก็บ Feedback รวบรวมว่าผิดพลาดตรงไหน ทำไมถึงไม่สำเร็จ พยายามเรียนรู้และค่อยๆ มาทำงานชิ้นต่อไป ความผิดหวังเป็นทุกข์ของเราอย่างหนึ่ง มันมีทางให้เราเรียนรู้ เข้มแข็งและเติบโต ถ้าเราชนะอย่างเดียวก็จะไม่สนุก และอีกเรื่องหนึ่งหลายๆ ครั้งที่เรามีจุดประสงค์ดี แต่ด้วยเวลานั้นอาจจะยังไม่เหมาะสมในตัวเนื้อหาบางอย่าง อาจจะขาดความเชื่อกับคนในสังคม แต่ถ้าเรายืนยันว่ามันดี เราหนักแน่นว่าวันหนึ่งเราได้ทำงานชิ้นหนึ่งที่ต้องพูดเรื่องความถูกต้องอะไรบางอย่าง เราก็อย่าไปกลัว ถ้าอยากเป็นสื่อที่สร้างสรรค์ ก็ต้องมีวิธีการพูดบางอย่างที่เราไม่เจ็บตัว แต่อย่าเลือกที่จะไม่พูด
พิธีกร: น้องๆ คิดว่าสิ่งที่เราทำตอบโจทย์อะไรกับสังคมได้บ้าง
นายณภัทร เกษโกมล: ตอบโจทย์ในสังคม คือสุดท้ายแล้วการที่เราไปแชร์คำพูดอะไร เราอาจจะคิดว่ามันธรรมดา เราไม่ได้คิดอะไร แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วคำนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อจิตใจเขา งานเราก็จะโชว์ให้ดู โดยที่เรายังไม่ตัดสินใจก่อน
นายอาณกร ตันสุริวงศ์: วิธีทำงานของเราคือการสร้างสอง Account ขึ้นมา ให้ Account หนึ่งพูดแต่สิ่งดีๆ ส่วนอีกอันหนึ่งให้ต่อต้านกระแสสังคม ผลที่ออกมาคือ Account ดีๆ มี retwitter อยู่สอง retwitter ส่วน Account ที่ปั่นเก่งๆ มีตั้ง 5,000 retwitter หลังจากผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว เอามาสรุป เรารู้สึกว่าสิ่งนี้ตอบโจทย์กับสิ่งที่เราจะสื่อสาร ว่าอยากให้เขาคิดนะ ว่าไม่ใช่แค่การกด Follow ใครสักคน เราจะเชื่อความคิดเขาไปได้ตลอด ไม่ว่าสารจะออกมาจากใครก็ตาม เราควรที่จะคิดพิจารณาก่อนที่จะไปเชื่อเขา
พิธีกร: สิ่งที่เราทำในครั้งนี้มีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง สามารถไปต่อยอดหรือใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง
นายอาณกร ตันสุริวงศ์: ประโยชน์อย่างแรกเลยที่ทุกๆ มหาวิทยาลัยได้รับก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ ได้ทำงานร่วมกัน เราได้เจอเพื่อนมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือเราอยู่กับงานนี้ ก่อนที่เราจะสร้าง คอนเทนท์อะไร เราก็ต้องคิดว่าเราจะสามารถปล่อยสื่อออกไปได้จริงๆ หรือเปล่า ตลอดการทำงานที่ผ่านมาเราใช้วิธีคิดแบบนั้น มันจะอยู่กับตัวเราตลอด อย่างน้อยเราได้วิธีคิดก่อนทำเสมอ
นายณภัทร เกษโกมล: เราทำร่วมกัน 3 สาขาก็จะมีกระบวนการทำงานที่แปลกใหม่ เราก็จะเข้าใจภาษากันมากขึ้นเมื่อได้ทำงานร่วมกัน หลังจากเราทำงานเราได้หาข้อมูลมาถกเถียงและพูดคุยกัน
พิธีกร: สิ่งที่โครงการได้จัดทำขึ้นมา คือเปิดโอกาสให้สถาบันทุกสถาบันได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมและเปิดให้น้องๆ คณะอื่นๆ ได้มาเข้าร่วม อาจารย์มีความรู้สึกอย่างไรที่เขาเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม
อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: เสน่ห์ของโครงการ UNC คือเป็นโครงการที่เปิดกว้างให้นักศึกษาได้ออกแบบ มีมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาทุกครั้งที่เรามาเจอกัน เราจะรู้สึกสนุก เราไม่มีการแข่งขัน อาจารย์ได้รู้จักกัน มีเครือข่ายกันมากขึ้น นักศึกษาเองก็ได้รู้จักกันและได้เห็นการทำงานของมหาวิทยาลัยอื่น ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่ค่อนข้างใหญ่ในสายด้านการออกแบบ
พิธีกร: ได้ไปปรับในการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง
ผศ.พรพรรณ เชยจิตร: เราใช้วิธีการเป็นอาสาสมัครเข้ามาทำ ยังไม่ได้เข้าสู่รายวิชา แต่อย่างไรก็ตามเราจะบอกโจทย์กับนักศึกษาไปว่าเขาต้องทำอะไร ที่สามารถจะทำด้วยวิชาความรู้ที่เขาได้เรียนในศาสตร์ต่างๆ มาช่วยในจุดนี้ เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับนักศึกษาได้เรียนไปอีกหนึ่งวิชา ที่เป็นวิชานอกห้องเรียน ซึ่งนักศึกษาก็พูดเองว่าได้ความรู้ที่กว้างมากขึ้นและไปข้างหน้ากว่าที่จะอยู่แค่ในชั้นเรียน
พิธีกร: พออาจารย์ให้โจทย์มาแล้ว มันมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง ถึงทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สื่อออกมาให้คนได้รับรู้ดีขนาดนี้
นายอาณกร ตันสุริวงศ์: เป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้เรียนรู้ อาจจะไม่ได้มาง่ายๆ กับความรู้แบบนี้ ต้องไปหาความรู้นอกห้องเรียน ทำความเข้าใจด้วยตัวเอง โจทย์ที่อาจารย์ให้มาทำให้เราต้องไปหาความรู้ใหม่ๆ และความรู้นั้นมันจะอยู่กับเรามากกว่าเราจดในห้องเรียน เพราะเราต้องเรียนด้วยตัวเอง ทำความเข้าใจด้วยตัวเอง เพื่อมาสร้างสรรค์ผลงาน
นายณภัทร เกษโกมล: อาจารย์ไม่ได้ตั้งโจทย์อะไรให้เพิ่ม แต่ให้เราไปคิดมาเอง ทางเราก็อยากหาอะไรที่ใหม่ๆ ก็ใช้เทคโนโลยี VR แล้วเกิดปัญหาคือเราไม่เคยใช้มาก่อน ต้องมาศึกษากันใหม่ทั้งหมด ต้องมาช่วยกันหาข้อมูลว่าจะทำอย่างไร เกมจะต้องเป็นประมาณไหน ต้องเขียนโค้ดอย่างไร ก็จะได้อะไรใหม่ๆ นอกจากในห้องเรียนมากขึ้น
พิธีกร : อาจารย์นำมาปรับใช้อย่างไรบ้าง
อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: นอกจากการสอนการออกแบบกราฟฟิคดีไซน์แล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือจะสอนเรื่องจิตสำนึก สามัญสำนึกของการเป็นนักออกแบบที่ดี เพิ่มเข้ามาให้เขามองปัญหารอบตัวเป็นเรื่องของตัวเองมากขึ้น เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น หลังๆ ก็จะใช้การออกแบบช่วยออกแบบเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว เช่น ออกแบบโลโก้ร้านค้าในมหาวิทยาลัยให้มันสวยงามมากขึ้น
พิธีกร: ได้ฟังแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: การทำงานมันนำไปใช้ได้หมด แต่ถ้าคุณเอาไปใช้บ่อยๆ นอกจากกระบวนการแล้ว จะช่วยขัดเกลาจิตใจ หลายๆ ครั้งที่เราทำประเด็นสังคม อย่างเช่น ประเด็นขับรถเร็ว เราเองก็ไม่ควรขับรถเร็ว เพราะเราก็ทำสื่อด้านนี้ ถ้าวันหนึ่งเราโดนจับซะเองก็คงจะตลก บางประเด็น อย่างเช่น ความรุนแรง คำพูด เรามีข้อมูลมาแล้ว มันก็จะทำให้เราคิดช้าลง ตัดสินช้าลง เพราะมันมีข้อมูลมาประกอบทำให้เราดีขึ้นได้ ถ้าทำบ่อยๆ จะเป็นการขัดเกลาให้เราดีขึ้น ก็เอาใจช่วยน้องๆ
พิธีกร: อยากจะแนะนำวิธีการคิดอะไรให้กับน้องๆ บ้าง
คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: สิ่งที่มันจะออกมา มันไม่ได้ออกมาจากเราเอง จากที่เราทำงาน สิ่งที่มันออกมา พอเราไปอยู่กับปัญหา เราได้เห็นอะไรบางอย่างที่มันเป็น Guide-LINE แล้วเราจะเห็นว่าอะไรที่มันน่าสนใจ เราเคยคิดว่างานของเราเจ๋ง แต่พอไปคุยกับชาวบ้านที่เคยทำปัญหามาแล้ว เขาอาจจะเจ๋งกว่าเรา ก็อยากจะให้ฟังเขามากขึ้น แล้วถ้าวันหนึ่งเราจับประเด็นเก่ง งานก็จะออกมาดี แล้วต้องกลับมาระดมสมองและให้เขาระดมสมองร่วมด้วย ให้เขามามีส่วนร่วมในกระบวนการคิด พอได้ไอเดียมาก็จะไปคุยกับเขาอีกที ต้องให้กลุ่มเป้าหมายดูผลงานของเราก่อน ก่อนที่จะปล่อยออกไป
พิธีกร: อยากจะฝากอะไรถึงน้องๆ นักศึกษาไม่ว่าจะเป็นรุ่นนี้ หรือรุ่นต่อๆ ไปที่มาเข้าร่วมโครงการ
คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: รู้สึกดีใจที่พวกเราเข้ามาในโครงการนี้ การทำโครงการนี้เราจะได้กระบวนการคิดและประสบการณ์บางอย่าง แล้วอยากจะให้จำความรู้สึกนี้ไว้ว่าการที่ทำให้สังคมดีขึ้น การที่ช่วยคนอื่นให้ดีขึ้น มันมีความสุขแค่ไหน ถ้าทำได้สำเร็จแล้วจะติดใจ
อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: วันนี้มีรุ่นที่ 6 เข้ามาดู ก็มีการคาดการณ์ไว้ว่าเราต้องทำแบบไหน จริงๆ การทำงานทุกครั้งที่ทำมา เราจะให้เด็กเริ่มถามตัวเองก่อนเกี่ยวกับปัญหาของเขา จะเป็นการให้เขาค่อยๆ อินกับสิ่งที่เขาทำไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอย่าพึ่งกดดันตัวเอง ค่อยๆ เรียนรู้กันไป
นายณภัทร เกษโกมล: อยากให้น้องๆ เข้ามาร่วมกันเยอะๆ เป็นเรื่องที่ดี นอกจากเราจะได้ฝึกฝนประสบการณ์การเรียนรู้ของเรา เรายังได้ทำเพื่อสังคม เราก็จะมีความสุขตอนที่มีคนมาดูงานของเรา แล้วเขาได้ผลลัพธ์บางอย่างกลับไป