คุกปลอดบุหรี่
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
แนวคิด "คุกปลอดบุหรี่ ติดคุกต้องเลิกบุหรี่" เริ่มเห็นความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ภายหลัง พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผุดไอเดียติดคุกเลิกบุหรี่เลิกขายบุหรี่และยาสูบในเรือนจำ เพื่อดูแลสุขภาวะของนักโทษในเรือนจำ สุขภาพดีต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง
"เรือนจำซึ่งมีนักโทษเป็นลูกค้าหลัก" การบริหารจัดการคุกยุคปัจจุบัน "มือหนัก เท้าไว" ไม่ใช่คุณสมบัติของผู้คุมอีกต่อไป แม้หน้าที่หลักจะยังเป็นการควบคุมไม่ให้นักโทษแหกคุก แต่เป้าหมายสูงสุดคือบำบัดรักษาให้นักโทษหายจากสถานะคนป่วยของสังคม เรียนหนังสือ ฝึกอาชีพ พ้นโทษออกไปต้องมีงานทำไม่กลับมาเรือนจำอีก
หลังการหารือร่วมกับอธิบดีกรมควบคุมโรค ถึงกฎหมายควบคุมยาสูบ ฉบับใหม่ เรื่อง กำหนดสถานที่ห้ามขายยาสูบ สาระสำคัญจะมีผลให้ห้ามจำหน่ายบุหรี่ภายในสถานที่ราชการ ซึ่งพื้นที่ทุกตารางนิ้วของเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นสถานที่ราชการ จำต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อหลีกเลี่ยง และนักโทษเองก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะมีอำนาจต่อรองกับทางราชการ ขอยกเว้นกฎหมายเพื่อใช้บุหรี่ "คลายเครียด"
จากผลการสำรวจพบนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศ 370,000 คน สูบบุหรี่ 40% คำนวณคร่าวๆ แค่เพียงสูบบุหรี่วันละ 1 มวนต่อคน จะพบว่าปริมาณบุหรี่ไม่ต่ำกว่า 150,000 มวนต่อวัน ยิ่งสูบหนักสูบจัด ก็ยิ่งส่งผลให้นักโทษเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจและวัณโรค ปัจจุบันกล่าวได้ว่าเรือนจำเป็นแหล่งแพร่ระบาดใหญ่ที่สุดของวัณโรค เพราะมีสภาพไม่ต่างจากชุมชนแออัดโดยเฉพาะเรือนนอนซึ่งนักโทษต้องนั่งๆ นอนๆ หายใจรดกันนานกว่า 12-14 ชั่วโมงต่อวัน
"ยาสูบและบุหรี่" จึงถือเป็น ภัยร้าย เหมาะควรที่จะลด ละ เลิก ในระหว่างนี้ร้านค้าสวัสดิการเรือนจำเริ่มลดการจำหน่ายบุหรี่ ส่งสัญญาณในทางอ้อมต่อการควบคุมปริมาณผู้สูบ จำกัดการสูบในแต่ละวัน
ด้านกรมควบคุมโรคก็ได้จัดบุคลากรเข้ามาให้คำแนะนำเลิกบุหรี่ เตรียมความพร้อมให้นักโทษเพราะกฎหมายมาแน่ ทั้งนี้กฎหมายไม่ได้มีผลบังคับเฉพาะนักโทษ แต่เจ้าหน้าที่และผู้คุมในเรือนจำต้องเลิกบุหรี่ไปโดยปริยาย นอกจากการบรรยายให้คำแนะนำถึงวิธีเลิกบุหรี่ กรมควบคุมโรคยังจัดให้มีตัวช่วยเสริมเพื่อลดอาการอยากบุหรี่ เช่น น้ำยาบ้วนปาก ลูกอม และสเปรย์ เน้นใช้งานในช่วงเช้าหลังปล่อยนักโทษออกจากเรือนนอนให้ออกมาทำกิจวัตรประจำวัน เนื่องจาก ผู้ติดบุหรี่จะมีอาการอยากบุหรี่มากที่สุดหลังตื่นนอน เพราะร่างกายขาดนิโคตินไปนานหลายชั่วโมง ในช่วงที่เริ่มอดบุหรี่ น้ำยาบ้วนปากลดบุหรี่ ลูกอม และสเปรย์จึงเป็นตัวช่วยสำคัญ แม้แต่แวดวงข้าราชการระดับสูงที่ต้องประชุมต่อเนื่องหลายชั่วโมง ก็พ่นสเปรย์ลดอาการอยากบุหรี่ได้ผลมาแล้ว
สโลแกนที่ทุกเรือนจำนำออกมาผลักดันจูงใจนักโทษให้เลิกบุหรี่ คือ "ติดคุกทั้งทีควรได้สุขภาพที่ดีกลับออกไป" แปลงวิกฤติจากคุกให้เป็นโอกาสในการเลิกบุหรี่ เครียดนัก ก็ให้นั่งสวดมนต์ ทำสมาธิ ออกกำลังกาย เรียนหนังสือ ฝึกทักษะอาชีพ ในคุกมีโปรแกรมพร้อมบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่อนข้างหลากหลาย เพราะนักโทษเหล่านี้โอกาส ตีบตันกว่าคนข้างนอก พวกเขาจึงต้องถูกฝึกให้มีภูมิต้านทานทางอารมณ์ที่สูงกว่า
สำหรับเรือนจำกลางนครปฐม หลายแดนประกาศเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่แล้ว ในส่วนของนักโทษเปิดอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาถูกคัดย้ายมาแล้วหลายเรือนจำ ปกติในเรือนจำ จะจำกัดพื้นที่สูบบุหรี่ภายในแดนขัง แต่ห้ามสูบบุหรี่ในเรือนนอน ต่อมาเมื่อพวกเขาย้ายมายังเรือนจำกลางนครปฐม จึงตัดสินใจเลิกบุหรี่เด็ดขาด เพื่อให้มีคุณสมบัติเข้ารับการศึกษาและร่วมกิจกรรมในโครงการ "ทูบีนัมเบอร์วัน" ของเรือนจำ โดยเฉพาะแดนการศึกษาซึ่งไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่อดบุหรี่ช่วงแรกๆ อาจรู้สึกหงุดหงิดบ้างเพราะยังได้กลิ่นบุหรี่จากเพื่อนนักโทษร่วมแดน แต่สักพักเดียวก็เลิกได้ไม่คิดอยากกลับไปสูบอีก นั่นเพราะพวกเขาต่างก็มีแรงจูงใจชัดเจน ทุกคนอยากกลับบ้านเร็ว ใครอยากสูบบุหรี่ไม่ยอมเลิก ก็แค่กลับบ้านช้ากว่าเพื่อน
"หากกฎหมายห้ามขายบุหรี่มีผลบังคับใช้ นักโทษในเรือนจำต้องเลิกบุหรี่ ถ้ายังลักลอบสูบแรกๆ อาจถูกตักเตือน หากยังฝ่าฝืนก็ต้องถูกลงโทษทางวินัย ผลก็คือออกตามป้าย กลับบ้านช้าเช่นกัน"
ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นจากญาติ ผู้ต้องขังก็ตอบรับเป็นเสียงเดียวกันว่า เห็นด้วยกับนโยบายและกฎหมายห้ามจำหน่ายบุหรี่และยาสูบในเรือนจำ เพราะจะช่วยประหยัดเงินค่าบุหรี่ไปได้มาก
เรือนจำวันนี้ไม่เพียงนักโทษเท่านั้นที่เตรียมพร้อมเลิกบุหรี่รับกฎหมายใหม่ ทางด้านพัศดีและผู้คุม ก็ต้องเข้าคอร์สเลิกบุหรี่ไปกับนักโทษด้วย เนื่องจากทุกตารางนิ้วในเรือนจำเป็นพื้นที่ราชการและเขตปลอดบุหรี่ ห้ามสูบ-ห้ามขายบุหรี่และยาสูบมีผลบังคับใช้กับผู้คุมและนักโทษ มาตรฐานเดียวกัน
ขณะนี้มีเรือนจำนำร่อง 13 แห่ง ที่ห้าม ขายบุหรี่ ยาเส้น ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอำนาจเจริญ เรือนจำกลางราชบุรี เรือนจำ จังหวัดจันทบุรี เรือนจำอำเภอธัญบุรี ทัณฑสถานบำบัดพิเศษปทุมธานี ทัณฑสถานหญิงธนบุรี เรือนจำอำเภอสีคิ้ว ทัณฑสถานวัยหนุ่มปทุมธานี ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ทัณฑสถานหญิงสงขลา ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก เรือนจำกลางเชียงราย และเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม
ทั้งนี้คาดหวังให้ผู้ต้องขังเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจลดลง ลดปัจจัยการคุกคามของโรคในกลุ่มผู้ต้องขังป่วยเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองตีบ เพื่อลดภาระทางการรักษาพยาบาลลง