‘คุกคามทางเพศ’ ภัยใกล้ตัวเด็ก-เยาวชนที่ซ่อนอยู่
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เด็กและเยาวชนเปรียบเสมือน 'ผ้าขาว' ที่พร้อมจะซึมซับสีสันที่ถูกแต่งแต้มจากผู้ใหญ่ และในบางครั้งก็ถูก ทิ้งคราบสกปรกที่ไม่สามารถลบได้ออก ไม่ว่าจะพยายามเติมสีใหม่ หรืออยากจะเอาผ้าผืนนั้นไปทำความสะอาด ให้หมดร่องรอยก็ตาม
ดังเช่น รอยความทรงจำจากการถูกใช้ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นทางร่างกายตั้งแต่วัยเด็ก ที่ส่งผลต่อความรู้สึก ทางจิตใจเป็นระยะเวลาหลายปี หรือไม่ก็อาจต้องเผชิญเช่นนั้นไปตลอดชีวิต มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จึงร่วมมือกับ ซินดี้-สิรินยา บิชอพ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา "ข่มขืน…ภัยใกล้ตัวของ เด็กและเยาวชน" เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ถึงสถานการณ์ของการเกิดเหตุที่วิเคราะห์จากเรื่องราวจริงที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานช่วยเหลือเหยื่อผู้ถูกกระทำ
เนื่องจากการเก็บข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ทั้ง 13 ฉบับตลอดปี 2560 พบข่าวการกระทำความรุนแรงทางเพศ ทั้งหมด 317 ข่าว 3 อันดับแรกเป็น ข่าวข่มขืนถึง 153 ข่าว อนาจาร 52 ข่าว และพยายามข่มขืน 40 ข่าวตามลำดับ ที่สำคัญยังพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยแรกที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศ ที่น่าตกใจคือเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 5-20 ปี (โดยเฉพาะ อายุ 11-15 ปี) เป็นกลุ่มที่ถูกกระทำ มากที่สุดถึง 187 ราย เหยื่อที่อายุ น้อยที่สุดมีอายุเพียง 5 ขวบเท่านั้น และ ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนรู้จักคุ้นเคย เช่น เพื่อน คนข้างบ้าน รวมถึงคนในครอบครัว นอกจากนี้สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เกิดที่ที่พักของผู้กระทำหรือบ้านที่อยู่อาศัยร่วมกัน รองลงมาเป็นสถานที่ที่ไม่น่าเกิดเหตุ อย่างโรงพยาบาล วัด สถานที่ทำงาน และที่พักของเหยื่อ
สสส. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มุ่งลดอัตราการดื่มมากว่า 10 ปี นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์แผ่กระจายไปในวงกว้างและคนทุกวัยล้วนได้รับผลกระทบ ทั้งปัญหาอุบัติเหตุ ลักทรัพย์ และความรุนแรงทางเพศ แม้ว่าปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มลดการดื่มลง โดยมีคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียง ร้อยละ 28 จากเดิมร้อยละ 30 แต่ก็ยังต้องขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง เพราะเด็กและเยาวชนก็ได้รับผลกระทบจากการดื่มคือ ตกเป็นเหยื่อกลุ่มใหญ่ที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ซึ่งที่ผ่านมา สสส. และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานเรื่องความรุนแรงทางเพศมาตลอด โดย ปี 2560 เกิดเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ที่จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อลดปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ และส่งเสริมการสร้างเมืองปลอดภัย ปลอดจากการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากผู้หญิง 1 ใน 3 คน ถูกคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะ ในปีนี้ใช้แคมเปญ 'ถึงเวลาเผือก' และ สร้าง 'ทีมเผือก' ให้คนในสังคมร่วมกันเป็น กระบอกเสียงและเป็นหูเป็นตา
ด้าน นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ข้อมูลว่า มูลนิธิฯ มีหน้าที่เยียวยา ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศผ่านการรับไม้ต่อจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งให้คำปรึกษา พาไปสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความ และพาผู้เสียหายไปเบิกความที่ศาล โดยในปี 2560 ให้บริการเหยื่อผู้ถูกกระทำทางเพศทั้งหมด 14 กรณี (มีปัจจัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6 กรณี) เป็นกลุ่มเด็กถูกข่มขืนกระทำชำเราพรากผู้เยาว์ 4 กรณี เยาวชนถูกข่มขืนกระทำชำเรา 6 กรณี และผู้ใหญ่วัยทำงานถูกข่มขืนกระทำชำเรา 4 กรณี
"ส่วนใหญ่เหยื่อถูกกระทำเป็นระยะเวลาเฉลี่ยนาน 5 เดือนถึงจะบอกให้คนอื่นรู้ หรือผู้ปกครองสังเกตความผิดปกติได้ โดยในระหว่างนี้ยังคงมีการกระทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างกรณีเด็กอายุ 5 ขวบถูกลุงข้างบ้านล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ข่มขู่ว่าห้ามบอกใคร ไม่งั้นจะเอาไปย่างไฟ การกระทำเหล่านี้ทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกโทษตัวเอง อับอาย ไม่กล้าบอกใคร รู้สึกหมดคุณค่าในตัวเอง ทั้งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมายาคติในสังคม เช่น ทำไมแต่งตัวโป๊ ทำไมไม่รักนวลสงวนตัว รวมถึงหวาดกลัวเพศตรงข้าม นอกจากนี้ยังเสี่ยงติดโรค ทางเพศสัมพันธ์และท้องไม่พึงประสงค์ ในขณะที่การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ใช้ระยะเวลานานหลายปี บางรายเร็วๆ หน่อยก็ 2 ปี บางรายก็ 4 ปี และบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่เข้าถึงหัวใจและความรู้สึกของผู้ถูกกระทำเท่าที่ควร รวมถึงเด็กอาจยังไม่สามารถบอกได้ว่านั่นคือการล่วงละเมิดทางเพศ หรือบางกรณี มีภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร" หัวหน้าฝ่าย ส่งเสริมความเสมอภาคฯ กล่าว
สอดคล้องกับ แคมเปญ #DontTell MeHowToDress ที่ ซินดี้-สิรินยา บิชอพ ในฐานะพิธีกรและนางแบบชื่อดัง เป็นเจ้าของแคมเปญ ได้ร่วมบอกเล่าว่า สมัยวัยรุ่นตนเคยถูกลวนลามในเทศกาลสงกรานต์ทั้งๆ ที่ไม่ได้แต่งตัวโป๊ นั่นจึงเป็นที่มาของการนำเสื้อผ้าของเหยื่อมาจัดนิทรรศการรณรงค์ภายใต้แนวคิด "ชุดที่ใส่ ในวันที่ถูกคุกคามทางเพศ" เพื่อสื่อสารว่า การแต่งกายล่อแหลมไม่ได้เป็นเหตุให้ถูกคุกคามและไม่ควรผลักความรับผิดชอบทั้งหมดให้เพศหญิงทั้งๆ ที่เพศชายเป็นผู้กระทำ โดยช่วงปลายเดือนหน้าจะไปจัดที่อาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (United Nations Headquarters) นอกจากนี้ยังมีแพลนไปจัดตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งล่าสุดฟิลิปปินส์เชิญชวนให้ไปจัดที่เมืองมะนิลาด้วย นอกจากนี้ยังอยากทำ โปรเจคส่งเสริมให้พ่อแม่พูดคุยกับเด็กให้รู้จัก การจับร่างกายแบบไหนที่ไม่ควรยินยอม
"ตอนนี้ในหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญกับปัญหาการคุกคามทางเพศและกระแสสิทธิสตรี ในฐานะผู้หญิงอยากให้ ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิและคุณค่าตัวเอง ไม่เช่นนั้นผู้กระทำก็จะรอดพ้นจากการลงโทษและจะกระทำซ้ำเรื่อยๆ ในฐานะ แม่ก็อยากฝากให้มีเวลาพูดคุยกับลูกมากขึ้นทั้งสอนให้เห็นคุณค่าของตัวเองและคนอื่น" นางแบบชื่อดังทิ้งท้าย
ขณะที่ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เปิดเผยว่า อาจด้วยมายาคติในสังคม ที่เรียกร้องให้ผู้หญิงห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ในขณะที่ผู้ชายไม่ถูกห้าม ก็อาจเป็นการปลุกพลังให้ยิ่งคะนองว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่า สามารถทำอะไรก็ได้ เพราะสังคมไม่ถือสาเรื่องนี้กับเพศชาย ที่บ้าน กาญจนาฯ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ปลายน้ำ จึงมีหลักสูตร 'วิชาชีวิต' เป็นตัวช่วยให้เด็กกลับคืนสู่สังคม ด้วยความเชื่อที่ว่ามนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ผ่าน 8 กลุ่มสาระ ซึ่งความรับผิดชอบทางเพศก็เป็นหนึ่งในนั้น ผ่านกิจกรรม 'เลี้ยงไข่ต้ม' 1 ฟอง เป็นเวลา 8 วัน ที่เด็กต้องพก ไข่ต้มไปทุกที่ไม่ว่าไข่จะแตกตั้งแต่วันแรก หรือจะออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ กิจกรรม 'วิเคราะห์ข่าวเด็กกำพร้า' 'วิเคราะห์ข่าวพ่อฆ่าลูก' ก่อนที่จะไปที่บ้านเด็กกำพร้าปากเกร็ดและวิเคราะห์จดหมายที่น้องเด็กกำพร้าเขียนเอาไว้ว่า เขารู้สึกอย่างไร ต้องการจะสื่อสารอะไร และตัวเด็กเองพอได้อ่านแล้วรู้สึกอย่างไร ก่อนที่จะได้ไปสัมผัสเลี้ยงน้องๆ ที่บ้านเด็กกำพร้าปากเกร็ด เป็นกระบวนการเรียนรู้วิชาชีวิตเพื่อพัฒนาระบบความคิดและสร้าง พฤติกรรมให้มีจิตสำนึกรับผิดชอบ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องกระทำความผิดอีก
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ผู้ถูกกระทำจะลุกขึ้นมาส่งเสียงโดยปราศจากคำครหา และสังคมพร้อมที่จะเข้าใจและเป็นหูเป็นตาไม่ให้ผู้กระทำผิดลอยนวลหรือไม่ให้เกิดเหตุการณ์วนซ้ำเดิมก็จะดีที่สุด เพื่อที่อนาคตของคนๆ หนึ่งจะได้ไม่มืดมิดไปตลอดทางโดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้เลือกเส้นทางนี้ด้วยซ้ำ