คืนสู่เหย้า… ‘เด็กบ้านกาญจนาฯ’ สถานพินิจที่ให้ความรักดุจ’บ้าน’

 

คืนสู่เหย้า... 'เด็กบ้านกาญจนาฯ' สถานพินิจที่ให้ความรักดุจ'บ้าน'

ครั้งหนึ่ง สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษกเคยต้อนรับเยาวชน 2 คนที่มีเงื่อนไขชีวิตซึ่งขัดแย้งกันจนยากที่จะหาทางประนีประนอมได้

นั่นคือ “เล็ก” และ “ใหญ่” ซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน เนื่องจากเล็กเป็นคนสังหารพ่อของใหญ่

เจ้าหน้าที่ใน “บ้านกาญจนาฯ” พยายามกล่อมเกลาความคิดและจิตใจเยาวชนทั้งสอง ให้รู้จักการขอโทษและการให้อภัย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้น และในที่สุดก็สามารถทำได้สำเร็จ ทำให้ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้มาพบปะกันและได้มีโอกาสกล่าวคำขอโทษ ให้อภัยซึ่งกันและกัน

จากเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เกิด “วันสันติภาพ” ขึ้นที่บ้านกาญจนาฯ

วันที่คู่ความขัดแย้งจะได้มีโอกาสพบปะกัน ฝ่ายที่กระทำผิดได้กล่าวขอขมา และอีกฝ่ายรู้จักการให้อภัย กล่าวคือ เหยื่อสามารถปลดล็อกตัวเองออกจากความโกรธ เกลียดชัง และเคียดแค้น ขณะที่ผู้กระทำผิด รู้สึกว่าตัวเองได้ปลดปล่อยจากความรู้สึกผิดบาปที่คุกคามจิตใจตลอดมาเช่นกัน ซึ่งทำให้ทั้งสองสามารถใช้ชีวิตร่วมเป็นมิตรภาพเกิดสันติภาพที่แท้จริง

ที่บ้านกาญจนาฯ จะจัดให้มีงานเนื่องในวันสันติภาพขึ้นเป็นประจำทุกปี

ทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก เล่าให้ฟังว่า การจัดงานวันสันติภาพ มีจุดประสงค์เพื่อให้ลูกหลานที่ก้าวพลาดของเราได้รำลึกถึงเหยื่อ และเยียวยาความผิดให้กับตัวเอง โดยในภาคเช้าจะจัดงาน “คืนสู่เหย้า” ให้อดีตเยาวชนที่ได้รับอิสรภาพไปแล้วกลับมาเยี่ยมบ้าน กาญจนาภิเษก

กลับมาถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตหลังได้รับอิสรภาพให้แก่เยาวชนรุ่นปัจจุบัน

ทิชาเล่าต่อถึงกิจกรรมในช่วงค่ำที่เรียกว่า “พิธีกรรมล้างใจ” โดยบอกว่า จะเป็นพิธีกรรมที่ให้เยาวชนได้รำลึกถึงเหยื่อ ขอโทษเหยื่อจากใจจริง ด้วยความหวังว่าจะช่วยลบบาดแผลในใจของเยาวชน และใช้เวลาที่เหลืออยู่ ชำระความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณของตนเองที่ผิดบาปเพื่อก้าวสู่สังคมอีกครั้ง

เกี่ยวกับหน้าที่การงานในสถานพินิจ “ป้ามล” ของเด็กบ้านกาญจนาฯมีแนวคิดในการจัดการที่แตกต่างไปจากสถานพินิจอื่นๆ

ทิชาเล่าว่า สถานพินิจทั่วไปมักจะตีโจทย์ในการดูแลเด็กผิด เมื่อโจทย์ผิดก็ทำให้ตอบคำถามผิด ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงแย่กว่าเก่า สำหรับที่นี่ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องต้องอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าเด็กทุกคนแท้จริงแล้วเป็นคนดี มีด้านดี ต้องดึงเอาความดีในตัวพวกเขาออกมา ปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน ไม่ปิดกั้นเสรีภาพ และเชื่อว่าทุกคนต้องการโอกาสที่เหมือนกับเด็กทั่วไป 

จึงเป็นสาเหตุที่บ้านกาญจนาฯแห่งนี้ เลือกปลดสัญลักษณ์ทุกอย่างที่เหมือนคุกออกไปจนหมด เพราะต้องการสื่อแค่ความรู้สึกของคำว่า “บ้าน” และไม่ต้องการให้เด็กที่นี่รู้สึกโดนกักขัง

“ทุกครั้งที่มีเด็กเข้ามาในบ้านหลังนี้ ป้าจะกอดต้อนรับเขา ให้เขารู้สึกว่าเราเป็นครอบครัว ให้เขาได้ออกไปนั่งกินหมูกระทะตามร้านเพื่อให้เขารู้ว่าเราเชื่อใจและไว้ใจเขามาก  พวกเขาสามารถจะหนีได้ทุกเวลา เพียงแต่ป้าก็จะคุยกับเขาก่อนแล้วว่า การที่ปล่อยทุกคนออกมาเที่ยวเล่นข้างนอกแบบนี้ คนอื่นก็จะว่าป้า ว่าเห็นไหม เปิดโอกาสให้ลูกเสือลูกตะเข้หนีออกไป ตรงนี้เด็กๆ ต้องเลือกเองว่า อยากให้คนอื่นมองป้าเป็นอย่างไร” ทิชากล่าวนอกจากนี้ เยาวชนในบ้านกาญจนาฯ ยังมีโอกาสได้กลับบ้านทุกสัปดาห์ เพื่อได้หัดใช้ชีวิตที่เป็นอย่างปกติ ป้องกันอาการ “สำลักเสรีภาพ” และได้รู้จักการปรับตัว ก่อนจะออกไปเผชิญโลกความเป็นจริง

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกิจกรรมที่ “ป้ามล” ให้เด็กทุกคนในบ้านกาญจนาฯทำ คือการเขียนบันทึกประจำวัน เพื่อดูว่า เด็กๆ อยากจะบอกอะไร จะช่วยให้เข้าใจในตัวเด็กมากขึ้น เพราะในบันทึกบางครั้งพบว่า บางคนอยากจะขอโทษเหยื่อ อยากให้เหยื่อให้อภัยเช่นกัน

“เมื่อพบอย่างนี้ก็จะได้นำเด็กมาสู่พิธีกรรมล้างใจ เด็กจะได้ขอโทษเหยื่อของเขา ได้กลับมาเกิดเป็นคนใหม่อีกครั้ง ให้รู้ว่าสังคมยังพร้อมให้โอกาสเขาเสมอ นอกจากนี้ พวกเขาต้องวิเคราะห์ข่าว เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำไปแล้วผิดนะ ที่ต้องมาอยู่ที่นี่ก็เพื่อชดใช้ให้กับเหยื่อและญาติๆ ของเหยื่อ ซึ่งต้องให้ความยุติธรรมกับเหยื่อด้วย”

อีกสิ่งหนึ่งที่สถานพินิจแห่งนี้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ เจ้าหน้าที่จะไม่มีสิทธิไปละเมิดร่างกายของเด็ก นอกจากการกอด หากทำผิด ต้องใช้วิธีตัดคะแนน ในขณะที่หากเด็กมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันเอง ก็จะเชิญพ่อแม่เด็กมาอธิบายและรับทราบกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งในการเลิกพฤติกรรมเหล่านั้น เพราะเด็กจะเกิดความรู้สึกสงสารพ่อแม่ตามมา

ในงานคืนสู่เหย้าปีนี้ มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ศิษย์เก่า” ที่กลับมาเยี่ยมบ้านกาญจนาฯ

อัครพงษ์ บุญมี หรือ “กอล์ฟ” ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นผู้ประสานเยาวชน กรุงเทพมหานคร สำนักเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์

อัครพงษ์เล่าให้ฟังว่า เข้ามาอยู่บ้าน กาญจนาฯตอนอายุประมาณ 18-19 ปี อยู่ ปีกว่าๆ โดยเป็นเด็กรุ่นแรกที่ย้ายมาจากสถานพินิจ จ.ราชบุรี ตอนนั้นคิดเพียงว่าหากย้ายมาแล้ว จะทำให้แม่ที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯมาเยี่ยมได้สะดวกขึ้น ประกอบกับการมีคดีโทษหลายปี ทางสถานพินิจที่ จ.ราชบุรี เห็นว่าหากอยู่ที่นั่นอาจจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพล จึงจับย้ายมาอยู่บ้านกาญจนาฯ

“ตอนนั้นคิดทันทีว่าอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็หนี” อัครพงษ์บอกก่อนเผยยิ้ม ก่อนจะเล่าต่อว่า..

“ความรู้สึกผมเปลี่ยนไป จากที่เคยคิดว่าต้องมีเกราะคุ้มกันตัวเอง เพราะเห็นจากที่อื่นมักมีการกดขี่ข่มเหงจากเด็กภายในด้วยกัน แต่เพราะความอบอุ่น ความไว้เนื้อเชื่อใจแบบที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ทำให้เราได้ทบทวนสิ่งต่างๆ อีกครั้ง เกราะกำบังที่เคยมีจึงค่อยๆ สลายไป เลยไม่มีความคิดที่จะหนี เพราะที่นี่เป็นยิ่งกว่าสถานพินิจ เป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่ง ขนาดเมื่อได้รับการปล่อยตัวออกไปแล้ว ก็ยังกลับมาเยี่ยมที่นี่บ่อยๆ” อัครพงษ์กล่าว “ศิษย์เก่า” คนนี้ บอกว่า บ้านกาญจนาฯแตกต่างจากสถานพินิจอื่น ตรงที่เป็นบ้านแห่งความรัก มีความอบอุ่น ซึ่งที่อื่นเทียบไม่ได้เลย ที่นี่ไม่มีการแบ่งแยกว่าใครฆ่าคนตาย ใครลักขโมย ใครติดยา แต่ทุกคนนับเป็นศูนย์ ทุกคนใหม่หมดเลย ดีใจที่มีสถานที่แบบนี้ ที่ซึ่งสอนให้เชื่อว่าทุกคนมีสัญชาตญาณดีอยู่ในตัว อยู่ที่เราจะเลือกดึงออกมาหรือไม่

ด้าน สิบโท เจษฎา อัฐรัตนเสนา หรือ “เจษฎร์” ซึ่งนับเป็นศิษย์เก่ารุ่นแรก ปัจจุบันเป็นทหารเฉพาะกิจ หน่วยนราธิวาสสีสาคร ที่ได้เผยความรู้สึกว่า ในขณะที่ได้อาศัยอยู่ในบ้านกาญจนาฯนั้น ถือว่าเป็นเด็กที่ค่อนข้างแสบพอสมควร เพราะพยายามจะไม่ปฏิบัติตามกฎทุกข้อที่บ้านกาญจนาฯวางไว้ ทำให้ถูกส่งตัวไปอยู่ที่บ้านอุเบกขาต่อประมาณ 3 เดือน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านในจังหวัดเชียงราย ก็ยังถูกต่อว่าจากสังคม ว่าเป็นเด็กไม่ดี จึงใช้สิ่งนี้เป็นแรงกดดันให้พยายามลบคำสบประมาทเหล่านั้น

แต่การที่มีประวัติไม่ดีออกจากสถานพินิจ ทำให้คนทั่วไปมองไม่ดี เช่น อยากจะเป็นทหารมาก แต่ไปสมัครเท่าไหร่ก็ไม่รับ

ใช้เวลาเกือบ 2 ปี กว่าที่เจษฎาจะประสบความสำเร็จ สามารถสมัครเข้าเป็นทหารได้ และตอนนี้เองที่ทำให้เขารู้ซึ้งถึงสิ่งที่เจ้าหน้าที่บ้านกาญจนาฯ เพียรทำให้

“ผมกลับมาบ้านกาญจนาฯเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และแสดงออกให้ครู และเจ้าหน้าที่ในบ้านฯได้ภูมิใจว่า สุดท้ายแล้วผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ทั้งนี้ ยังฝากให้ทุกคนรู้จักคิดให้รอบคอบก่อนจะทำอะไร และหากพลาดไปแล้วก็อย่าท้อ จงใช้คำดูถูกจากคนรอบข้างเป็นแรงผลักดันในการลุกขึ้นสู้ต่อไป อย่างที่ บ้านกาญจนาฯ เชื่อว่าเด็กทุกคนมีด้านดีอยู่ในตัว” สิบโท เจษฎากล่าวเพราะเหตุนี้กิจกรรมใน “วันสันติภาพ” ของบ้านกาญจนาฯ จึงมีแต่ความประทับใจ

เป็นสถานพินิจที่เจ้าหน้าที่ทุกคน มอบความรัก ความอบอุ่นให้กับเยาวชน สมกับคำว่า “บ้าน” ที่แท้จริง

พิสูจน์ได้จากกิจกรรม “คืนสู่เหย้า” ของแต่ละปี ที่แม้เยาวชนจะพ้นโทษออกไปใช้ชีวิตอย่างเสรีแล้ว ก็ยังคงคิดถึง และกลับมาเยี่ยมสถานพินิจแห่งนี้เป็นจำนวนมาก

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน  

Shares:
QR Code :
QR Code