คืนสุขให้สังคม พลังเพลง พลังปัญญา

          การแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น ผู้ให้ย่อมได้รับความสุขเช่นกัน!!! ตรรกะง่ายๆที่น้องๆกลุ่ม “พลังเพลง พลังปัญญา” จากโครงการดนตรีเพื่อการเรียนรู้ ได้ซึมซับและเกิดความสุขเล็กๆเบ่งบานขึ้นในหัวใจ


คืนสุขให้สังคม พลังเพลง พลังปัญญา thaihealth


          หลังน้องๆนิสิต นักศึกษาเหล่านี้ได้รวมกลุ่มคนวัยมันส์ที่มีดนตรีในหัวใจ ฟอร์มทีมวงดนตรีขึ้นมา และได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 15 วง ในนาม Triple H Music โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ด้วยการลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนจากชุมชนในประเด็นต่างๆที่เป็นปัญหาทางสังคม และนำมา รังสรรค์เป็นบทเพลง


          น้องๆแต่ละวงต่างแยกย้ายกันลงพื้นที่ตามความสนใจ ซึ่งมีทั้งตะลุยชุมชนริมทางรถไฟ ถนนจิระ จ.นครราชสีมา เพื่อศึกษาปัญหาการถูกไล่ที่ของชาวบ้านริมทางรถไฟ การบุกบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ จ.แพร่ เพื่อศึกษาประเด็นการต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือการลงพื้นที่บ้านเขาเขียว อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เพื่อศึกษาประเด็นผลกระทบจากเหมืองแร่ และอีกหลายเคสที่น่าสนใจ


          จากนั้นก็นำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากชุมชนต่างๆ กลั่นเป็นบทเพลง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสภาพสังคมในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งยังสร้างเสริมกำลังใจคืนกลับสู่ชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมจิตอาสาทั้งที่เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม และการสร้างความบันเทิง ด้วยการเล่นดนตรีให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้พิการ และผู้ป่วย ด้วยการใช้ดนตรีบำบัด ที่หวังให้คนเหล่านี้สามารถยืนหยัดอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีความสุข


           เริ่มจาก เฉื่อย…รัชพงศ์ โอชาพงศ์ ผู้จัดการโครงการดนตรีเพื่อการเรียนรู้ “พลังเพลง พลังปัญญา” อาสาเปิดประเด็นว่า “โครงการนี้คล้ายๆกับการประกวดดนตรี แต่เรามีหลักคิดที่แตกต่างจากการประกวดทั่วไปคือ นอกจากจะฝึกทักษะดนตรีและการแต่งเพลงแล้ว เราต้องการพาเยาวชนไปเรียนรู้โลกกว้าง และเรื่องจริงของสังคม โดยให้กลุ่มนักดนตรีเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ 15 วง เลือกประเด็นสังคมที่แต่ละกลุ่มสนใจจากนั้นก็นำประสบการณ์ที่ได้มาสังเคราะห์ผลิตเป็นผลงานเพลง ซึ่งเป็นการสร้างความสุขทางปัญญานอกเหนือไปจากเพลงส่วนใหญ่ที่มักเน้นเรื่องอารมณ์ความรักเพียงอย่างเดียว”


     คืนสุขให้สังคม พลังเพลง พลังปัญญา thaihealth     นุ๊ก…ฐิติพันธ์ จิวรรจนะศิริ นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาชิกวง Hardware รับช่วงสานต่อว่า “การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้มีโอกาสรับรู้ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของสังคม จากการลงพื้นที่ไปพูดคุยถึงสภาพปัญหาของชาวบ้านชุมชนเสาชิงช้า พบว่าคนแถวนั้นต้องอยู่กันอย่างแออัด มีคนจร และพลัดถิ่นไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาครอบครัวแตกแยก ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการช่วยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ทราบถึงปัญหาเราก็นำมาถอดบทเรียนแต่งเพลงชื่อว่าทางเลือก เนื้อหาสื่อให้เห็นว่า คนในชุมชนยังมีปัญหาอีกมาก ซึ่งแม้ว่าคนเหล่านั้นไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่สามารถที่จะเลือกหนทางในการสู้ชีวิตต่อไปได้ จากนั้นพวกเราก็กลับไปเล่นดนตรีให้ชาวบ้านได้มีกำลังใจในชีวิต และอย่าท้อแท้ สิ่งที่พวกเราดีใจ คือ ได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน ได้มอบความสุขจากการเล่นดนตรีของพวกเราให้กับคนเหล่านี้”


          ขณะที่ โอเป็ก…พฤทธ์ พลเยี่ยม นิสิตชั้นปี 3 คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสารคาม หนึ่งในสมาชิกวง NEFHOLE ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบอกว่า “ส่วนของผมลงพื้นที่ชุมชนทางรถไฟ ถนนจิระ จ.นครราชสีมา ที่มีปัญหาไล่ที่อยู่อาศัย ได้เห็นประเด็นความทุกข์ของความไม่แน่นอนในชีวิตประสบการณ์จริงได้สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดเป็นเพลงยังไม่มี ซึ่งมาจาก การตั้งคำถามถึงสาเหตุปัญหา มากไปกว่าการจะเชื่ออะไรเท่าที่เห็นหรือตัดสินใจด้วยอารมณ์ และเข้าใจโลกตามความเป็นจริง และแปรมาเป็นพลังในการสร้างจิตอาสา ที่อยากจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเมื่อมีโอกาส”


          แชมป์…จักรพันธ์ ทองลาด นักศึกษาปี 4 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สมาชิกวง SINCE 1992 เล่าว่า “ทีมเราแต่ง เพลงสักทองผืนสุดท้าย หลังร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่แก่งเสือเต้น จ.แพร่ โดยศึกษาธรรมชาติและ เรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเรื่องราวที่เราถ่ายทอดคือสิ่งที่ต้องรักษาไม่ใช่แค่ป่าแต่ยังรวมถึงชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนด้วย และเราได้นำเรื่องราวเหล่านี้กลับมาจัดนิทรรศการให้เพื่อนๆที่มหาวิทยาลัยได้รับรู้ด้วย


          ปิดท้ายด้วย โอม…ธีราทร สุจริต นักศึกษาปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาชิกวง NOT WEST ฉีกยิ้มก่อนเล่าว่า “วงของผมทำ เพลงชื่อสิ่งสำคัญ เพราะได้เห็นกำลังใจของผู้พิการที่แม้จะมีร่างกายไม่ดีแต่มีกำลังใจจะต่อสู้ชีวิต จากการลงพื้นที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด (บ้านนนทภูมิ) เพลงจึงเป็นสื่อที่สะท้อนถึงการทำชีวิตให้ดีไม่ท้อแท้อะไรง่ายๆ ซึ่งผมหวังว่าเพลงที่ทำขึ้นนี้จะช่วยเป็นกำลังใจให้กับคนอื่นๆที่สิ้นหวังได้ ที่สำคัญคือหากสามารถนำดนตรีมาสะท้อนให้คนในสังคมรับฟังปัญหาที่ไม่ค่อยมีใครสนใจได้ถือเป็นความภูมิใจของนักดนตรีสมัครเล่นอย่างพวกเรา”


          ปมสังคมที่น้องๆสะท้อนผ่านบทเพลงเหล่านี้ จะถูกรวมอยู่ในอัลบั้ม SOUND OF SILENCE ที่พวกเขานิยามว่าเป็นบทเพลงจาก “เสียงแห่งความเงียบ” เปรียบได้กับความทุกข์ของคนตัวเล็กๆในสังคม ที่คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจ หากใครสนใจอยากฟังผลงานเพลงดีๆเหล่านี้ติดต่อได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Triple H music


          แม้จะเป็นแค่เสียงแห่งความเงียบอย่างที่น้องๆนิยาม แต่ “นิสิตา” เชื่อว่า “พลังเพลง พลังปัญญา” จากดนตรีก็คืนความสุขให้กับสังคมได้ไม่น้อย


 


 


       ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ


       ภาพประกอบจากTriple H Music

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ