คืนความรู้สู่ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นเดือนแห่งความรักหลายหน่วยงานเลือกจัดกิจกรรม และพูดคุยเรื่องความรักในเดือนนี้กันอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกันกับการจัดการประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 2 ในหัวข้อ เซ็กส์เปิดในวัยรุ่น:เปิดพื้นที่เพิ่มความฉลาดรู้เรื่องเพศ
เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนและความรู้จากเครือข่ายการทำงานสู่การพัฒนานโยบายและมาตรการในการดำเนินงานลดปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น เลือกเดือนนี้เปิดเวทีประชุมวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 5 หน่วยงานตามหลัก พ.ร.บ.การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวง แรงงาน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA Unicef) และเครือข่ายเยาวชนจัดขึ้น
ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่าในปี 2558 มีจำนวนหญิงคลอดบุตรวัย 10-19 ปี จำนวน 104,289 คน หรือเฉลี่ยวันละ 286 คน คิดเป็นอัตราสูงถึงร้อยละ 15 ของการคลอดทั้งหมด หรือเท่ากับวัยรุ่นหญิงไทยทุก 1,000 คน จะมีวัยรุ่นที่คลอดลูก 43 คน นอกจากนี้ยังพบปัญหาและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การทอดทิ้งทารก และคุณภาพของประชากรที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ประเด็นเมื่อท้องไม่พร้อมแล้วต้องการทำแท้งทางเลือกยังคลุมเครือในสังคมไทย เวทีการประชุมได้มีหัวข้อการประชุมเรื่อง "การทำแท้งที่ปลอดภัย ทางเลือกของผู้หญิง"
"ผู้หญิงท้องไม่พร้อม สิ่งแรกที่นึกถึงคือการทำแท้ง แต่ในความเป็นจริงหากเขาประสบปัญหา เมื่อมีคนให้คำปรึกษา มีคนเข้าใจเขา พร้อมบอกว่าชีวิตมีทางเลือกอะไรบ้างทั้งหมดไม่ได้เลือกที่จะทำแท้ง แต่มีหลายกรณีมากที่เลือกทำแท้งแล้ว เนื่องจากคุยกับใครไม่ได้ ทำให้ปัญหาไม่มีทางออกเมื่อไม่มีทางออกก็พยายามหาทางแก้ไขด้วยตัวเอง คือนึกถึงการทำแท้งเพียงอย่างเดียว" จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ฉายภาพให้เห็นความรู้สึกของผู้หญิงเมื่อท้องไม่พร้อม ขาดข้อมูลทางเลือกของการที่จะตั้งครรภ์ต่อ
ท้องไม่พร้อมหากตั้งครรภ์ต่อมีข้อมูลทางเลือก ทั้งคลอดลูกแล้วสามารถให้หน่วยงานรัฐ องค์กรไม่แสวงหากำไรรับลูกไปดูแล แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมาเยี่ยมลูก เมื่อเรียนหนังสือจบมีงานแล้วมารับลูกกลับไปได้ บริการในลักษณะครอบครัวอุปถัมภ์ชั่วคราว ซึ่งสหทัยมูลนิธิทำหน้าที่ตรงนี้ หรือจะยกลูกให้เป็นบุตรบุญธรรม กรณีมีเงื่อนไขเชิงลึกลงไปพ่อแม่รู้ไม่ได้ว่าท้องเพราะเรียนหนังสืออยู่ เหล่านี้มีทางออกให้หน่วยงานให้คำปรึกษาจะช่วยทั้งเจรจาและรักษาความลับ ระหว่างรอคลอดเด็กเข้าไปใช้บริการ "บ้านพักเด็กและครอบครัว" ปัจจุบันมีอยู่ทุกจังหวัด เมื่อได้ข้อมูลรอบด้านแต่ยืนกรานที่จะทำแท้ง รัฐก็มีระบบการทำแท้งที่ปลอดภัยบริการให้ซึ่งมีทั้งระบบการทำแท้งในรพ.รัฐ และโรงพยาบาลเอกชน
"สุดท้าย ที่สังคมไทยยังเข้าใจว่าการทำแท้งผิดกฎหมายทุกกรณี แต่ตามมาตรา 301 ถึง 305 อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ในกรณี ที่เกิดผลกระทบกับมารดา และแพทยสภาเองได้ตีความว่า มีผลต่อสุขภาพของผู้หญิงรวมถึงสุขภาพจิต เรื่องเงื่อนไขปัจจัยทางสังคม ซึ่งเป็นแบบนี้" จิตติมา กล่าวและว่า ทุกวันนี้พยายามเปิดแต่เอาเข้าจริง หน่วยงานที่รับฟังไม่ฟังเด็กที่ประสบปัญหา พอเด็กบอกว่าจะทำแท้งผู้ให้คำปรึกษารีบกระโจนใส่ไปว่า อย่าทำเลยมันไม่ดี เลยทำให้บริการให้คำปรึกษาไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อหน่วยบริการให้คำปรึกษาบกพร่อง ผู้หญิงจึงหาช่องทางด้วยการทำแท้งเถื่อนไปซื้อยาในอินเทอร์เน็ต ราคาสูง เจอยาปลอม ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต
ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจ เรื่องสุขภาพผู้หญิง บอกว่าการทำแท้งในโรงพยาบาลที่ถูกต้องในโลกมี 3 วิธี วิธีแรกคือหัตถการคือการขูดมดลูกต้องใช้หมอที่มีฝีมือมาก ปัจจุบันทั่วโลกเลิกใช้ไปนานแล้วเพราะไม่ปลอดภัย วิธีที่ 2 ใช้เครื่องช่วย เรียกว่าเครื่องดูดสุญญากาศ ดูดผนังมดลูกที่ก่อตัว ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และวิธี 3 มีความก้าวหน้าและมีความปลอดภัยสูงเรียกว่าการทำแท้งด้วยยา เมื่อทานเข้าไปมดลูกจะบีบตัวแล้วทำให้ภาวะฝังตัวของไข่กับอสุจิหลุดรอด เพราะฉะนั้นตอนนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขยับมาสูงมาก ซึ่งสามารถจะยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาได้ในประเทศรอบบ้านใช้วิธีนี้เยอะมาก
ในมิติการทำงานสุขภาพผู้หญิงมองว่านี่คือความก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่ผู้หญิงไทยยังต้องเจ็บป่วยจากการทำแท้งเถื่อนขณะที่เวียดนาม กัมพูชายังใช้ยาในการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งในเชิงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขึ้นทะเบียนยา ทำให้ยามีการใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์
ในนามของมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง จิตติมา มีข้อเสนอว่า กระบวนการให้ผู้หญิงมีทางเลือกอย่างปลอดภัย ต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำงานตามลำพังไม่ได้ และสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม 1300 ที่ให้คำปรึกษาต้องมีความรู้ความเข้าใจ และ มีระบบส่งต่อปัญหาแต่ละกรณี สังคม เลิกแก้ปัญหาจับเด็กแต่งงานเมื่อไม่พร้อมก็จะทิ้งลูกสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา ที่สำคัญชุมชนต้องร่วมเปลี่ยนทัศนคติอย่ามองเด็กที่ท้องไม่พร้อมในด้านลบว่าเป็นเด็กใจแตก