คำตอบจากเกษตรกรรุ่นใหม่ ทำเกษตรอินทรีย์แล้วดีอย่างไร?
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"จะทำได้หรือ???" เป็น "คำถาม" ซึ่ง "เกศ-ปลา-เก่ง" มักจะถูกถามจากคนรอบข้าง เมื่อมีหลายคนทราบถึง "ความฝัน" ของพวกเขาพวกเธอ แน่นอนว่าหากพิจารณาถึงหน้าที่การงานที่ทั้ง 3 คนทำอยู่ ซึ่งเป็นอาชีพประจำที่ดูดีและมีรายได้ที่มั่นคง จึงไม่แปลกใจที่หลายคนจะรู้สึกแปลกใจที่พวกเขาจะตัดสินใจลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงทางเดินชีวิตของตัวเองครั้งใหญ่ในเส้นทาง "เกษตรกรอาชีพ"ที่วันนี้ "ทีมวิถีชีวิต" จะพาไปเลาะคันคลองริมเรือกสวนเพื่อพูดคุยกับทั้ง 3 คนนี้…
"ถูกถามบ่อย ๆ ค่ะ มีทั้งคำถามเชิงเป็นห่วง และถึงขนาดออกจะขู่ ๆ ให้กลัวก็มี" เสียงจาก เกศ- ศรีจุฑา วีรวงศ์ สาวออฟฟิศที่มีตำแหน่งเป็นถึงเลขานุการขององคมนตรี บอกเรื่องนี้กับเรา ขณะที่ เก่ง-บัณฑิต เกิดมณี หนุ่มวิศวกรดีกรีปริญญาโท และ ปลา-ภีรดา ศรีสาหร่า สาวนักจิตวิทยา ยิ้มให้กับคำตอบที่เพื่อนของเธอบอกให้เราฟัง ทั้งนี้ เกศ เก่ง และปลา ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่หลายคนมองว่า มีอนาคตไกล และมีโอกาส จะก้าวหน้าในสายงานที่ทำอยู่ ดังนั้นจึงอดที่จะประหลาดใจไม่ได้ว่า เมื่อรู้ว่าทั้ง 3 คนต่างก็ตัดสินใจ ลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเริ่มต้นทำอาชีพเกษตรกรแบบนี้
เกศ-ศรีจุฑา อายุ 38 ปี อดีตเลขานุการ ที่ตัดสินใจเปลี่ยนทางเดินชีวิต ด้วยการหันมายึดอาชีพเกษตรกร โดยมีสวนของตัวเองชื่อ "สวนใส่ใจ" เล่าว่า อาชีพเกษตรกรเป็นอีกอาชีพที่เธอและสามีฝันอยากจะทำมานานแล้ว โดยเส้นทางเธอนั้น เกศเล่าให้ฟังว่า หลังเรียนจบจากคณะสังคมศาสตร์ สาขาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้เกียรตินิยมอันดับ 2 เธอก็เริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ก่อนจะได้รับโอกาสให้มาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำองคมนตรี คือ ฯพณฯ พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ โดยทำงานเป็นเลขานุการอยู่ 5 ปี ก่อนที่จะเธอตัดสินใจ ลาออกมาทำหน้าที่แม่บ้านดูแลลูกทั้ง 3 คนของเธอ อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะหันมาทำอาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัว เธอก็ทำมาแล้วหลายอาชีพ เช่น เป็นแม่ค้าออนไลน์, รับทำเว็บไซต์, เป็นนักเขียนให้นิตยสาร และทำขนมเบเกอรี่ขาย เป็นต้น
จุดเปลี่ยนที่ทำให้สนใจในการทำเกษตรนั้น เธอบอกว่า เนื่องจากคุณแม่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 ทำให้ช่วงนั้นต้องคอยดูแลสุขภาพของคุณแม่ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ทำให้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับอาหารออร์แกนิก แต่ดูแลคุณแม่ได้เพียงไม่นานคุณแม่ก็เสียชีวิตลง อย่างไรก็ตาม แต่การจากไปของคุณแม่ได้ทำให้เธอคิดว่า การดูแลสุขภาพตั้งแต่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่เป็นเรื่องสำคัญทำให้เธอต้องการจะให้ลูก ๆ ได้ทานอาหารที่ปลอดภัย จึงหันมาศึกษาเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ โดยมีสามีซึ่งทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นคนสนับสนุน
"ตั้งใจทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่แรก เพราะไลฟ์สไตล์ครอบครัวชอบแบบนี้อยู่แล้ว เราเริ่มจากปลูกในสิ่งที่ชอบก่อนเลย โดยปลูกต้นมะเดื่อฝรั่งในที่ดินมรดกของสามี ที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ตอนนั้นหวังไว้แค่ให้ต้นไม้ที่ปลูกเติบโตเป็นร่มเงาเป็นที่พักผ่อนของครอบครัวในอนาคต แต่ด้วยความที่ไม่เคยปลูกอะไร ก็ต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูกอยู่นาน จากนั้นจึงสลับไปปลูกอย่างอื่นบ้าง เช่น พืชผักที่ลูก ๆ ชอบกิน ทั้งผักพื้นบ้าน ผักสลัด ผสมผสานกันไป โดยผักที่ลงมือปลูกทุกชนิด จะปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด โดยสามีเป็นคนหาข้อมูล ส่วนเราจะเป็นคนลงมือ"
เกศ บอกว่า ไม่ได้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ตามกระแส แต่ที่ทำเพราะอยากให้ครอบครัวได้ทานอาหารที่ปลอดภัย และที่สำคัญสวนแห่งนี้ของเธอยังทำหน้าที่เป็น "สนามเด็กเล่น" และเป็น "ห้องเรียนธรรมชาติ" ที่สอนวิชาชีวิตให้กับลูก ๆ ได้เป็นอย่างดี และสำหรับ "อาชีพเกษตรกร" นั้น เกศ บอกว่า งานทำสวนคืออาชีพอย่างหนึ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้ตลอดเวลาไม่ต่างจากการทำธุรกิจ เพราะมีเรื่องให้ต้องคิด ต้องแก้ปัญหาตลอดเวลา สำหรับผลผลิตจากสวน เกศบอกว่า จะนำมาแปรรูปเป็นขนมเบเกอรี่หรือไม่ก็นำมาทำสลัด โดยส่วนหนึ่งจะนำไปขายตามตลาดในพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ เธอจะชวนลูก ๆ ให้มาช่วยขายที่ตลาดสุขใจ จ.นครปฐม ซึ่งที่นี่เองทำให้เธอได้รู้จักกับ "สามพรานโมเดล"
ขณะที่เกษตรกรคนรุ่นใหม่อีกคน อย่าง เก่ง-บัณฑิต วัย 38 ปี อดีตวิศวกรไฟฟ้า ที่ตัดสินใจทิ้งตำแหน่งผู้จัดการบริษัทเอกชน และเงินเดือนเป็นแสน เพื่อกลับมาสานต่ออาชีพเกษตรกรของครอบครัว โดยเขามีสวนชื่อ "สวนลุงประกฤติ" ที่เน้นการปลูก ผลไม้อินทรีย์ ได้เล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ เขาก็เห็นพ่อแม่ทำอาชีพเกษตรกรนี้อยู่แล้วแต่เป็นการเพาะปลูกโดยการใช้สารเคมี ซึ่งตอนเป็นเด็กช่วงวันหยุดเขาก็มีโอกาสได้ช่วยงานในสวนบ้างแต่ไม่ได้จริงจัง ซึ่งเมื่อเรียนจบเขาก็เลือกไปทำงานประจำ และไม่ได้กลับมาช่วยงานครอบครัวอีกเลย เพราะตอนนั้นมุ่งมั่นที่จะทำงานประจำ จนเขาสามารถไต่เต้าขึ้นไปเป็นพนักงานระดับสูงของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีตำแหน่งใหญ่โต มีเงินเดือนมากมาย แต่เมื่อเขาทำงานไปได้สักพัก เขากลับรู้สึกไม่มีความสุข เพราะรู้สึกว่าชีวิตในเมืองวุ่นวาย จนกลับมานั่งทบทวนถึง "เป้าหมายชีวิต" ของตัวเองอีกครั้ง
"มันเป็นความเบื่อที่สะสมมาเรื่อย ๆ จนทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนว่า เราน่าจะอิ่มตัวกับงานประจำแล้ว ประกอบกับช่วงนั้นคุณพ่อไม่สบาย เนื่องจากมีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐาน ทำให้คุณแม่ต้องรับภาระคนเดียวในการดูแลสวนของครอบครัว โดยที่มีหนี้สินก้อนโตค้ำคออยู่ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมก้าวออกมาจากงานประจำโดยไม่ลังเลเลย ซึ่งวันที่ตัดสินใจลาออก ผมเก็บกระเป๋ากลับบ้านไปหาครอบครัววันนั้นเลย"
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเติบโตมาในครอบครัวชาวสวน แต่ด้วยความที่เขาไม่เคยลงมือทำอย่างจริงจัง เก่ง ก็ยอมรับว่า ก้าวแรกของเขาจึงไม่ง่าย ทั้งนี้ เก่งบอกว่า ก่อนหน้าที่จะรู้ว่าคุณพ่อป่วย เขาก็เคยได้ศึกษาเรื่องการตลาด และหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์มาระดับหนึ่งเหมือนกัน เพราะเห็นว่าผู้คนปัจจุบันเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันเพิ่มขึ้น
"ยอมรับว่ายากมาก เพราะเราไม่เคยเรียนรู้เรื่องการทำสวนทำไร่อะไรพวกนี้เลย เพราะเวลาที่กลับมาบ้าน เราก็แค่ช่วยหยิบจับโน่นนี่ แต่ไม่เคยลงลึกจริงจังแต่อย่างใด นอกจากนั้น ตอนที่กลับมาทำสวนใหม่ ๆ ก็ยังมีปัญหาเรื่องของความคิดที่ไม่ตรงกัน ระหว่างผมกับคุณพ่อ แต่ก็ค่อย ๆ จูนเข้าหากัน เช่น ผมช่วยในส่วนที่คุณพ่อไม่ถนัด เช่น ความรู้ด้านเทคนิคการจัดการแปลง และช่องทางการตลาด ส่วนคุณพ่อก็ทำในสิ่งที่ท่านถนัดไป" เขาบอกเราถึงเรื่องนี้
อดีตวิศวกร ที่หันมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวอย่าง เก่ง ยังเล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากที่คุณพ่อได้เลิกทำเกษตรที่ใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด และหันมาทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ช่วงแรกก็ประสบปัญหาเรื่องช่องทางการตลาด เพราะผลผลิตส่วนใหญ่หน้าตาไม่ค่อยสวยงาม ทำให้ถูกกดราคา จนเป็นเหตุผลให้คุณพ่อตัดสินใจเข้าร่วมเครือข่ายสามพรานโมเดล โดยผลผลิตของสวนจะขายให้กับโรงแรมสวนสามพราน โดยที่มีเกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาเอง นอกจากนั้นยังได้นำผลผลิตไปขายตรงให้กับผู้บริโภคที่ตลาดสุขใจช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งทำให้ครอบครัวเห็นความหวังจากเส้นทางเกษตรอินทรีย์นี้มากขึ้น
นอกจากนี้ทางสามพรานโมเดลยังพาออกบูธสุขใจสัญจรในกรุงเทพฯ ทำให้ผลไม้สวนลุงประกฤติกลายเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ครอบครัวเรามีรายได้เพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่กว่าจะก้าวข้ามเคมี มายืน ณ จุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เก่ง บอกว่า การพลิกฟื้นสวนผลไม้จากเคมีสู่อินทรีย์ต้องอาศัยความอดทน เพราะทุกอย่างจะต้องใช้เวลา ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้นไม้จะคุ้นชินกับการใช้ปุ๋ยเคมีมานาน หากหยุดใช้กะทันหัน ต้นไม้ก็อาจจะปรับตัวไม่ทัน และอาจล้มตายได้ ดังนั้นต้องค่อย ๆ ลดปริมาณลง เพื่อให้ต้นไม้สร้างภูมิคุ้มกันเสียก่อน
"ผมอยากบอกกับคนที่สนใจหรือกำลังคิดทำเกษตรอินทรีย์แบบนี้ว่า การทำเกษตรอินทรีย์ ยิ่งทำนานวัน ตนทุนการปลูกก็จะยิ่งลดลง เพราะธรรมชาติเขาจะดูแลเกื้อหนุนกันเอง ผมกล้ายืนยันเรื่องนี้เพราะว่า กว่า 8 ปี ที่ผมหันมาทำเกษตรอินทรีย์ มันสร้างคุณค่าให้ครอบครัวผมมากมาย ทำให้ผมคิดว่าตัดสินใจไม่ผิดเลย ที่เลือกลาออกจากงาน แม้ตอนแรก ๆ คุณพ่อจะไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะเสียดายตำแหน่งผู้จัดการและเงินเดือนเป็นแสนของผม แต่วันนี้ทั้งคุณพ่อคุณแม่มีความสุขมากที่ผมเลือกทางนี้" เก่งบอกเรื่องนี้ พร้อมรอยยิ้ม
ด้าน ปลา-ภีรดา วัย 29 ปี อดีตนักจิตวิทยาที่ตัดสินใจเลือกครอบครัวมากกว่าความก้าวหน้าในอาชีพที่ได้ร่ำเรียนมา โดยเธอชักชวนสามีซึ่งเป็นวิศวกรโยธาให้ทิ้งเงินเดือนสูง ๆ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเธอตั้งใจไว้แล้วว่า เธอจะทำอาชีพเกษตกร เพราะทางครอบครัวของสามี ก็ทำอาชีพนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
"ชีวิตงานประจำ ถึงมีเงินเดือนสูงแต่ไม่มีอิสระเลย ตื่นเช้ามาก็ต้องแข่งขันกับเวลา รีบอาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน ตกเย็นก็กลับมาอยู่คนเดียว เพราะแฟนทำงานอยู่คนละจังหวัด ต่างคนต่างทำงานจนแทบไม่ได้เจอกัน ทำให้มานั่งถามตัวเองว่า ชีวิตแบบนี้เป็นชีวิตที่ต้องการจริงหรือ คำตอบก็คือไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ต้องการจริง ๆ คือครอบครัว และการได้อยู่กับคนที่เรารักมากกว่า ที่ผ่านมาเราต่างมุ่งหน้าหาเงิน เพื่อจะซื้อแต่ของที่เราคิดว่าน่าจะทำให้มีความสุขได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยเติมความสุขที่ขาดหายไปได้เลย จนเราบอกกับตัวเองว่า ไม่เอาแล้วชีวิตแบบนี้ ก็เลยชวนสามีลาออกจากงานเพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งพอหลายคนรู้ก็ตกใจ และบอกว่าให้เราคิดใหม่ เพราะกลัวเราจะไปไม่รอด แต่เราตัดสินใจไปแล้วว่าจะไม่ถอยหลัง" ปลาบอกเรา
ทั้งนี้ ปลาเล่าให้ฟังอีกว่า เริ่มแรกที่หันมาทำอาชีพเกษตรกรนี้ เธอเลือกปลูกต้นอ่อนทานตะวันก่อน เพราะปลูกง่าย รายได้ดี และใช้พื้นที่ไม่มาก เมื่อได้ผลผลิตก็จะนำไปขายที่หน้าร้านของคุณแม่สามี ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อย่างไรก็ตาม แต่ต่อมาคุณพ่อของสามีมาเสียชีวิตกะทันหัน และคุณแม่ของสามีเองก็เริ่มมีปัญหาสุขภาพ จุดนี้จึงทำให้เธอและสามีตัดสินใจเข้ามารับช่วงดูแล "ไร่รวงข้าวภูตะวัน" ของครอบครัวต่อ ซึ่งที่ก่อนหน้าที่จะเข้ามารับช่วง ไร่แห่งนี้ก็ทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว
"คุณแม่สามีย้ำเสมอว่า อย่าเอาเปรียบใคร อย่าทำให้ใครเดือดร้อน โดยอาชีพนี้เป็นอีกทางที่ทำให้เราได้สร้างบุญ เพราะการที่เราผลิตอาหารที่ปลอดภัย ก็ถือเป็นการส่งมอบสุขภาพดีให้กับผู้คนนั่นเอง" เธอบอก พร้อมแววตาภูมิใจ
ปลา บอกอีกว่า ที่ไร่ของเธอจะแบ่งเป็นโซนอย่างชัดเจน คือพื้นที่ 3 ไร่จะปลูกป่า ส่วนที่เหลือจะปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยผลผลิตที่ได้จะส่งเข้าห้องครัวของโรงแรมสวนสามพราน และแบ่งไปขายที่ตลาดนัดสุขใจและตลาดวิถีธรรมชาติ จ.ราชบุรี ขณะที่ผลผลิตที่เหลือจะขายส่งไปกรุงเทพฯ ผ่านวิสาหกิจเพื่อสังคม และร้านสุขใจออร์แกนิก นอกจากนั้นก็นำไปส่งลูกค้าด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ปลา ย้ำกับเราว่า จากวันที่เดินออกมาจากงานประจำ และหันมาจับจอบจับเสียมนับรวมถึงตอนนี้ก็ 3 ปี
"การที่เราได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว การที่เราได้ตื่นเช้ามาทำอาหารให้ลูก ๆ ทานทุกวัน หรือมีเวลาพาครอบครัวไปเที่ยว ได้นั่งคุยกัน มันตอบโจทย์ชีวิตเราได้อย่างดี ทำให้เราคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมาย ก็หาความสุขให้ชีวิตได้ ซึ่งคำสอนของคุณแม่ของสามีที่สอนเรา และเราก็ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด ก็คือ ท่านสอนให้เราใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถ้าเราทำได้ ไม่มีทางที่ความทุกข์จะย่างกรายเข้ามาแน่นอน" เธอบอกกับเราเรื่องนี้
นี่เป็นแนวคิดและวิถีชีวิตของ "กลุ่มคนรุ่นใหม่" ที่ "กล้าเปลี่ยนชีวิต" จากเส้นทางเดิม ๆ ของพวกเขา เพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ใน "วิถีเกษตรอินทรีย์-วิถีเกษตรธรรมชาติ" ที่แม้ก้าวแรกของแต่ละคนจะไม่ง่าย แต่ถ้าหากใจไม่ท้อ และเชื่อมั่นในแนวทางนี้ โอกาสที่จะวิ่งเข้าสู่เส้นชัยได้ก็เป็นไปได้ อย่างเช่นที่ "เกศ-เก่ง-ปลา" ได้พิสูจน์ให้เห็นกันแล้วว่า…ทุกอย่างเป็นไปได้…ถ้าตั้งใจยกระดับ…ชีวิตเกษตรกร
แนวคิดในการก่อตั้ง "สามพรานโมเดล" เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2553 หลังจากสวนสามพรานได้เริ่มสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.นครปฐม และจังหวัดข้างเคียง หันมาทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้โครงการสามพรานโมเดล ซึ่งขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ด้วยทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุน-สนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่ต้องเผชิญกับการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ขณะเดียวกันก็ยังต้องการแก้ปัญหาเรื่องการใช้สารเคมี และต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรไปพร้อมกันด้วย โดยโครงการจะหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ให้เกษตรกร เพื่อให้เกิดการเชื่อมตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ผ่านห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์บนพื้นฐานของธุรกิจที่เป็นธรรม