คาเฟอีนในชาพร้อมดื่ม ไม่ต่างจากเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน
ปริมาณคาเฟอีนในชาพร้อมดื่ม ไม่ต่างกับเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน ย้ำต้องแสดงคำเตือน “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน” บนฉลาก และเข้มงวดเรื่องการควบคุมโฆษณา แบบเดียวกับเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน
นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชนภายใต้การสนับสนุนของแผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยข้อมูลปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลของชาพร้อมดื่มในท้องตลาดจำนวน 23 ตัวอย่าง เปรียบเทียบกับ กาแฟพร้อมบริโภค และเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน
ผลการเปรียบเทียบฉลากอาหาร พบว่า เป็นสินค้าที่มีปริมาณคาเฟอีน ไม่ต่างกันกับเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน นอกจากนี้ยังมีน้ำตาลสูง ไม่เหมาะกับเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วย พร้อม วอนหน่วยงานรัฐ (อย.) ปรับกฎหมาย สร้างความเข้มงวด แบบเดียวกับเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน
นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ฯ กล่าวว่า จากกรณี เด็กหญิงวัย 14 เสียชีวิตหลังดื่มเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนยี่ห้อหนึ่ง และองค์การอาหารและยาสหรัฐ (ยูเอสเอฟดีเอ) กำลังสืบสวนการตาย 5 ศพที่อาจเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มยี่ห้อดังกล่าว และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาระบุว่าไม่พบการจำหน่ายในไทย พร้อมให้ข้อมูลการควบคุมเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนว่า มีการกำหนดปริมาณคาเฟอีนให้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมและมีการควบคุมฉลากโดยบังคับให้ต้องแสดงคำเตือน “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน” บนฉลาก และในเนื้อหาโฆษณาจากทุกสื่อ นั้น
ทางโครงการฯ ได้ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ ตรวจสอบข้อมูลปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลบนฉลากของชาพร้อมดื่ม จำนวน 13 ยี่ห้อ ควบคู่กับกาแฟพร้อมดื่มจำนวน 3 ยี่ห้อ และ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน อีก 3 ยี่ห้อ พบว่า มีปริมาณคาเฟอีนอยู่ระหว่าง 22 – 100 มิลลิกรัม/ขวดหรือกระป๋อง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ มีปริมาณใกล้เคียงหรือสูงกว่าเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน โดยมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่า 50 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีปริมาณน้ำตาลระหว่าง 12 – 100 กรัม คิดเป็นค่าเฉลี่ย 38 กรัม จาก 21 ตัวอย่าง (หักตัวอย่างที่เป็นแบบปราศจากน้ำตาลออก 2 ตัวอย่าง)
“ข้อมูลจากการเปรียบเทียบฉลากชาและกาแฟพร้อมดื่ม มีปริมาณคาเฟอีนในระดับที่ไม่ต่างกันกับปริมาณคาเฟอีนของเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน ดังนั้น อย.ควรที่จะมีการควบคุมโดยการแสดงคำเตือนแบบเดียวกันทั้งบนฉลากและในเนื้อหาโฆษณาอันเป็นการบังคับให้แสดงข้อมูลที่เป็นจริงของผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วน ป้องกันผู้บริโภคไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในผลิตภัณฑ์ และลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้บริโภคที่อาจเกิดจากการบริโภคมากเกินไปอีกด้วย” นายพชรกล่าว
นายพชร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ อย.ยังเตือนว่า เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน ไม่เหมาะสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ คนที่เป็นโรคกระเพาะ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่จะดื่มเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนควรอ่านคำเตือนในฉลาก ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้เกิดปัญหาขึ้นกับผู้ดื่มได้
ที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค