คัด 108 หนังสือดีกระตุ้นการอ่าน
หลังพบเด็กกว่า 70% ไม่อ่านหนังสือ
“กศน.” จับมือ “สสส.” เปิดหน้าต่างโอกาสเด็กไทย คัด 108 หนังสือดี นำร่องสร้าง 5 มหานครแห่งการอ่าน ตั้งเป้า 5 หนังสือดี / 1 ครัวเรือน กระตุ้นหนอนหนังสือรุ่นเยาว์ หลังพบเด็กไม่อ่านหนังสือกว่า 70% ขณะที่ตลาดหนังสือดีสำหรับเด็กมีไม่ถึง 12% โดยเฉพาะหนังสือเด็กเล็ก 0-3 ปี สุดขาดแคลนมีแค่ 0.5%
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 ต.ค. ที่อาคารรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการ “หนังสือคัดสรร 108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย” โดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เดินทางเป็นประธานในพิธี พร้อมมอบโล่รางวัลแก่ 17 สำนักพิมพ์ ผู้จัดพิมพ์หนังสือที่ได้รับการคัดสรรเป็น 108 หนังสือดีสำหรับเด็กปฐมวัย พร้อมส่งมอบหนังสือ ให้แก่ 5 มหานครแห่งการอ่าน ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ลำปาง ฉะเชิงเทรา และขอนแก่น
นายชินวรณ์ กล่าวปาฐกถา “หนังสือดีสำหรับเด็กปฐมวัย : พลังจินตนาการใหม่สู่การเดินหน้าประเทศไทย” ว่า เด็กปฐมวัย ช่วงอายุ 0-6 ปี เป็นระยะของการพัฒนาทางสมองที่สำคัญ และเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ จึงร่วมกับ สสส. ส่งเสริมให้เกิด “นครแห่งการอ่าน” ขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายกิจกรรมการอ่านในพื้นที่ โดยเริ่มนำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ กศน.นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ลำปาง ฉะเชิงเทรา และขอนแก่น โดย กศน.แต่ละจังหวัดจะคัดสรร 108 หนังสือดี ที่เหมาะสมกับจังหวัด เพื่อกระจายไปยังครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัย ซึ่งจะได้รับหนังสือ จำนวน 5 เล่ม ต่อ 1 ครัวเรือน ตามข้อตกลงด้านพัฒนาการเด็กของยูนิเซฟ ที่กำหนดให้แต่ละครัวเรือนควรมีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม
“ปัจจุบันประเทศไทยมีหนังสือสำหรับเด็กโดยเฉลี่ยครัวเรือนละ 2 เล่มเท่านั้น เชื่อว่าเมื่อ 5 จังหวัดนำร่องเป็นนครแห่งการอ่าน ก็จะเกิดการขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นทั่วประเทศได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบมาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้บริจาคหรือซื้อหนังสือให้แก่สถานศึกษาหรือห้องสมุด และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติม มาตรการลดหย่อนภาษีกระดาษและฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ผลิตหนังสือและโรงพิมพ์ เพื่อให้ราคาหนังสือลดลง เชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญให้ประชาชนอ่านหนังสือมากขึ้น และสามารถซื้อหนังสือราคาถูกลงด้วย” นายชินวรณ์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2551 เรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก 0-6 ปี โดยเน้นการอ่านหนังสือในช่วงนอกเวลาเรียน ซึ่งมีผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง หรือเด็กอ่านด้วยตัวเอง พบว่า เด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือ ร้อยละ 36 หรือคิดเป็น 2.1 ล้านคนจาก 5.9 ล้านคนทั่วประเทศ ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ย 27 นาทีต่อวัน ความถี่ในการอ่านสัปดาห์ละ 2-3 วัน มีจำนวนสูงสุดร้อยละ 39.6 ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจตลาดหนังสือเด็ก พบว่า มีหนังสือสำหรับเด็กอายุ 0-6 ปี ประมาณร้อยละ 4-5 ของหนังสือในร้าน ซึ่งจำนวนนี้มีหนังสือสำหรับเด็กเล็ก 0-3 ปี ไม่ถึงร้อยละ 0.5 และประมาณร้อยละ 4-7 ของจำนวนหนังสือทั้งหมด เป็นหนังสือสำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี
“ผลสำรวจดังกล่าว เป็นที่น่ากังวลว่า ยังมีเด็กเล็กที่ไม่อ่านหนังสืออีกถึงร้อยละ 64 ขณะเดียวกันตลาดหนังสือสำหรับเด็ก ยังมีเพียงร้อยละ 8-12 ของตลาดหนังสือโดยรวม สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญ และสร้างวัฒนธรรมรักการอ่าน ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ผลิตสื่อเพื่อเด็กพัฒนาศักยภาพตนเอง ต่อยอดการผลิตสื่อสร้างสรรค์และเหมาะสมต่อพัฒนาการทางสมองสำหรับเด็กให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งปัญญาและสังคมแห่งความสุขถ้วนหน้าที่ยั่งยืนต่อไป” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update : 15-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร