คัดกรองไวรัสตับอัก เพื่อรักษาได้ทัน
ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรคห่วงปัญหาไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ซี พบเป็นพาหะโรคชนิดบี 2-3 ล้านคน และชนิดซี 4-5 แสนคน เตือนประชาชนตรวจคัดกรองโรคแต่เนิ่นๆ เพื่อผลักดันเข้าสู่ระบบการรักษา ชี้ไทยมียารักษาที่มีประสิทธิภาพ ด้านเครือข่ายผู้ป่วยเอชไอวีร้องให้ผลักดันยากินเข้าสู่ยาบัญชีหลักของชาติ แจงยาฉีดใช้ระยะเวลานาน อีกทั้งมีผลข้างเคียงมาก
นพ.อำนวย แทนวันดี อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคตับอักเสบในประเทศไทยว่า พบว่ามีประชากรไทยป่วยด้วยโรคตับอักเสบเป็นจำนวนมาก ซึ่งแยกเป็น 5 ชนิดหลักๆ ดังนี้ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี ทั้งนี้ ไวรัสตับอักเสบบีและซีเป็นชนิดที่พบบ่อยและร้ายแรงที่สุด จึงต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ จากข้อมูลพบว่าในปัจจุบันมีผู้เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังทั่วโลกประมาณ 240 คน และในประเทศไทยมีผู้เป็นพาหะของโรคประมาณ 2-3 ล้านคน พบมากในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไทยมีการให้บริการวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา ทำให้หลังปีดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อไวรัสลดน้อยลง เหลือเพียงร้อยละ 0.6 ของประชากรทั้งหมด ในส่วนของโรคไวรัสตับอักเสบซี ปัจจุบันคาดว่าทั่วโลกมีผู้เป็นพาหะของโรคตับอักเสบซีเรื้อรังประมาณ 130-150 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยคาดว่ามีผู้เป็นพาหะของโรคประมาณ 4-5 แสนคน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานโรคตับอักเสบจากไวรัสขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ อาทิเช่น สมาคมโรคตับ มูลนิธิโรคตับ สภากาชาดไทย สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยมีนโยบายการจัดการปัญหาดังกล่าว 5 ด้านคือ 1.การเฝ้าระวังโรค 2.การป้องกันควบคุมโรค 3.การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ทราบสถานะของตนเอง 4.การเร่งรัดให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม และ 5.การพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในการควบคุมโรคในอนาคต
นพ.อำนวยกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในวันที่ 28 ก.ค.ของทุกปี องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันโรคตับอักเสบโลก เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงภัยเงียบที่มากับโรคตับอักเสบ กรมควบคุมโรคร่วมกับ รพ.ในสังกัด สธ. 35 แห่ง ใน 16 จังหวัด ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 2.อุตรดิตถ์ (2 แห่ง) 3.สุโขทัย (3 แห่ง) 3.สุโขทัย (3 แห่ง) 4.เพชรบูรณ์ (3 แห่ง) 5.ตาก (2 แห่ง) 6.พิษณุโลก (2 แห่ง) 7.อุทัยธานี 8.สระบุรี (12 แห่ง) 9.ราชบุรี 10.ระยอง 11.มหาสารคาม 12.นครศรีธรรมราช 13.สงขลา 14.กทม. (2 แห่ง) 15.นนทบุรี และ 16.สมุทรสาคร จึงได้ถือโอกาสนี้จัดบริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซีเพื่อให้ผู้บริการแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเกิดก่อน พ.ศ.2535 ในวันที่ 28 ก.ค.-5 ส.ค.2559
นพ.ทวีศัดิ์ แทนวันดี นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการทำงานมากว่า 30 ปี พบว่ามีผู้ป่วยทั้งจากไวรัสตับอักเสบบีและซีเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในอดีต นวัตกรรมทางการแพทย์ก้าวหน้าไม่มากพอ อีกทั้งผู้ป่วยมักมาตรวจเมื่อเกิดอาการซึ่งเป็นระยะสุดท้ายแล้ว การเพาะเชื้อในร่างกายต้องใช้เวลานาน อย่างในกรณีผู้ป่วยในไวรัสตับอักเสบซี จะพบอาการก็ต่อเมื่อผ่านไป 20-30 ปีแล้ว จึงเกิดอาการตับแข็งหรือเป็นโรคมะเร็งตับไปแล้ว ยากที่จะรักษาให้หายขาดหาก ทั้งนี้ ในปัจจุบันแม้ว่าจะพบผู้ป่วยจากโรคทั้ง 2 ชนิดกว่า 4 ล้านคน แต่การแพทย์ของไทยได้พัฒนาไปมาก ทุกโรงพยาบาลมีการให้บริการตรวจโรคดังกล่าวอย่างทั่วถึง ดังนั้นผู้มีภาวะเสี่ยง อาทิ มีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เจาะตามร่างกายในร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ควรเข้ารับการคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ หากผู้ใดติดเชื้อจะได้รับการผลักดันเข้าสู่กระบวนการรักษาก่อนที่จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบัน สธ.มียารักษาที่มีประสิทธิภาพอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้เวลารักษา 9-10 เดือนก็สามารถหายเป็นปกติได้ และที่สำคัญสามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรี
นายสมชาย นามสพรรค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเชื้อไวรัสตับอักเสบซี กล่าวว่า ตนติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 และขณะนี้พบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดสายพันธุ์ที่ 1 ซี ร่วมด้วย แต่ยังไม่ได้รับการรักษา และในผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยเช่นตน อาการโรคจะมีความรุนแรงและแสดงอาการเร็วกว่า โอกาสรอดยังมีเพียง 50% เท่านั้น ซึ่งในขณะนี้การรักษาไวรัสตับอักเสบซีในประเทศไทย ในบัญชียาหลักใช้วิธีการฉีดร่วมกับการรับประทานยา คือการใช้เฟกอิเตอเฟรอน ร่วมกับยาไรบาไวริน โดยมีระยะเวลาการรักษาอยู่ที่ 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งมีผลข้างเคียงมาก ซึ่งทั่วโลกไม่ใช้การรักษาวิธีดังกล่าวแล้ว ในขณะนี้ทั่วโลกพบว่ามีการพบยาชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสตับอักเสบซีโดยตรงในกลุ่ม DAA : Direct-Acting Anti-viral ประกอบด้วย ตัวยาโซฟอร์สบูเวียร์, ดาคลาทาสเวียร์, เลดิพาสเวียร์ ซึ่งพบว่ายากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพสูง มีอัตราการหายขาดถึง 90% ใช้ระยะเวลารักษาเพียง 3 เดือน ที่สำคัญคือมีผลข้างเคียงน้อย ยาชนิดนี้มีอยู่ในประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตนได้รับข่าวสารว่าได้ผ่านการประเมินความคุ้มทุนจากสถาบันการวิจัยความคุ้มทุน คร. (CL.) อยู่ระหว่างการผลักดันเข้า สธ.ให้รับรองเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ