คะแนนสุขภาพจิตคนไทยลดลง

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


อัตราว่างงานเพิ่ม แต่แนวโน้ม'ดีขึ้น' thaihealth


สภาพัฒน์ เผย สังคมไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย คะแนนสุขภาพจิตคนไทยลดลง เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจในการประกอบอาชีพ


นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/59 พบว่า ในไตรมาส 2/59 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังโรคที่แพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า คนไทยมีความสุขแต่ต้องเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายที่มีอัตราเพิ่มขึ้น


นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพเพื่อสังคมสูงวัย เนื่องจากการที่สังคมไทยก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวและมีภาวการณ์เกิดน้อย ขณะที่ประชากรสูงวัยและอัตราส่วนพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้น โดยจากข้อมูลจำนวนการเกิดของกระทรวงมหาดไทยปี 2549-2558 พบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทางสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้คาดประมาณแนวโน้มจำนวนบุตรเฉลี่ยต่อสตรีวัยเจริญพันธุ์จะลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 1.3 คนภายในปี 2583 ซึ่งไม่สามารถทดแทนวัยแรงงานที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับภาวการณ์เกิดที่น้อยอยู่แล้วให้มีคุณภาพ


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก World Happiness Report 2016 ของสหประชาชาติ รายงานถึงดัชนีความสุขโลกโดยรวบรวมข้อมูลจากหลายปัจจัย อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ระบบสังคมสงเคราะห์ รายได้ประชากร อายุขัยของประชากร ความมีอิสระในการตัดสินใจ ความเอื้ออาทร และทัศนคติต่อปัญหาคอร์รัปชั่น แล้วนำมาวิเคราะห์เป็นค่าความสุขในประเทศต่างๆ 157 ประเทศทั่วโลก พบว่าในปี 59 ประเทศไทยมีความสุขมากขึ้นเล็กน้อยมีค่าดัชนีความสุขอยู่อันดับที่ 33 ของโลกเมื่อเทียบกับปี 58 ที่อยู่อันดับที่ 34 จาก 158 ประเทศทั่วโลกและมีค่าดัชนีความสุขอยู่อันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน


ขณะที่ผลการสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับกรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ในปี 58 คะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตของคนไทยอยู่ที่ 31.44 คะแนน ซึ่งลดลงเล็กน้อยมากจากปี 57 ที่คะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ย 31.48 คะแนน เนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในการประกอบอาชีพ


นอกจากนี้ อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 6.07 คนต่อประชากรแสนคนในปี 57 เป็น 6.31 คนต่อประชากรแสนคนในปี 58 โดยพบว่า ช่วงอายุ 30-39 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง

Shares:
QR Code :
QR Code