คสป. เผยโฉมเยาวชน 12 ทีม เข้ารอบผลิตหนังสั้น
คสป. เผยโฉมเยาวชน 12 ทีม เข้ารอบผลิตหนังสั้น เรียนรู้ประสบการณ์มืออาชีพจากพี่เลี้ยงระดับผู้กำกับแถวหน้า หวังให้ “เด็ก” ใช้หนังสื่อสารแนวใหม่กับสังคม ระบุผลิตเสร็จพร้อมฉายครั้งแรกในเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ 24-26 มี.ค. ที่อิมแพค เมืองทองธานี ด้านผู้กำกับเผย 4 ปีหลังกระแสการเรียนภาพยนตร์ในกลุ่มเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้น อนาคตมั่นใจมี “ดาวดวงใหม่” ประดับวงการหนังแน่นอน
เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับ กลุ่มอัศจรรย์ภาพยนตร์ และแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ (สสส.) เปิดตัวเยาวชน 12 ทีมผู้ผ่านเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการประกวดหนังสั้น “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ผลงานการเขียนของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่บ้านพักนานาชาติบ้านสบาย กรุงเทพมหานคร โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป (คสป.) กล่าวว่า บทความนี้สื่อให้เห็นถึงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ได้อย่างครอบคลุมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนกระทั่งตาย และเป็นความหวังของคนในชาติที่ต้องการมีชีวิตตามบทความนี้ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ประชาชนมีสิทธิ์เรียกร้องต่อรัฐ แม้เวลาจะผ่านมากว่า ปีแล้ว แต่บทความนี้ก็ยังไม่ตายและยังคงเป็นเรื่องจริงในสังคมซึ่งผมเชื่อว่าการนำมาถ่ายทอดผ่านสื่อสมัยใหม่อย่างหนังสั้น จะเป็นการจุดประกายการปฏิรูปสังคมไทยได้
“พลังของเยาวชนเป็นพลังที่บริสุทธิ์ หนังสั้นที่เยาวชนทั้ง 12 ทีมจะทำครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดี ที่จะเกิดเป็นการสื่อสารใหม่ เกิดมุมมองใหม่ให้แก่คนในสังคมได้อย่างมีพลัง สามารถสื่อสารให้คนในวัยเดียวกันหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ให้เข้าใจได้ง่าย โดยผลงานที่ได้จะนำไปฉายครั้งแรกในเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 วันที่ 24-26 มีนาคม 2554 ที่อิมแพค เมืองทองธานีต่อไป” นายเนาวรัตน์ กล่าว
ด้านนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. กล่าวว่า ประกวดหนังสั้น “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ครั้งนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 46 เรื่อง แต่มีเพียงแค่ 12 เรื่องเท่านั้นที่ผ่านเข้ารอบ อาทิเรื่อง “ทางลาด” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, เรื่อง “ด้วยรักและรอยยิ้ม” จากโรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์และโรงเรียนสระแก้ว, เรื่อง “วัคซีน” จากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่, เรื่อง “หวัง” จากโรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล, เรื่อง “กระโดดตึก” จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, เรื่อง “เศษปูนในซอกตึก” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนโปลิเทคนิคลานนา และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, เรื่อง “18” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์, เรื่อง “จากโคกอีแร้งสู่ทุ่งหมาเมิน” จากโรงเรียนถาวรานุกูล, เรื่อง “ผู้กำกับ” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศิลปากร, เรื่อง “มื้อพิเศษ” จากมหาวิทยาลัยรังสิต, เรื่อง “โตขึ้นอยากเป็นอะไร…” มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และเรื่อง “แผลเป็น (herb for hurt)” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ทั้ง 12 เรื่องนี้จะได้รับทุนสนับสนุนการผลิตหนังสั้น 20,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร จากนั้นในวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2554 คณะกรรมการจะคัดเลือกหนังสั้นที่ดีที่สุด 4 รางวัล พร้อมประกาศนียบัตร ตามลำดับรางวัล โดยรางวัลชนะเลิศรับเงินสด 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินสด 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินสด 20,000 บาท และรางวัลมวลชน รับเงินสด 10,000 บาท อีกทันที” ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. กล่าว
นายนิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ ผู้กำกับภาพยนตร์และตัวแทนกลุ่มอัศจรรย์ภาพยนตร์ กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมากระแสของการเรียนภาพยนตร์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าวงการหนังในประเทศมีผู้กำกับหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเชื่อว่าจากบททั้ง 12 เรื่องที่ผ่านการคัดเลือกจะเป็นบทที่ดี มีไอเดีย มีความน่าสนใจสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นหนังสั้นที่ดีได้ และไม่แน่ผู้กำกับหน้าใหม่ที่จะมาประดับวงการหนังในอนาคตอาจจะเป็นผู้กำกับรุ่นเยาว์เหล่านี้ก็ได้
“เทคนิคสำคัญที่ทำให้หนังสั้นเรื่องนั้นๆ “โดนใจ” คนดูอยู่ที่ “ความประทับใจแรก” ที่ผู้กำกับมีต่อหนังสั้นเรื่องนั้นๆ ผสมผสานกับความพยายาม มุ่งมั่น ถ้าเยาวชนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงตรงนั้นได้ เชื่อว่าเส้นทางที่เยาวชนทั้ง 53 คนนี้จะก้าวไปสู่ผู้กำกับหนังจะอยู่แค่เอื้อม” ผู้กำกับภาพยนตร์และตัวแทนกลุ่มอัศจรรย์ภาพยนตร์ กล่าว
ขณะที่นางสาววรารีย์ นิลโกศล โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์ จ.ตราด ตัวแทนจากทีม “ฉลากฟิล์ม” กล่าวว่า ความรู้และเทคนิคพิเศษที่พี่ๆ มอบให้จะเป็นการเติมเต็มที่ดีที่จะทำให้เยาวชนอย่างเราทุกคนก้าวไปสู่การเป็นผู้กำกับที่เก่งได้ ส่วนจะได้หรือไม่ได้รางวัลจากการประกวดครั้งนี้หรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะรางวัลเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น แค่คนดูหนังพึงพอใจในหนังที่ทำโดยเยาวชนอย่างเราๆ ก็เพียงพอแล้ว
ที่มา : แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์