ความเสื่อมของแต่ละช่วงวัย แตกต่างกันอย่างไร
โดยปกติเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย มักเริ่มเสื่อมในช่วงอายุ 30 ปี เป็นต้นไป แต่อาการเสื่อมเริ่มสะสมได้ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่นและวัยทำงาน จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าร่างกายเกิดการเสื่อมแซงอายุจริง และมีวิธีสังเกตความเสื่อมของร่างกายได้อย่างไร
วัยเด็ก : ความเสื่อมอาจเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง
1.) ฟันผุ จากการกินขนมหวาน ดื่มน้ำอัดลม และแปรงฟันไม่ถูกวิธีดีพอ
2.) สายตาสั้น จากการอ่านหนังสือในที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ การดูโทรทัศน์ในระยะใกล้เป็นเวลานานๆ จ้องจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือบ่อยเกินไปโดยไม่มีการพักผ่อนสายตา
3.) ระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ เป็นโรคอ้วน เพราะการกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ หรือกินอาหารขยะมากเกินไป
4.) ร่างกายไม่เจริญเติบโต เนื่องจากโรคทางพันธุกรรม
5.) ร่างกายแคระแกร็น จากการขาดสารอาหารและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย
6.) ขาดวิตามินดีที่ช่วยเสริมสร้างกระดูก เพราะไม่ค่อยได้รับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า
วัย 20+ : วัยนี้เป็นวัยที่เปลี่ยนผ่านระหว่างวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ การเสื่อมของร่างกายมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้ร่างกายขาดความสมดุล เช่น อดนอนบ่อยเพื่อดูหนังสือสอบ ทำงานดึกดื่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ออกกำลังกายแบบผิดวิธีหรือหักโหม ฯลฯ
1.) การพักผ่อนไม่เพียงพอและกินอาหารไม่เป็นเวลา ส่งผลให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน เพราะการทำงานของอวัยวะผิดปกติไป
2.) กระดูกมีความเสื่อมจากพฤติกรรมต่างๆ เช่น การสวมรองเท้าส้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน การนั่งทำงานด้วยท่าที่ไม่ถูกต้องจนเกิดออฟฟิศซินโดรม ฯลฯ
3.) เส้นผมเสื่อมสภาพ จากการใช้ความร้อน สารเคมีต่างๆ ในการจัดแต่งทรงผมหรือทำสีเป็นประจำ
4.) กล้ามเนื้อบาดเจ็บจากการออกกำลังกายแบบหักโหมหรือผิดวิธี
วัย 30+ : การเสื่อมของร่างกายมักเกิดจากการใช้ร่างกายอย่างหนักหรือหักโหมจนเกินไป รวมถึงการสะสมความเครียดเอาไว้
1.) ผิวหนังเริ่มมีความแห้งกร้าน ไม่สดใส เมื่อนอนน้อย
2.) ใบหน้าเริ่มมีริ้วรอย รูขุมขนกว้างและเริ่มหย่อนคล้อย เพราะการทำงานของอิลาสตินใต้ชั้นผิวเสื่อมสภาพ
3.) ระบบการเผาผลาญอาหารเริ่มทำงานได้ไม่ดี อ้วนง่าย ควบคุมน้ำหนักได้ยากขึ้น ควรเริ่มระวังอาหารประเภทที่มีแคลอรี่สูง ไขมันสูง และอาหารหวาน
4.) ระดับฮอร์โมนในร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง
5.) รู้สึกเหนื่อยง่าย เพลียง่ายหากใช้ร่างกายหนัก
วัย 40+ : วัยกลางคนที่มีประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตมาพอสมควร ทั้งการทำงานหนัก การสร้างฐานะครอบครัว การเริ่มต้นเลี้ยงดูลูกหลาน จึงมีโอกาสสะสมความเครียดได้มาก หากไม่ดูแลชีวิตให้มีความสมดุล
1.) มีอาการตาแห้ง สายตายาว
2.) ผิวพรรณแห้งกร้าน
3.) ผู้หญิงช่วงปลายของวัยนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะวัยทอง อาจมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ประจำเดือนเริ่มผิดปกติ ประจำเดือนมาน้อยลง อารมณ์แปรปรวนง่าย วิตกกังวลและซึมเศร้าง่าย
4.) ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานน้อยลง บางคนจึงน้ำหนักขึ้น อ้วนง่าย โดยเฉพาะหากไม่ออกกำลังกาย
5.) ผู้ชายช่วงปลายของวัยนี้บางคนเริ่มมีความสนใจทางเพศลดลง ความต้องการมีความถี่น้อยลง เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายลดลง
6.) นอนหลับไม่สนิท นอนหลับยาก กระสับกระส่ายเวลานอน หลับไม่สบาย
วัย 50+ : เริ่มเข้าสู่ “วัยทอง” รวมทั้งร่างกายเริ่มขาดความกระฉับกระเฉงหรือเคลื่อนไหวได้ช้าลง
1.) สายตาเริ่มลดความคมชัดลง มีอาการพร่ามัว
2.) เริ่มนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท
3.) สมรรถภาพทางเพศลดลง
4.) การทำงานของเหงือกและฟันเริ่มมีปัญหา มีปัญหาเรื่องการเสียวฟันและปัญหารากฟัน
5.) มีปัญหาเรื่องการกลืนหรือสำลัก ดื่มน้ำหรือของเหลวก็ทำได้ยากลำบากเพราะการเคลื่อนตัวของหลอดอาหารลดลง มีกรดไหลย้อนง่ายขึ้น กินรสจัดได้น้อยลง รู้สึกแสบท้องได้ง่าย
6.) ลิ้นรับรสแย่ลงหรือผิดเพี้ยนไป
7.) กระดูกสันหลังมีปัญหา เคลื่อนไหวได้ช้าลง
8.) มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย มีอาการปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะลำบาก
9.) ผิวพรรณเริ่มมีริ้วรอยเหี่ยวย่นและหย่อนคล้อยแบบเห็นได้ชัด
10.) ตรวจสุขภาพเริ่มพบปัญหาไขมันหรือน้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน ความจำเสื่อม ซึ่งภาวะเหล่านี้ป้องกันได้
11.) มีอาการข้อเข้าเสื่อมที่ชัดเจนขึ้น มีอาการเจ็บหรือปวดเมื่อต้องเดิน ยืน หรือนั่งเป็นเวลานานๆ
12.) เข้าสู่ภาวะวัยทอง มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ
13.) เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินเพราะการทำงานของหูเริ่มเสื่อมสภาพ
14.) ผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนเร็วกว่าผู้ชาย โดยเริ่มมีประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนขาด และเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน (วัยทอง) บางคนมีอาการร้อนวูบวาย เหงื่อซึม อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้าหรือหดหู่ง่าย
15.) ผู้ชายมีปัญหาเรื่องต่อมลูกหมากโต มีอาการปัสสาวะติดขัด
วัย 60-70+ : เริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุหลังเกษียณ มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายและใจที่ชัดเจน
1.) เริ่มมีความเสื่อมของสมอง ขี้ลืมมากขึ้น บางคนประสบภาวะอัลไซเมอร์
2.) มีอาการหูตึง มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินเพราะการทำงานของหูเสื่อมสภาพ
3.) ปุ่มเล็กๆ ในลำไส้เล็กที่ทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหาร จะทำงานได้น้อยลง
4.) ระบบขับถ่ายทำงานยากขึ้น อาจเกิดการท้องผูกได้ง่าย ดังนั้นควรกินอาหารอ่อน ย่อยง่ายและมีกากใยไฟเบอร์
5.) ระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายลดลง ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก บางคนฉุนเฉียวโกรธง่าย บางคนอาจเกิดความน้อยใจง่าย
6.) ควบคุมการขับถ่ายลำบาก กลั้นปัสสาวะลำบาก เพราะการเสื่อมของกล้ามเนื้อหูรูด
7.) มีโรคประจำตัวทั้งจากทางพันธุกรรมและพฤติกรรมที่ทำสะสม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคนิ่ว โรคต่อมลูกหมากอักเสบ ฯลฯ
8.) ระยะการนอนหลับสั้นลง ทำให้ตื่นเร็ว
9.) กระดูกมีการเสื่อม มีภาวะกระดูกพรุน ทำให้หกล้มง่าย
10.) กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น