ความเสี่ยงภัยที่ (ไม่) จำเป็นต้องเจอ ลดอุบัติเหตุ = ลดตาย

ที่มา : เว็บไซต์อีจัน ejan.co


ภาพประกอบจากเว็บไซต์อีจัน ejan.co และแฟ้มภาพ


ความเสี่ยงภัยที่ (ไม่) จำเป็นต้องเจอ ลดอุบัติเหตุ = ลดตาย thaihealth


เทศกาลสงกรานต์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูง เป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แม้ว่าจะมีหน่วยงานออกมารณรงค์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุเป็นประจำทุกปี แต่ก็ยังคงมีสถิติการเสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตรายอยู่ ซึ่งสาเหตุหลักยังคงมาจากการดื่มแล้วขับ และความเร็ว


อย่างล่าสุดเมื่อเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีการเฝ้าระวัง 7 วันอันตรายตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2562 ซึ่งมีการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พบว่า มีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 3,338 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 386 คน บาดเจ็บ 3,442 คน โดยจะพบว่าจำนวนอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปี 2562 ลดน้อยลงกว่าปี 2561 ที่เกิดอุบัติเหตุ 3,724 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 418 คน บาดเจ็บ 3,897 คน ขณะที่ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้วิเคราะห์ต่อไปว่า แม้ตัวเลขความสูญเสียช่วงสงกรานต์ 2561 จะลดลง แต่ดัชนีความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้น 11.56 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อนอยู่ที่ 11.22 เปอร์เซ็นต์


จากข้อมูลในส่วนนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดดัชนีความรุนแรงถึงเพิ่มมากขึ้นทั้งที่แนวโน้มอุบัติเหตุลดลง


เรื่องนี้ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้เผยว่า ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน หรือ ศวปถ. เป็นส่วนงานภายใต้มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิด “องค์ความรู้” ทั้งโครงการวิจัย และโครงการพัฒนา เพื่อการจัดการความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่


อีกด้านหนึ่งก็คือเป็นหน่วยงานที่ร่วมผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยการใช้ข้อมูลและความรู้ ซึ่งในทุก ๆ ปี ศวปถ. จะทำงานร่วมกับมูลนิธิไทยโรดส์ให้มีการทำ “สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน” ว่าสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเป็นอย่างไร


ความเสี่ยงภัยที่ (ไม่) จำเป็นต้องเจอ ลดอุบัติเหตุ = ลดตาย thaihealth


อะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ?


จากข้อมูลที่ ศปถ. ได้วิเคราะห์ จากฐานข้อมูลของทางตำรวจ สาธารณสุข ประกันภัย จะพบตรงกันว่า "คน" ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ประมาณ 94-95 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งนั้นมีปัจจัยร่วมหลายปัจจัยไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยว ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เกิดควบคู่กันก็เป็นเรื่องของตัวถนนและสิ่งแวดล้อม 28 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปัจจัยทางด้านของตัวยานยนต์เกี่ยวข้อง 21 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่าการเกิดอุบัติเหตุครั้งหนึ่งไม่ได้เป็นเรื่องของคนเพียงอย่างเดียว นพ.ธนะพงศ์ กล่าว


เมื่อถามว่าทำไมเทศกาลสงกรานต์ ถึงมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูง นพ.ธนะพงศ์ ได้ให้ข้อมูลว่า เราต่างรับรู้ว่าเทศกาลสงกรานต์มีช่วงของการเฉลิมฉลอง ซึ่งการตายในช่วง 7 วันอันตราย สูงสุดจริง ๆ อยู่ในช่วงวันฉลอง ส่วนช่วงเดินทางค่าเฉลี่ยของการเสียชีวิตขาไปและขากลับเท่ากับช่วงเวลาปกติที่ไม่ใช่ช่วงเทศกาล แม้ว่ารถจะมากขึ้น 4-5 เท่า แต่ช่วงที่อุบัติเหตุสูงขึ้นมา 2-3 เท่าเลย คือช่วงที่ฉลอง อธิบายง่าย ๆ คือ สงกรานต์ปีนี้คนเริ่มฉลองเร็วขึ้น จากที่จะเริ่มฉลองวันที่ 13 เมษายน คนก็เริ่มฉลองตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน เพราะฉะนั้นในวันที่ 12 อัตราการเสียชีวิตก็จะไต่สูงขึ้น แต่จุดหลัก ๆ ก็จะยังอยู่ในช่วงวันที่ 13 เมษายน และจากข้อมูลสถิติที่ ศปถ. เก็บ และ ศวปถ. นำมาวิเคราะห์จะพบว่ามีผู้เสียชีวิตกลางคืนมากกว่ากลางวัน และมีแอลกอฮอล์มาเป็นปัจจัยร่วมในการตาย 60-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสังคมยังมองว่า “สงกรานต์กับเรื่องการดื่มคนไทย…เป็นเรื่องคู่กัน”


นพ.ธนะพงศ์ เผยว่า โจทย์สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขคือ "ดื่มไม่ขับ" เราอาจจะต้องหยิบยกกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาทบทวนข้อกฎหมายทำยังไงให้เวลาส่งเรื่องฟ้องคดีไม่เป็นเรื่องของความประมาท ซึ่งในประเทศที่มีการจัดการเรื่องนี้แล้วได้ผลเขาจะหยิบยกเอาโทษของการดื่มขับชนคนตายแยกออกมา เป็นกลุ่มขับรถที่อันตราย แล้วบทลงโทษจะแรงเทียบเท่ากับเรื่องของเจตนา ซึ่งน่าจะทำให้คนเริ่มตระหนักและตื่นตัวในเรื่องดื่มไม่ขับ


ความเสี่ยงภัยที่ (ไม่) จำเป็นต้องเจอ ลดอุบัติเหตุ = ลดตาย thaihealth


สาเหตุของอุบัติเหตุจาก "ความเร็ว"


ในช่วง 7 วันอันตรายที่รณรงค์และเก็บสถิติ ถ้าดูในเชิงภาพรวมก็คือดูว่าในแต่ละปีอุบัติหตุที่เกิดขึ้นมีการตายเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลตรงนี้พบว่าดัชนีความรุนแรงในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลตัวเลขพบว่าค่อย ๆ ไต่ขึ้น เมื่อถามว่าดัชนีความรุนแรงสะท้อนอะไร จากการเก็บตัวเลขทาง ศปถ. 7 วันอันตราย พบว่า “ความเร็ว” เป็นสาเหตุหลักของการตาย รองลงมาคือ ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด หลับใน ส่วนปัจจัยเสริม คือ เมื่อเกิดเหตุแล้วรุนแรง ก็คือการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อก ขับรถไม่คาดเข็มขัดนิรภัย โดยเฉพาะที่นั่งตอนหลัง ซึ่งจะพบการตายจากรถส่วนบุคคลเยอะ สรุปคือ ถ้าข้อมูลบ่งชี้ว่าดัชนีความรุนแรงขึ้นก็เป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องเร่งทบทวนว่าอะไรทำให้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของความเร็ว อาจจะต้องหามาตรการจัดการ หรือเพิ่มมาตรการในเรื่องของการใช้อุปกรณ์นิรภัย


เทศกาลแห่งการ "ดื่มขับ" ในส่วนนี้ ศวปถ. พบว่า จะพบเยอะในช่วงเทศกาล ซึ่งมีข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เคยศึกษาไว้ การดื่มในเทศกาลจะมากกว่าช่วงปกติ 2-3 เท่า ทั้งในแง่ปริมาณการดื่ม ปริมาณการตรวจวัดแอลกอฮอล์ แล้วช่วงสงกรานต์ 2562 ก็เป็นช่วงที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ยาวตั้งแต่ 12 – 15 เมษายน กลายเป็นพฤติกรรมการดื่มที่ต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขที่ ศปถ. มีการรายงาน 7 วัน ต้องบวกขึ้นมาอีกประมาณ 15-17 เปอร์เซ็นต์ของการตาย เพราะหลังจาก 7 วันก็จะมีการเฝ้าดูต่อไปอีก 30 วัน เนื่องจากในระหว่างนั้นอาจมีผู้ที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุระหว่างช่วง 7 วัน จะมีการเสียชีวิตเพิ่ม


ความเสี่ยงภัยที่ (ไม่) จำเป็นต้องเจอ ลดอุบัติเหตุ = ลดตาย thaihealth


7 วันอันตรายเพียงพอกับการแก้ไขอุบัติเหตุ?


ในเรื่องนี้ นพ.ธนะพงศ์ มองว่า ในเรื่องความปลอดภัยจะต้องทำต่อเนื่อง รณรงค์กวดขันทุ่มกับ 7 วัน มันไม่พอ ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องแก้ไขว่าจะทำยังไง..จะขยายมาตรการการทำงานออกไปให้มากกว่า 7 วัน กล่าวคือ ให้หันมาให้ความสำคัญกับนอกเทศกาลควบคู่ไปกับเทศกาลด้วย


เมื่อพูดถึง ศวปถ. แล้ว จะไม่พูดถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ก็คงไม่ได้ เพราะ ศวปถ. เป็นส่วนงานภายใต้มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น มาถึงตรงนี้เราก็มาทำความรู้จักกับ สสส. กันดีกว่าว่า สสส. มี หน้าที่อะไร และมีความเชื่อมโยงกับ ศวปถ. อย่างไร ทำไมสถิติข้อมูลอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ที่ทาง ศวปถ. วิเคราะห์ไว้ จะต้องรายงานผลมายัง สสส.


โดย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เผยว่า บทบาทหน้าที่ของ สสส. คือดูแลสุขภาวะของคนไทย โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับต้น ๆ และอุบัติเหตุบ้านเรายังติดอันดับโลก ซึ่งตอนนี้เราอยู่ที่ อันดับที่ 9 สสส. จึงเล็งเห็นว่าเรามองข้ามเรื่องนี้ไม่ได้เพราะทำให้อายุขัยรวมของคนไทยสั้นลง ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ และโอกาสอื่น ๆ ในชีวิต ฉะนั้น สสส. จึงตั้งศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ขึ้นมา เพื่อดูแล วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่ง ศวปถ. มีหน้าที่สำคัญในการเอาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และทำวิจัยสรุปผลขึ้นมา


ความเสี่ยงภัยที่ (ไม่) จำเป็นต้องเจอ ลดอุบัติเหตุ = ลดตาย thaihealth


สถิติข้อมูลอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ที่ทาง ศวปถ. ได้วิเคราะห์มานั้น ทาง สสส. ก็จะมาดูข้อมูลและวิเคราะห์ออกมาว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากอะไรบ้าง มีสถิติเพิ่มขึ้นหรือลดลง แล้วก็มาสรุปว่าปีนี้ยังเป็นเรื่องของความเร็ว กับเรื่องดื่มอยู่ แล้วก็ชี้เป็นข้อเสนอแนะว่าควรจะต้องมีมาตรการหรือมีการดูแลอะไรเป็นพิเศษ แล้วก็ชักชวนหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยร่วมกันแก้ไข โดยรถมอเตอร์ไซค์เป็นประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 80 เปอร์เซ็นต์ โดยทาง สสส. ก็พยายามที่จะดูแลส่งเสริมอัตราการสวมหมวกนิรภัย สสส. ก็มีการเก็บข้อมูล การสำรวจซึ่งผลยืนยันว่า คนไทยสวมหมวกกันน็อกน้อย ล่าสุด ปี 2561 ที่สำรวจสวมหมวกแค่ 46 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ สสส. ได้ออกแบบการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ โดยได้สนับสนุนให้มีนักวิชาการ/ผู้ประสานในระดับจังหวัดและพื้นที่ เรียกว่า คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด หรือ “สอจร.” ซึ่งได้พัฒนาเครือข่ายบุคลากร/นักวิชาการขึ้น ที่เรียกว่า "พี่เลี้ยง สอจร." ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงานถนนปลอดภัย สนับสนุนการเพิ่มมาตรการสำคัญที่ช่วยป้องกันอุบัติเหตุ พัฒนาองค์กรซึ่งทำให้สถานประกอบการ สถานศึกษา มีกฎกติกาที่เป็นส่วนร่วมเพื่อดูแลบุคคลากร ซึ่งทาง สอจร. จะเข้าไปซัพพอร์ตการดำเนินการด้วยว่าถ้าพบจุดเสี่ยง จุดเสี่ยงนั้นเป็นของพื้นที่ไหน และการแก้ไขเบื้องต้นควรจะทำอย่างไร


ส่วนรถยนต์มีความเสี่ยงหลัก ๆ มาอยู่ที่พฤติกรรมการขับ เรื่องการดื่มแล้วขับ เป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องดูแลให้มากขึ้นว่าจะทำยังไงให้เรื่องการดื่มลดลง ดื่มแล้วไม่ขับ ซึ่งเราก็มีแคมเปญออกมารณรงค์ร่วมกันกับมูลนิธิเมาไม่ขับ และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ซึ่งพยายามที่จะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนต่าง ๆ อาทิ บริษัทประกันภัยบางบริษัท ถ้าหากอุบัติเหตุมีเรื่องแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง บริษัทจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น


ทั้งนี้ ศวปถ. มีนโยบายชัดเจนว่ากลไกการดูแลต้องมีตั้งแต่การประชุมศูนย์ถนนส่วนกลาง แล้วก็มาถึงประชุมศูนย์ถนนระดับจังหวัด แล้วก็มาถึงระดับอำเภอที่จะต้องมี รวมไปถึงองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ซึ่ง สอจร. และ ศวปถ. พยายามทำคือ พยายามทำให้หน่วยปฏิบัติการเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น


ความเสี่ยงภัยที่ (ไม่) จำเป็นต้องเจอ ลดอุบัติเหตุ = ลดตาย thaihealth


สสส. กับการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางท้องถนน


พฤติกรรมที่เป็นปัญหามากสุด 95 เปอร์เซ็นต์มาจากพฤติกรรมการขับขี่ การขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นเรื่องที่ยากและหลายหน่วยงานก็มีความพยายามในการแก้ปัญหา ซึ่งสิ่งที่ สสส. ทำมาโดยตลอดและคนจะเห็นเยอะที่สุดเลยคือช่วงเทศกาล สสส. จะออกมารณรงค์แคมเปญดื่มไม่ขับ ตั้งสติก่อนสตาร์ท กลับบ้านปลอดภัย หรือแม้กระทั่งคำว่า “7 วันอันตราย” ก็เกิดขึ้นจาก สสส. ที่คอยย้ำเตือนให้ทุกคนหันมาดูแลตัวเองในช่วงเวลาที่มีการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ ซึ่งอันที่จริงแล้ว สสส. รณรงค์ลดอุบัติเหตุตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาล แต่ช่วงเทศกาลมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ การกระตุ้นเตือนสังคมจึงต้องเข้มข้นมากเป็นพิเศษ


นอกจากนี้ สสส. ยังเข้าไปกระตุ้นผ่านกระแสสังคมในการสื่อสารต่าง ๆ แต่ว่าวิธีการรณรงค์เราไม่ได้ออกแคมเปญเพียงอย่าง แต่มีการสนับสนุนข้อมูลวิชาการ การปฏิบัติในระดับพื้นที่ และยังพยายามชวนสื่อมวลชนช่วยรายงานข่าวของอุบัติเหตุทางถนนเป็นลักษณะการสืบค้นสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากปัจจัยใด คน รถ ถนน หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักรับรู้ถึงรากที่แท้จริงของปัญหา และนำมาสู่ความระมัดระวังมากขึ้น น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว


ความเสี่ยงภัยที่ (ไม่) จำเป็นต้องเจอ ลดอุบัติเหตุ = ลดตาย thaihealth


สถิติของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล vs วันธรรมดา


น.ส.รุ่งอรุณ เผยว่า ปกติแล้วช่วงเทศกาลจะมีคนใช้รถใช้ถนนเยอะ อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นเยอะกว่าปกติ อาจจะ 2-3 เท่าตามจำนวนคนเดินทาง แต่ขณะนี้ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุกลับใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ แสดงว่าหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลมากจริงจังมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลสถิติของอุบัติเหตุที่เกิดในแต่ละปี ทาง สสส. ก็พยายามที่จะทำให้การแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนลงไปถึงระดับพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น โดยมีทีมพี่เลี้ยง สอจร. มาซัพพอร์ต โดยเฉพาะจากข้อมูลล่าสุดที่พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ 283 อำเภอ ซึ่ง สอจร. ก็จะเข้าไปร่วมเจาะหาสาเหตุอุบัติเหตุแล้วร่วมเสนอแนวทางแก้ปัญหา รวมถึงหาวิธีป้องกัน


ความเสี่ยงภัยที่ (ไม่) จำเป็นต้องเจอ ลดอุบัติเหตุ = ลดตาย thaihealth


หลายคนเข้าใจผิดว่า สสส. รณรงค์อุบัติเหตุแค่ 7 วันอันตราย


ในเรื่องนี้ น.ส.รุ่งอรุณ เผยว่า ต้องยอมรับก่อนว่า การรณรงค์ช่วยแค่กระตุ้นจิตสำนึกของแต่ละคน แต่ในการทำงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนมีมิติของการทำงานมากกว่าแค่การรณรงค์ เช่น ข้อมูลความรู้เราก็ต้องทำทุกวัน เครือข่ายเราต้องพยายามพัฒนาให้มีคนที่รู้เรื่องนี้มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทีมพี่เลี้ยง สอจร. ต้องมีองค์ความรู้ชี้ได้ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุในพื้นที่ สาเหตุสำคัญคืออะไร และวิธีการแก้ไขว่าต้องแนะนำให้แก้ไขอะไรก่อนหลัง ฉะนั้นจะขอย้ำว่า สสส. เองมิได้ทำเฉพาะงานรณรงค์ เราทำเรื่องนี้ตลอดทั้งปีในมิติของการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ การสนับสนุนและขยายภาคีเครือข่ายรณรงค์สร้างกระแสสร้างความตระหนัก การสนับสนุนให้โครงการสร้างในระดับพื้นที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำเกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ รวมไปถึงการสนับสนุนผลักดันให้นโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อการลดอุบัติเหตุได้เกิดขึ้นและดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง


ความเสี่ยงภัยที่ (ไม่) จำเป็นต้องเจอ ลดอุบัติเหตุ = ลดตาย thaihealth


"สสส. อยากจะทำสื่อสารรณรงค์ลดอุบัติเหตุออกสื่อทุกวัน แต่เราพิจารณาแล้วว่าหากต้องเสียค่าแอร์ไทม์ 365 วัน เราจะไม่เหลืองบประมาณในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในมิติอื่น ๆ เลย การพัฒนาองค์ความรู้ หรือการพัฒนาผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อาจทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น การรณรงค์ในช่วงเทศกาลวันสำคัญ จึงเป็นการถือโอกาสรณรงค์สื่อสารในช่วงที่คนสนใจมากกว่าช่วงเวลาปกติ เพราะถ้าเราทุ่มรณรงค์ในช่วงเวลาที่คนไม่ได้อยากรับสาร เขาไม่สนใจเรื่องนี้ ต่อให้เราพูดไปยังไง คนก็ไม่สนใจ ก่อนหน้านี้คำว่า 7 วันอันตราย ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนกระทั่ง สสส. และภาคีเครือข่าย เป็นผู้ริเริ่มทำให้เกิดคำนี้ ดังจะเห็นว่าในปัจจุบันหลายหน่วยงานต่างใช้ช่วงเวลาสำคัญนี้ ร่วมมือกันทำให้ความสูญเสียของคนไทยลดลง" น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code