ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนที่ต้องทนกับนักดื่ม

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือแอลกอฮอล์ และเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน อุปสรรคสำคัญของการพัฒนา และงานวิจัยเรื่องการศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย (Thailand Alcohol’s Harm to Others project)


ให้สัมภาษณ์โดย  นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณฑ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข


ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนที่ต้องทนกับนักดื่ม thaihealth


 


“ รวบแล้ว พ่อโหดทำร้ายลูกวัย 2 ขวบ อ้างเมา-เครียด “


“ ย่าสุดทน แจ้ง ตร.ช่วยหลานชาย 2 คน ถูกพ่อเมาแล้วทำร้ายร่างกาย “


“ พ่อเมาคลั่งตบตีลูกสาว ชาวบ้านช่วยเหลือ ถูกมีดอีโต้ไล่ฟันเจ็บสาหัส “


นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าว ที่เกิดจากผลกระทบของแอลกอฮอล์ที่มีต่อผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในครอบครัวของนักดื่ม ต้องยอมรับว่าข่าวดังกล่าว สะท้อนถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่า


ขึ้นชื่อว่าแอลกอฮอล์ นอกจากจะมีผลกระทบต่อร่างกายทุกอวัยวะอย่างที่เราทราบกันแล้วนั้น ในมิติของสังคมยังก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะหากมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวยุ่งเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ แน่นอนว่าย่อมเกิดปัญหาขึ้นไม่มากก็น้อยเป็นแน่ 


ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนที่ต้องทนกับนักดื่ม thaihealth


ด้วยสาเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ เวทีเสวนาหัวข้อ “สถานการณ์ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนไทยในครอบครัวนักดื่ม” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่  กรมพินิจและคุ้มครองเด็ก กระทรวงยุติธรรม  ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และภาคีเครือข่าย โดย นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณฑ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในประเทศและในระดับสากล และกลายเป็นปัจจัยร่วมในแทบทุกปัญหาในสังคมไทย ทั้งต่อตัวผู้ดื่มเองในมิติสุขภาพ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ผลกระทบชีวิตประจำวันการเป็นอยู่ในระดับส่วนตัว รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากบุคคลรอบข้างของผู้ดื่ม อย่างเด็กและเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่มีนักดื่ม


ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนในครอบครัวนักดื่ม


ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนในครอบครัวนักดื่ม นับเป็นปัญหาหนึ่งที่หลายภาคส่วนพยายามรณรงค์ให้เห็นถึงโทษของแอลกอฮอล์ในหลากหลายมิติ  โดย ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงงานวิจัยผลกระทบกับเด็กและเยาวชนในครอบครัวที่มีนักดื่ม ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย (Thailand Alcohol’s Harm to Others project) ว่า  ผลกระทบของเหล้าต่อเด็กและเยาวชนไทย พบว่า 24.6 % ของเด็กและเยาวชนไทย (อายุต่ำกว่า 18 ปี ) เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ของคนอื่น 9.5 % เด็กเคยได้ผลกระทบความรุนแรงโดยตรง โดย 7.4 % ถูกดุด่าอย่างรุนแรง 3.5 % ถูกทอดทิ้ง ถูกปล่อยให้อยู่ในสถานที่ไม่ปลอดภัย และ 1.7 % ถูกตี ทำร้ายร่างกาย10.7 % เด็กอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เสี่ยงและไม่เหมาะสม โดย 7.4 % เคยอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว 5.2 % มีเงินไม่เพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กที่คุณดูแล   และ 0.1 % เด็กที่ดูแลเคยไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนที่ต้องทนกับนักดื่ม thaihealth


เด็กได้รับผลกระทบจากการดื่มของใครบ้าง


เรามักพบว่าเด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้อื่น เด็กและเยาวชนได้รับความทุกข์ทรมานจากผลกระทบเหล่านี้จากการกระทำของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ พ่อแม่ ผลวิจัยยังระบุอีกว่า การมีคนดื่มหนักในครอบครัว เพิ่มโอกาสที่เด็กจะได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ 3.3 เท่า  โดย 5.7 % จากการดื่มของพ่อแม่ (รวมพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง) 1.4 % จากการดื่มของเพื่อน  3.5 % จากการดื่มของญาติพี่น้อง และ 5.7 % จากการดื่มของคนในชุมชนหรือคนแปลกหน้า


ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนที่ต้องทนกับนักดื่ม thaihealth


นางโสรยา คู่อินทร์ คุณแม่นักสู้ที่ถูกกระทำจนต้องเข้ารับการบำบัด เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่ออดีตสามีดื่มแอลกอฮอล์  ว่า มีปัญหาครอบครัวเกิดขึ้น ตนเองถูกทำร้ายร่างกาย และลูกชายรับรู้ถึงความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งลูกชายจากเด็กที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และกล้าแสดงออก กลับเป็นโรคซึมเศร้าจนต้องเข้ารับการรักษา แต่ปัจจุบันเธอก็สามารถออกมาจากความรุนแรงนั้นได้ ลูกชายก็อาการดีขึ้น และสุขภาวะในครอบครัวก็ดีขึ้นตามลำดับ เพราะเธอสามารถสลัดเหตุการณ์ที่จะพาเธอและลูกๆ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ได้ และยังเป็นกำลังใจให้อีกหลายครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกับเธอ ให้ปลอดภัยและผ่านพ้นปัญหาต่างๆไปได้


ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนที่ต้องทนกับนักดื่ม thaihealth


นับว่าช่วงสามเดือนที่ผ่านมา การรณรงค์ งดเหล้า เข้าพรรษา ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว หลายครอบครัวไม่พบเจอปัญหาความรุนแรง และหลายคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น สสส.ขอแสดงความยินดีกับทุกคนที่สามารถงดเหล้าครบพรรษา และขอเป็นกำลังใจให้งดเหล้าต่อไปตลอดชีวิต เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเองและลดปัญหาสังคมที่คุณอาจเป็นสาเหตุของปัญหานั้นๆ ดังกรณีตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นได้

Shares:
QR Code :
QR Code