ความเป็นมาวันเยาวชนแห่งชาติ
สืบเนื่องมาจากคำประกาศขององค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ปีพุทธศักราช 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากลภายใต้คำขวัญ “Participation Development and Peace”
สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ โดยถือว่าเป็นวันที่เป็นสิริมงคลอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์สองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ จึงถือได้ว่าเป็นวันสิริมงคลที่เยาวชนควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ เยาวชนควรกระตือรือล้นในการพัฒนาตนเองและประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติเฉกเช่นยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์
เรามีวันเด็กแห่งชาติโดยถือวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี แต่ที่มุ่งเป็นเยาวชนโดยเริ่มในปีเยาวชนสากลนั้น เนื่องจากความหมายสากลของเยาวชน หมายถึงคนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15 – 25 ปี ในขณะที่เด็กมักจะหมายถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 14 ปี
ในประเทศไทยจากการสำรวจมีเยาวชนจำนวนถึง 11 ล้านคนเศษ และจำนวนนี้จะเพิ่มมากขึ้นในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6และต่อเนื่องไปถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 13 ล้านคน ในช่วงเวลานี้ จากนั้นจำนวนจะค่อย ๆ ลดลง
นับแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นไป เยาวชนของชาติจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน และพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นเยาวชนจำนวน 11 ล้านคน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ควรได้ตระหนักว่า เยาวชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ซึ่งเยาวชนสามารถกระทำได้โดยการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้อง อาทิ นิยมใช้สินค้าไทย ภูมิใจและหวงแหนปรารถนาที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รู้จักประหยัดและมีวินัย รวมทั้ง พร้อมที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชาติ ตลอดจนยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่การพัฒนาไปตามลำพังนั้นเป็นการพัฒนาเพียงส่วนเดียวย่อมได้ประโยชน์ไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เยาวชนทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมในทุกรูปแบบด้วยจึงจะสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างเต็มที่
ส่วนสำคัญมากอีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาเยาวชน คือ ภาคเอกชน ธุรกิจเอกชน ควรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชนของชาติให้มากยิ่งขึ้น การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการพัฒนาเยาวชนไปฝ่ายเดียว คงไม่สามารถพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพและคุณธรรมได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้หากธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชน ในด้านการฝึกอาชีพต่าง ๆ ซึ่งธุรกิจเอกชนนั้นดำเนินการอยู่ ก็จะสามารถช่วยให้เยาวชนมีความสามารถในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น มีงานทำและมีรายได้
อย่างไรก็ตาม อีกสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญมากเช่นกัน ได้แก่ สถาบันครอบครัว ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองมีความเข้าใจ เอาใจใส่ทะนุถนอมให้ความรักและความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้องแล้วก็จะสามารถช่วยให้เยาวชนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและคุณธรรมได้อย่างแน่นอน
คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2528เป็นปีเยาวชนสากล โดยใช้คำขวัญ “Participation, Development and Peace” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 20กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ และมอบคำขวัญที่ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” ซึ่งมีความหมายละเอียดลึกซึ้งต่อเยาวชนทุกคน สามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติดังนี้
ร่วมแรงแข็งขัน (participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส ได้ใช้โอกาสและพึงพอใจที่ได้ใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่าโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่นั้น เป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติที่สำคัญ
ช่วยกันพัฒนา (development) การพัฒนานั้นมองได้ 2มิติ มิติหนึ่งคือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล และอีกมิติหนึ่งคือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญ และอีกมิติหนึ่งคือการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ขณะเดียวกัน การพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วยกระบวนการพัฒนา 2ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่อง สัมพันธ์กัน และในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จะมีผลอย่างสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ
ใฝ่หาสันติ (peace) สันติภาพเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและดำรงคงไว้ คนหนุ่มสาวจึงต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ ผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วยสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพพื้นฐาน
ที่มา :คลังปัญญาไทย