ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับบุหรี่

ที่มา: หนังสือ คู่มือชุดนิทรรศการยืม-คืน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตประเด็น "บุหรี่และยาสูบ"


จัดทำโดย: สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.


ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับสูบบุหรี่  thaihealth


แฟ้มภาพ


บุหรี่และยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใกล้ชิดชีวิตของเยาวชนยุคปัจจุบันแบบใกล้ปลายจมูก เทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้เยาวชนเข้าถึงข้อมูลและแหล่งซื้อขายได้อย่างง่ายดาย เป็นสัญญาณได้ว่าหากมีนักสูบหน้าใหม่เป็นเด็กและเยาวชนมากขึ้นเท่าใด สถานการณ์การสูบบุหรี่ในอนาคตก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น 


ความเชื่อผิดๆที่ส่งผลให้การสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจนหน้ากลัว


1.สูบบุหรี่สามารถลดความอ้วนได้ แม้จะมีกระแสนิยมนี้ในต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าเมื่อสูบบุหรี่จะมีสารชนิดหนึ่งไปกดประสาทส่วนที่คอยกระตุ้นความหิว ทำให้ไม่ค่อยหิวหรืออยากอาหาร  แต่ในความเป็นจริงคือยังไม่มีผลการศึกษาใดมายืนยันได้ว่า การสูบบุหรี่เป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ได้ผล ที่สำคัญคือร่างกายจะได้รับสารพิษจากการสูบบุหรี่ที่อาจส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่ามากการลดน้ำหนัก


2. เลิกบุหรี่แล้วทำให้ไม่แข็งแรง ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริง เพราะเราจะได้กำไรชีวิตในระยะยาวคุ้มกว่ามาก แต่ช่วงแรกที่เลิกสูบบุหรี่อาจมีอาการเล็กน้อย ที่มาจากพิษสะสมของ “นิโคติน” ที่ร่างกายเสพมานาน


3. บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกประกาศแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้า “ไม่ใช่อุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่” โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับล่าสุดคือผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMAชี้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (e-cigarette) ไม่ได้ทำให้อัตราการเลิกบุหรี่ลดลงหลังจากการใช้ 1  ปีแต่อย่างใดที่สำคัญในบุหรี่ไฟฟ้ามี “นิโคติน” ที่เข้มข้นซึ่งอันตรายต่อสุขภาพ


4.  สูบแบบไม่สูดควันลงปอดไม่เป็นอะไร การสูบบุหรี่วิธีนี้ไม่ใช่ทางออก เพราะทันทีที่สูบบุหรี่ ควันจะลงปอดไม่มากก็น้อย ขณะที่ยังมีสารเคมีบางส่วนสามารถฉาบอยู่บนฟันและเหงือก ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก


5.บุหรี่แบบสลิมปลอดภัยกว่า  ขึ้นชื่อว่าบุหรี่มียาสูบแล้วล้วนมีความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งสิ้น  ซ้ำร้ายบุหรี่ที่ให้รสสัมผัสหอมเย็นอย่าง “เมนทอล” ยิ่งทำให้ผู้สูบ “ติด” ง่ายขึ้นกว่าบุหรี่ทั่วไป ซึ่งผลลัพธ์คือได้ “นิโคติน” และ “น้ำมันดิน” ที่เป็นอันตรายเหมือนกัน


6.สูบบุหรี่นอกปลอดภัย จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดร่วมกับแผนกสุขภาพแมสสาชูเสตต์เผยว่าบุหรี่ยี่ห้อดังหลายแบรนด์มีปริมาณ “นิโคติน” เพิ่มขึ้นถึงราว 11%


7. บุหรี่ช่วยให้สมองแล่น คิดงานได้ ผลลัพธ์นี้เกิดจากสิ่งที่ผู้สูบ “คาดไว้” ในใจมากกว่า ด้วยพิษของ“นิโคติน” ที่ส่งผลต่อสมอง ทำให้ผู้สูบคิดว่าได้ผลลัพธ์คือคลายเครียดจนเกิดไอเดียผลิตงานได้ แต่แท้จริงแล้วนี่คือ   “ผลลวง (Placebo effect)” ที่ผู้เชี่ยวชาญท่านว่ามาที่เรา “มโน” ไว้ล่วงหน้าก่อน (Nicotine & Tobacco Research Volume 5,  Number 5  (October 2003) 695-709)


8.บุหรี่ให้ผลร้ายเฉพาะผู้สูบ   ปัจจุบันมีข้อมูลพบว่าสารเคมีตัวร้ายคือ “นิโคติน” ในบุหรี่พบได้ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มันสามารถเข้าถึงสมองได้ภายใน 8-10 วินาที และที่สำคัญคือสามารถพบใน “นมแม่” ได้ด้วย (PEDIATRICS Vol.    120    No.   3  September 1,  2007 pp.   497    -502)


9. สูบบุหรี่มานานไม่เป็นอะไรไม่ต้องกลัว  มีรายงานและผลสรุปอันตรายจากการสูบบุหรี่ทั้งระยะสั้นและระยะยาวมากมายยืนยันถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ แม้ตอนนี้ผลลัพธ์ทางร่างกายอาจยังไม่เด่นชัด แต่ในระยะยาวสารพิษที่สะสมในร่างกายจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยไม่มากก็น้อย    


10.สูบบุหรี่ดีกว่าดื่มเหล้า จากการสำรวจพบว่าการสูบบุหรี่มีส่วนกระตุ้นให้มีโอกาสยกเหล้าเข้าปากมากขึ้น ลองสังเกตง่ายๆ เวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่ก็มักชวนให้รู้สึก “อยาก” ไปด้วย และเพื่อไม่ให้เหงาปากเพิ่ม ก็มักมีการดื่มเหล้าเข้ามาด้วย จากการศึกษาชี้ว่าถ้าเสพร่วมกันจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งช่องปากและคออย่างทวีคูณ (Multiplicative effect)

Shares:
QR Code :
QR Code