ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเดิน

ที่มา : SOOK Magazine No.60


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเดิน thaihealth


เพราะการเดิน คือการก้าวเท้าต่อเนื่องกันไป หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องง่าย แต่จริง ๆ แล้วมีบางอย่างที่เราเข้าใจ ไม่ถูกต้องและอาจทำให้เกิดอันตราย


1. เข้าใจผิดว่า การเดินไม่ใช่การออกกำลังกาย


แม้การเดินจะมีประโยชน์มากมาย แต่หลายคนเข้าใจว่าการออกกำลังกายจะต้อง เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็วเท่านั้น จึงไม่นับการเดินเป็นการออกกำลังกาย การศึกษาจาก Lawrence Berkeley National Laboratory พบว่า การเดิน และการวิ่งมีผลต่อร่างกายคล้ายคลึงกัน คือทำให้ร่างกายแข็งแรง สมองแจ่มใส ลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจได้ไม่แตกต่างกัน ดังนั้น การเดินจึงเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้


2. เข้าใจผิดว่า การเดินและวิ่งในระยะทางเท่ากันจะเผาผลาญพลังงานเท่ากัน


แคลอรีเป็นหน่วยของพลังงานที่ได้จากการกินอาหาร หลายคนเข้าใจผิดว่าการเดินและวิ่งในระยะทางเท่ากัน จะเผาผลาญแคลอรีได้เท่ากัน แต่ตัวแปรสำคัญ คือ น้ำหนักตัว คนที่น้ำหนักตัวมาก ก็ยิ่งมีแคลอรีที่ร่างกายต้องเผาผลาญมาก ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวด้วยความเร็วเท่าใดก็ตาม เช่น คนที่น้ำหนัก 59 กิโลกรัม เดิน 1.5 กิโลเมตรภายใน 20 นาที จะเผาผลาญพลังงานได้ 72 แคลอรี ส่วนคนที่น้ำหนัก 81 กิโลกรัม เดินในระยะทางและความเร็วเท่ากันจะเผาผลาญได้ 100 แคลอรี แต่หากเพิ่มความเร็วในการเดินเป็น 15 นาทีต่อระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ร่างกายจะเผาผลาญ เพิ่มขึ้นอีก 45 แคลอรี เพราะต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเพิ่มความเร็วไม่ได้ สามารถเพิ่มระยะทางได้ ดังนั้น การเดินและวิ่งในระยะทางเท่ากันอาจจะเผาผลาญพลังงานได้ไม่เท่ากัน


3. เข้าใจผิดว่า การเดินพร้อมยกเวทช่วยให้ได้ผลลัพธ์ดีขึ้น


หลายคนคิดว่าการยกเวทไปด้วยระหว่างเดินจะช่วยเผาผลาญแคลอรีได้มากขึ้น หรือ กระชับแขนได้มากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วอาจได้รับประโยชน์น้อยกว่าที่ออกแรงไป หากเราหนัก 68 กิโลกรัม เดิน 2.6 กิโลเมตรภายในเวลา 30 นาที ร่างกายจะเผาผลาญได้ 153 แคลอรี ถ้าเรายกเวทหนัก 2 กิโลกรัมร่วมด้วยอัตราการเผาผลาญจะเพิ่มขึ้นประมาณ 12 แคลอรี่เท่านั้น ขณะที่การยกเวทระหว่างเดินทำให้มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เพราะแขนต้องถ่วงน้ำหนักในการแกว่งไปข้างหน้า ข้างหลัง และทำให้ก้าวขาได้ช้าลง ดังนั้น หากต้องการกระชับแขนและไหล่ การออกกำลังที่เน้นบริหารส่วนอกหรือลำตัวส่วนบนจะเห็นผลมากกว่า และยังช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นล้วนส่งผลต่อข้อต่อทั้งสิ้น


4. เข้าใจผิดว่า อาการผิดปกติที่เกิดระหว่างเดิน คือปวดขาอย่างเดียวเท่านั้น


นอกจากปวดขาแล้ว ระหว่างเดินอาจมีอาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ควรใส่ใจและป้องกัน เช่น


– ตุ่มน้ำพุพอง เกิดจากการเสียดสีของเท้ากับรองเท้า ป้องกันโดยให้เท้าแห้งเสมอ ใส่รองเท้าที่กระชับคู่กับถุงเท้าที่ระบายอากาศได้ดีไม่มีตะเข็บ นักเดินบางคนค้นพบว่า การสวมถุงเท้า 2 ชั้น โดยสวมถุงเท้าเนื้อบางก่อน แล้วทับด้วยถุงเท้าทั่วไปช่วยป้องกันได้ แต่หากเริ่มมีตุ่มพองเล็ก ๆ เกิดขึ้น อาจใช้ผ้าก๊อซบาง ๆ หรือปลาสเตอร์ปิดทับไว้ชั่วคราว เมื่อหยุดเดินให้ล้างน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด ปล่อยให้ตุ่มแห้ง


– มือบวม เกิดจากการแกว่งแขนระดับต่ำกว่าลำตัวระหว่างเดินเป็นเวลานาน ทำให้เลือดคั่งบริเวณปลายนิ้ว แก้ได้โดยการเดินงอแขน 90 องศา แต่หากยังมีอาการอยู่ อาจงอแขนตอนแกว่งแขนไปข้างหน้า แต่ยืดแขนขึ้นตอนแกว่งมาด้านหลัง หรือแบมือสลับกับกำมือระหว่างเดิน เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้อาจยกแขนข้างหนึ่งขึ้นเหนือศีรษะ สะบัดนิ้ว 15-30 วินาที ส่วนแขนอีกข้างงอไว้แนบลำตัว แล้วสลับทำกับแขนอีกข้าง จะช่วยให้อาการบวมทุเลาลง


– ปวดสีข้าง เกิดจากกล้ามเนื้อหน้าท้องมีการบาดเจ็บ มักพบในผู้ที่มีกล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง คนที่เดินเป็นประจำพบอาการนี้น้อย แก้ไขโดยการลดความเร็วลง วางมือไว้ด้านหลังศีรษะ สูดลมหายใจเข้า ลองงอตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยระหว่างนวดบริเวณที่ปวด วิธีนี้จะช่วยทุเลาอาการลงภายใน 2-3 นาที หากปวดมากขึ้นให้นั่งพักอาการจะทุเลาลง


5. เข้าใจผิดว่า การก้าวยาวทำให้เดินได้เร็ว


จริง ๆ แล้ว เมื่อเราก้าวเท้าที่ยาวมากกว่าปกติ น้ำหนักจะลงบนขาที่ก้าวออกไปมาก ขาอีกข้างจะทำหน้าที่เหมือนเป็นเบรก อาจทำให้การทรงตัวเสียไป ทำให้เดินช้าลง ดังนั้นวิธีที่ถูกต้องคือ เดินด้วยก้าวปกติ และเพิ่มความเร็ว วางเท้าข้างที่ก้าวไปข้างหน้า เกือบจะตรงกับตัวขณะลงน้ำหนักไปที่ก้าวถัดไปจะช่วยทำให้เดินเร็วขึ้น ไม่เสียการทรงตัวเพราะย้ายน้ำหนักตัวไปที่เท้าที่ก้าวไปข้างหน้าแทน


 

Shares:
QR Code :
QR Code