‘ความหวัง’ ในกระบอกไม้ไผ่

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 


ภาพประกอบจากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 


‘ความหวัง’ ในกระบอกไม้ไผ่ thaihealth


12 ปีที่แล้วคลื่นยักษ์สึนามิพัดพาทุกอย่างไป แต่ด้วยหัวใจที่ไม่สิ้นหวัง ผู้หญิงกลุ่มนี้ใช้กระบอกไม้ไผ่อันเล็กๆ ฟื้นฟูชีวิตของเด็กๆ ผู้สูญเสีย เสียงผ่ากระบอกไม้ไผ่ดังลั่นภายในโรงยิมเนเซียมโรงเรียนบ้านกำพวน หมู่ที่ 2 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ดังผสมไปกับเสียงสายฝนที่สาดกระหน่ำ และเสียงของกลุ่มเยาวชนที่กำลังก้มหน้าก้มตานับเหรียญที่ได้จากการผ่ากระบอกไม้ไผ่ กว่า 60 กระบอกที่ชาวบ้านช่วยกันบริจาคเพื่อเป็นกองทุนสำหรับเด็กกำพร้า


“ปีนี้ กระบอกไม่ไผ่เพิ่มขึ้นเป็น 60 กระบอก เงินบริจาคก็น่าจะเยอะตามไปด้วย” จ๊ะมะจริยา สาลี แกนนำกลุ่ม “สตรีสัมพันธ์” แห่งบ้านกำพวน ผู้ริเริ่ม “กองทุนวันละบาท” จากกระบอกไม้ไผ่ กล่าวด้วยแววตาปลื้มปิติ และไม่เพียงแต่จำนวนกระบอกไม้ไผ่เท่านั้นที่เพิ่มขึ้น จำนวนคนจากทุก ๆ หมู่บ้านในกำพวนก็เข้ามาร่วมกิจกรรม “นับเหรียญ” ในค่ำคืนนี้…มากกว่าครั้งไหนๆ


‘ความหวัง’ ในกระบอกไม้ไผ่ thaihealth


แค่คนละ 1 บาท


หากย้อนกลับไปในราวปี 2547 หลังสึนามิขึ้นฝั่งแล้วพรากเอาชีวิตผู้คนและทรัพย์ของพื้นที่จังหวัดชายฝั่งอันดามันไปไม่น้อย จังหวัดระนองก็เป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นเช่นกัน


“ระนองมีผู้ประสบภัย 1,509 ครัวเรือน เสียชีวิต 159 คน สูญหายไป 6 คน นี่ยังไม่รวมผลกระทบที่เป็นปัญหามากคือ สภาพจิตใจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง คือผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สูญเสียทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย” อิสหาก สาลี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง กล่าวถึงสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นในบ้านกำพวนในช่วงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ จากนั้นความช่วยเหลือก็เข้ามาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องงบประมาณ การเข้ามาหนุนเรื่องกลุ่มอาชีพ ให้เครื่องมือทำมาหาแก่กินชาวบ้านสำหรับการดำเนินชีวิตในอนาคต บ้างนำหยูกยามาแจกจ่ายในชุมชน ซึ่งทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้มีกำลังใจในการที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง


“แต่ตอนนั้น ปัญหาที่คนยังไม่เห็นคือเรื่องเด็กกำพร้า เพราะเด็กๆ หลายคนเสียพ่อ บางคนเสียแม่ มีบางส่วนที่เสียทั้งพ่อและแม่เด็กกลุ่มนี้ตกหล่นจากการให้ความช่วยเหลือ เราจึงต้องหาทางช่วยพวกเขา” ซึ่งความช่วยเหลือเบื้องแรกที่ “จ๊ะมะ” หรือ จริยา สาลี แกนนำกลุ่มสตรีสัมพันธ์พูดถึงคือการจัดตั้งกลุ่ม “สุขสำราญมัดย้อม” ขึ้นในปี 2548 เพื่อทำการผลิตเสื้อยืดย้อมสีธรรมชาติจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวจนเป็นที่นิยม และนำรายได้ส่วนหนึ่งไปจัดทำเป็นกองทุนสวัสดิการเพื่อเด็กกำพร้า


แม้คนทำจะไม่มีรายได้ เพราะมาด้วยใจอยากช่วยเหลือ ซึ่งเป็น “กิจของมุสลิม” ที่ต้องดูแลช่วยเหลือเด็กกำพร้า จึงทำให้กิจการผ้ามัดย้อมดำเนินไปด้วยดี มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ สามารถระดมเงินเพื่อช่วยเด็กได้กว่า 20 คน


แต่เมื่อคลื่นความช่วยเหลือเริ่มเบาลง ลูกค้าผ้ามัดย้อมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเริ่มลดลง แต่กองทุนยังต้องดำเนินต่อไป จ๊ะมะจึงร่วมกับสตรีในชุมชนตั้งกลุ่มใหม่ในนาม “กลุ่มสตรีสัมพันธ์” โดยรวมเอากลุ่มอาชีพที่มีอยู่ในชุมชน อาทิ กลุ่มตัดเย็บ กลุ่มขายข้าว มาทำงานร่วมกัน เมื่อแต่ละกลุ่มอาชีพมีรายได้เข้ามาก็จะหักเงินส่วนหนึ่งมาเป็น “กองทุนเพื่อเด็กกำพร้า”


“ทุกๆ เดือนเราก็จะส่งคนไปเก็บตามบ้าน แต่พอเก็บไปเรื่อยๆ บางคนยังไม่พร้อมก็ยังไม่มีให้ ระยะหลังคนเก็บก็ไม่กล้าไปเก็บ จึงมาหารือกันในกลุ่มก็มีสมาชิกคนหนึ่งพูดขึ้นว่าน่าจะทำเป็นกระบอกไม้ไผ่ ไปแขวนไว้หยอดวันละบาท ถึงสิ้นเดือนเราก็ไปเก็บกระบอกไม้ไผ่กลับมา ซึ่งวิธีนี้ได้ผล เพราะไม่ทำให้คนถูกเก็บเสียหน้า คนไปเก็บก็อยากไป ที่สำคัญคือกระบอกไม้ไผ่ยังกระจายตัวไปตามร้านอาหารหรือที่อื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เราก็ได้เงินกองทุนเพิ่มขึ้น”


จากเงินคนละบาทสะสมไปเรื่อยๆ จนครบปี เมื่อนำมาผ่าออกก็ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ สามารถจัดสรรปันส่วนแจกจ่ายเป็นเงินกองทุนเพื่อการศึกษาแก่เด็กกำพร้าในชุมชนได้อย่างทั่วถึงไม่ตกหล่น สำหรับกระบอกไม้ไผ่ ไม่ใช่แค่วัตถุชนิดหนึ่งที่แขวนไว้ตามบ้าน หรือร้านอาหารสำหรับรวบรวบเศษสตางค์ของคนที่บ้านกำพวน แต่มันคือสัญลักษณ์ของความร่วมไม้ร่วมมือในการที่จะดูและซึ่งกันและกัน เป็นตัวแทนของการทำความดีแบบง่ายๆ ของทุกคนที่ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่มี “เหรียญ” ทุกคนก็จะกลายเป็น “มือบน” เปลี่ยนสถานะจาก “ผู้รับ” เป็น “ผู้ให้” ได้อย่างไม่ยากเย็น


“หลังเกิดสึนามิ เราเป็นมือล่าง คือมือรอรับเพียงอย่างเดียว หรือแม้แต่บางคนก็ไม่เป็นทั้งมือบน และมือล่างเนื่องจากไม่รู้จะเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างไร แต่พอมือบนค่อย ๆ หดกลับไป พวกเราเองนั้นแหละที่จะเป็นทั้งมือบน และมือล่างให้แก่กันและกัน” จ๊ะมะ กล่าว


‘ความหวัง’ ในกระบอกไม้ไผ่ thaihealth


เชื่อมร้อยด้วยหลักศาสนา


เงิน 1 บาทที่รวบรวมจากการผ่ากระบอกไม้ไผ่ในทุกๆ ปี จะถูกจัดสรรในจำนวนเท่า ๆ กันเพื่อกระจายสู่เด็กกำพร้าที่บ้านกำพวน โดยรายชื่อของเด็กๆ จะมาจากทางโรงเรียนที่เสนอชื่อเข้ามาบางส่วนเป็นรายชื่อของมัสยิด แต่ที่ผ่านมาบางครั้งรายชื่อบางคนที่ไม่เป็นกำพร้าจะถูกแทรกเข้ามา ปัญหาตรงนี้ได้รับการแก้ไขเมื่อกลุ่มสตรีสัมพันธ์ได้ทำงานรวมกับแกนนำชุมชน และผู้นำศาสนา ผ่านโครงการ'ชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ'ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ นั่นจึงทำให้กระบวนการคัดกรองรายชื่อเด็กเกิดการความโปร่งใสมากขึ้น และสิ่งที่เป็นความก้าวหน้าที่สุดของการทำงานคือ การจัดทำทะเบียนเด็กกำพร้าและเด็กผู้ยากไร้อย่างเป็นระบบ


“เมื่อก่อนข้อมูลค่อนข้างสะเปะสะปะ ไม่เป็นระเบียบ ใครมาลงชื่อว่าเป็นเด็กกำพร้าก็จะได้ หลังทำโครงการเราออกกฎบังคับมีระเบียบ มีกติกามากขึ้น ซึ่งพอป็นระบบ ก็เกิดการยอมรับและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จึงทำให้จำนวนยอดของกระบอกค่อยขยายขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ทำกันในวงแคบ จากปีแรกเริ่มต้นที่ 20 กระบอกก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากหลักสิบค่อยๆ ขยับเป็นหลักร้อย”


อย่างไรก็ตาม จ๊ะมะมองว่าเด็กกำพร้าไม่ได้มีเฉพาะบ้านกำพวนหมู่ 2 เพียงหมู่บ้านเดียวจะทำอย่างไรให้แนวคิดดังกล่าวได้รับการขยายผลออกไปยังหมู่บ้านอื่นๆ “จากการทำงานรู้กันในกลุ่มของพวกเราเองไม่กี่คน เราต้องการให้มีการรับรู้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับกองทุนต่อไป” แนวทางการขยายผลคือการทำประชาสัมพันธ์ เปิดตัวโครงการกองทุนกระบอกไม้ไผ่อย่างเป็นทางการ เพื่อแนะนำที่มาและเป้าหมายของโครงการ รวมทั้งแผนงานที่จะดำเนินงาน ทั้งขอคำชี้แนะจากผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และผู้อาวุโสในชุมชน อีกทั้งขอความอนุเคราะห์ในการประชาสัมพันธ์การทำงานของกองทุนฯ ซึ่งการเปิดตัวอย่างเป็นทางการทำให้เกิดการรับรู้ในกลุ่มผู้นำศาสนาในพื้นที่ทั้ง 6 มัสยิด คือ มัสยิดอัตเตาฟีกีย๊ะห์ มัสยิดกามารุดดีน มัสยิดนูรุลบะฮ์รี มัสยิดมิสบาฮุดดิน มัสยิดเราฎอตุลยัณนะฮ์ และมัสยิดนูรลฮีดาน๊ะห์


“ผู้นำแต่ละมัสยิดได้กรุณาประชาสัมพันธ์กองทุนฯ โดยเชื่อมโยงถึงหลักการทางศาสนา จนเกิดความสนใจและการบอกต่อในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันการได้ประชุมทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เช่น มัสยิสอัตเตาฟีกีย๊ะห์ และมัสยิดเราฎอตุลยัณนะอ์ ได้กำหนดให้มีการเรียนการสอนหลักธรรมศาสนาให้กับกลุ่มสตรีมุสลิม โดยมีคณะทำงานกองทุนวันละบาทเข้าร่วมเรียนรู้ ถ่ายทอด ซึ่งเป็นบทบาทของสตรีมุสลิมที่มีจิตอาสาทำงานเพื่อชุมชนด้วยหลักศาสนาจนเกิดการยอมรับในวงกว้าง” จ๊ะม๊ะเล่าถึงการทำงานของกลุ่มฯ


เมื่อได้รับการยอมรับมากขึ้นวาระการมอบทุนประจำปีของกองทุนฯ จึงเป็นโอกาสที่ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก ทั้งปลัดอำเภอซึ่งได้รับมอบหมายจากนายอำเภอสุขสำราญให้เป็นตัวแทนเข้าร่วม ผู้นำศาสนาระดับจังหวัด ซึ่งส่งผลต่อกำลังใจของทีมงานเป็นอันมากเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงที่ทำให้ทุกฝ่ายมีเวทีที่จะเข้ามามีส่วนร่วม


อีกด้านหนึ่งในส่วนของคนทำงานก็ได้รับความสะดวกมากขึ้นจากการที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกไปเยี่ยมเยือนกลุ่มเป้าหมาย เพราะในการทำงานของกองทุนฯ ไม่ใช่การให้ทุนแล้วจบเลย หากแต่มีการออกไปเยี่ยมบ้านของเด็กกำพร้าและเด็กผู้ยากไร้เพื่อดูแลให้ความอบอุ่นด้านจิตวิญญาณ ให้กำลังใจ ดูแลความเป็นอยู่ สุขภาพร่างกาย เป็นการเกื้อกูลความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน ขณะเดียวกันก็ถือโอกาสติดตามเก็บกระบอกไม้ไผ่เพื่อรวบรวมเงินบริจาคในแต่ละเดือนไปพร้อมกับการเก็บข้อมูลสภาพปัญหาของชุมชนด้วย


‘ความหวัง’ ในกระบอกไม้ไผ่ thaihealth


จากตำบลขยายสู่จังหวัด


จากหนึ่งกลายเป็นสองสาม จากหมู่บ้านขยายเป็นตำบล-อำเภอ-จังหวัด ล่าสุดการเข้ามาเป็นแนวร่วมของทรงศักดิ์ หมานจิตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดระนองถือเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กกำพร้าและความเหลื่อมล้ำของคนกำพวน เพราะสะท้อนให้เห็นว่า “ผู้นำระดับบน” ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้


“ในฐานะที่ผมดูแลกิจการสตรีมุสลิมจังหวัดระนองเห็นว่า ในอำเภอสุขสำราญมีที่เดียวคือของคุณจริยาที่ทำเรื่องกองทุนกระบอกไม้ไผ่ ผมก็เอาแนวคิดนี้ไประดมทุนจากคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยจังหวัดระนองที่มีทั้งหมด 21 คน คนละ 1,000 บาท และกรรมการระดับล่างๆ คนละ 500 บาท ก็ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง เราก็ใช้หลักการเดียวกันคือเอาเงินจำนวนนี้ไปใช้จ่ายในกิจกรรมดูแลเด็กกำพร้าให้กับผู้พิการ และอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละมัสยิดจะเข้าไปดำเนินงาน”


ความภูมิใจของกองทุนวันละบาทคือ ได้ให้ทุนแก่เด็กกำพร้าเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จาก 24 คนในปี 2551 เป็น 50 คนในปี 2554 และ 60 คนในปีต่อมา ส่วนการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ที่เคยถูกละเลยจากชุมชนนั้น กระบวนการที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ปัจจุบันทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้นำศาสนา และคนในชุมชนต่างหันมาทักทายพูดคุยกัน ไม่รังเกียจกันเหมือนในอดีต เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานอย่างหนักหน่วงและเข้มข้นของกลุ่มสตรีสัมพันธ์กว่า 10 ปี ที่เริ่มจากคนสามคน ระหว่างทางก็หาแนวร่วมเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มการเมืองท้องถิ่น กลุ่มผู้นำศาสนาโรงพยาบาลและ รพ.สต.นั้นมาถูกทางแล้ว


“กองทุนวันละบาท” จากกระบอกไม้ไผ่คือตัวอย่างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของชุมชน เป็นมือเล็กๆ ที่ประสานกันอย่างแข็งแรงจนสามารถแก้ไขปัญหาหนักหน่วงและเรื้อรังมานานนับสิบปีได้ ขอเพียงมี “คนเริ่ม” และ “คนสนับสนุน” ให้การยอมรับ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีกระบวนการทำงานที่โปร่งใส่ ตรวจสอบได้


ปีนี้กระบอกไม้ไผ่เพิ่มขึ้นเป็น60กระบอกซึ่งแน่นอนว่ายอดเงินบริจาคย่อมเพิ่มตามด้วยแต่ไม่เพียงจำนวนกระบอกไม้ไผ่เท่านั้นที่เพิ่มขึ้น จำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรม“นับเหรียญ”ในค่ำคืนนี้ก็มากกว่าครั้งไหนๆพร้อมกับรอยยิ้มที่กว้างกว่าเดิม

Shares:
QR Code :
QR Code