‘ความสุข’ คนไทยสร้างได้

ภายหลังองค์การสหประชาชาติ (The United Nation : UN) เผยถึงผลสำรวจระดับความสุขใน 156 ประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 20 มีนาคม : ‘วันความสุขสากล’ ที่จัดขึ้นเป็นปีแรกว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 52 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียนรองจาก สิงคโปร์ (อันดับที่ 33) และมาเลเซีย (อันดับที่ 51) โดยมีระดับความอารมณ์ดีเป็นลำดับที่ 8 และมีอารมณ์เสียน้อยเป็นลำดับที่ 14 ของโลกนั้น

ในความเป็นจริง กลับพบว่า ประเทศไทย ยังคงมี ‘ข่าว’ ในลักษณะ

จน เป็น ‘หนี้นอกระบบ’ โดดตึก!!

‘ซึมเศร้า’ เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง!!

ตกงาน ‘เครียด’ ยอดป่วยพุ่ง!!

เป็น ‘พาดหัวข่าว’ ขาประจำของหนังสือพิมพ์รายวันที่วนเวียนมารายงานให้เห็นเป็นปกติ

ชวนให้สงสัยว่า จริงๆ แล้ว คนไทยมี ‘ความสุขดี’ จริงหรือเปล่า และแท้จริงแล้ว อะไรคือปัจจัยกำหนดความสุขของคนเรา?

ความสุขสร้างได้

หากถามว่า ความสุขมีความสำคัญมากเพียงใดกับชีวิตมนุษย์ การออกมาประกาศถึงทิศทางการพัฒนาโลกของสหประชาชาติเมื่อไม่นานมานี้ว่า ประชาคมโลกควรหันมาสนใจในเรื่องของ ‘ความสุข’ ให้เป็นเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาโลก อย่าได้ดูแต่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ก็น่าจะพอจำกัดความได้ว่า ‘ความสุข’ เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่แต่ละชีวิต ‘ต้อง’ คำนึงถึง

นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า ความสุขของคนไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องรายได้ การงานที่มั่นคง สุขภาพ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว การอยู่ในชุมชนที่เกื้อกูล รวมถึงการปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา และธรรมชาติที่แวดล้อม

“แต่ละคน มองเรื่องความสุขแตกต่างกันไป บางคนมองว่าความสุขเป็นเรื่องส่วนตัว ขณะที่บางคนมองเป็นภาพใหญ่ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบความสุขทุกข์ของประชาชน แต่จริงๆ แล้ว อยากให้มองว่า ‘ความสุขเป็นความรับผิดชอบของทุกคน’ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม งานวิจัยส่วนหนึ่งของเราพบว่า ครอบครัวที่มีเวลาให้แก่กัน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และคนที่ปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนาอย่างเคร่งครัด จะมีคะแนนความสุขมากกว่า”

ส่วนปัจจัยที่ ‘ลดทอน’ ความสุขของคนไทยนั้น มีหลายปัจจัยเช่นกัน อาทิ การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ การมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว การมีหนี้สินนอกระบบ รวมถึงเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน และการตกงาน เป็นต้น

”ทั้งนี้ ผลสำรวจยังพบว่า คนที่มีรายได้ดีมักจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ‘รวย’ แล้วจะมีความสุข เพราะมีปัจจัยหลายอย่างในการกำหนดความสุขของเราอยู่ ถ้ารายได้สูง ส่งผลให้คะแนนความสุขดี แต่เมื่อไปรวมกับคะแนนโรคประจำตัว และคะแนนความสัมพันธ์ในบ้านหรือคนรอบข้างต่ำ แน่นอนว่า คนๆ นั้น แม้จะมีปัจจัยความสุขจำนวนหนึ่ง แต่ก็ต้องบอกว่ามีปัจจัยความสุขที่เป็นลบคอยดึงกันอยู่ด้วย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อมีการวัดผลความสุขในภาพรวม เขาไม่ได้วัดเพียงระดับการเจริญเติบโตของชุมชนหรือปัจจัยทางวัตถุเท่านั้น แต่ยังวัดถึงความรู้สึกของคนด้วยว่า มีความพอใจในชีวิตมากแค่ไหน” แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกล่าว

3 อ. ช่วยสร้างสุข

สำหรับประเด็นความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองมีความสุขน้อยกว่าคนที่อยู่ในชนบท ผจก.แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า “คนในสังคมชนบทมีปัจจัยความสุขต่างจากคนในสังคมเมือง มองง่ายๆ ว่า คนในสังคมเมืองมีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีความมั่นคงด้านรายได้มากกว่า ขณะที่คนชนบทมีสายสัมพันธ์ภายในชุมชนดีกว่า และอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่า อย่างไรก็ตาม คะแนนความสุขจากการสำรวจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ความสุขของคนนอกเขตเทศบาล มีคะแนนสูงกว่าคนในเขตเทศบาลเพียงเล็กน้อย”

หากแต่ ‘การมีสุขภาพดี’ ต่างหาก ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสุขให้กับชีวิต

“การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และจัดการอารมณ์หรือความเครียดอย่างเหมาะสม หรือที่รู้จักกันในหลัก 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ถือเป็นพฤติกรรมสร้างความสุขให้กับชีวิตอีกหนทางหนึ่ง นอกจากนี้  ยังต้องรู้จักจัดการชีวิตตนเอง คือรู้จักประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ รู้จักอดออม สร้างความมั่นคงทางการเงิน ไม่ก่อหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้สินนอกระบบ ประกอบกับใส่ใจสมาชิกในครอบครัว และแบ่งเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันให้ดี”

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ‘การดูแลความสุขของตัวเอง’ คือหน้าที่พื้นฐานของชีวิตประการหนึ่ง

สุขอย่างมีส่วนร่วม

แม้ความสุขจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่แต่ละคนต้องสร้างเอง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การมีน้ำใจอันดีงาม การรู้จักแบ่งปัน มิตรไมตรีในความสัมพันธ์ รวมถึงการทำคุณความดีอื่นๆ ก็นับเป็นปัจจัยสร้าง ‘ความสุข’ ให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย

“ถึงที่สุดแล้ว ความสุขมันอยู่ในมือของพวกเราทุกคน” คือคำกล่าวสั้นๆ ของ นพ.ประเวช ที่สรุปถึงการสร้างสุข “จริงๆ พวกเรามีประสบการณ์มากพอว่า เราจะทำให้คนที่อยู่ใกล้ตัวเราและตัวเรามีความสุขได้อย่างไร ต่อจากนั้น จึงเป็นการร่วมกันสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในชุมชน ที่จะต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น ตกงาน มีหนี้สิน เจ็บป่วยเรื้อรัง รวมทั้งช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งความสุขสำหรับทุกคนได้ต่อไป”

ประเด็นสำคัญในการสร้างความสุขของแต่ละคนในวันนี้ จึงอยู่ที่เมื่อรู้วิธีสร้างความสุขแล้ว ได้นำไปใช้กันหรือไม่ ตลอดจนอาจต้องทบทวนตัวเองใหม่ว่า เข้าใจ ‘ความสุข’ ที่แท้จริงของชีวิตแล้วหรือยัง?

 

 

เรื่องโดย ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code