‘ความสุข’ ของคนเมือง

‘ความสุข’ ของคนเมือง 

            บรรยากาศแห่งความรื่นรมย์ในฤดูหนาวกำลังจะมาเยือนเราในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เป็นบรรยากาศที่อาจเยียวยาหัวใจคนไทยที่เพิ่งผ่านศึกหนักของมรสุมทางเศรษฐกิจ และการเมืองในประเทศของเราที่เกิดขึ้นในปีนี้

 

            จะว่าไปแล้ว เรื่องราวของการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนเมือง เป็นเรื่องที่ถูกเอ่ยถึงกันมากที่สุด เพราะคนกรุงค่อนข้างบอบช้ำจากเหตุการณ์ความสุญเสียทางการเมืองในช่วงต้นปี จนถึงกับมีการจัดทำการสำรวจสภาพจิตใจคนเมือง และหน่วยงานภาครัฐต่างยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ มีการจัดกิจกรรมเพื่อเรียกความเชื่อมั่น ระดมความสุขและรอยยิ้มให้กลับคืนมาสู่กรุงเทพมหานครของเราในช่วงที่ผ่านมามากมายซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.เองก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่เป็นแกนหลักในการทำงานในหลากหลายกิจกรรม และเราได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในหลายโครงการ

 

            มีข้อมูลล่าสุด ที่เป็นผลสำรวจมาจากศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขของชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พบว่า ดัชนีความสุขของคนกรุงเทพยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่กำลังคิดจะจัดกิจกรรมรื่นเริงส่งท้ายปลายปี เพื่อจะได้ตอบโจทย์ความสุขที่หายไปของคนกรุงเทพให้ได้ตรงประเด็น

 

            ดัชนีความสุขของประชาชนคนไทย ในประเทศในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ลดต่ำลงจากช่วงเดือนกรกฎาคม เล็กน้อย คือจากระดับเดิมที่ 6.77 มาอยู่ที่ 6.57 จากคะแนนเต็มสิบคะแนน

 

            กลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจนั้น อาศัยอยู่ใน 28 จังหวัดทั่วประเทศและทุกภาค การสำรวจยังจำแนกดัชนีความสุขของประชาชนในภาคต่างๆ พบว่า ประชาชนในภาคเหนือมีดัชนีความสุขที่ 7.14 ในขณะเดียวกันภาคใต้เป็นอันดับรองลงมาอยู่ที่ 6.94 ตามมาด้วยภาคกลาง 6.42 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.41 และประชากรในเขตกรุงเทพมหานครมีดัชนีความสุขเพียง 5.82 เท่านั้น

 

            ตัวเลขดังกล่าว ส่งผลให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับประชาชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร และปัจจัยอะไรกันแน่ ที่เป็นตัวบั่นทอนความสุขของชาวกรุง เพราะแน่นอนว่า ตัวเลขนี้ย่อมกระทบและสะท้อนต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางพาณิชย์ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง บรรยากาศที่ซึมเซาย่อมไม่เป็นผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจ และการค้า รวมถึงการพัฒนาประเทศในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

 

            รายงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ประชาชนยังคงเบื่อหน่าย และเฉยชาต่อเรื่องการเมือง หลังจากผ่านเรื่องหนักๆ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้ว่าบรรยากาศโดยรวมจะคลี่คลาย และผ่อนคลายลงบ้างแล้วก็ตาม แต่ประชาชนในเมืองหลวงส่วนใหญ่ ยังคงวิตกกังวลต่ออนาคตปากท้องขอนตนเอง อันเนื่องมาจากผลสะท้อนของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น

 

            โดยรวมแล้ว ประเด็นหลักที่น่าเป็นห่วงสำหรับสุขภาวะคนเมืองคือ เรื่องของสถานการณ์ทางการเมือง สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และสุดท้ายคือ เรื่องของภาพลักษณ์ของประเทศไทย

 

            แต่อย่างไรก็ตาม การสำรวจไม่ได้ชี้ชัดลงไปแต่ประเด็นที่เกิดขึ้นในแง่ลบ หากแต่มีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสุขให้กับคนไทย นั่งคือ เรื่องของความจงรักภักดี การได้ชื่นชมพระบารมีของพระบรมราชวงศ์ในโอกาสสำคัญต่างๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

 

            เราสังเกตได้จากเมื่อปีวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดัชนีความสุขของคนไทยทั่วทั้งประเทศเพิ่มสูงขึ้น และน่าจะสูงมากที่สุดนับตั้งแต่วันนี้จนถึงปัจจุบัน

 

            ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลวิจัยความสุขนั้นสะท้อนให้เห็นว่า เราคนไทยจำเป็นต้องหันหน้าเข้าหากัน และสร้างความปรองดอง ซึ่งแม้ว่าในนาทีนี้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่หากใช้เวลาสักนิด ประเทศเราจะสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง ทำให้ปัญหาเรื่องปากท้องหมดไป

 

            เราต้องร่วมมือกันประสาน และสร้างเครือข่ายสุขภาวะร่วมกันในสังคมทั้งทางใจ ทางกาย ทางจิตวิญญาณ และทางสังคมวัฒนธรรมประเพณีไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทย เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนกลับคืนมาเป็นหนึ่งเดียวบนรากฐานความมั่นคงของประเทศ” ดร.นพดล กล่าว

 

            เราก็ได้แต่หวังว่า บรรยากาศดีๆ กับอากาศเย็นๆ ในช่วงส่งท้ายปลายปีจะทำให้ความเครียด และความทุกข์ของทั้งคนไทย และคนกรุงจางหายไป และเริ่มต้นปีหน้าฟ้าใหม่ด้วยความสดใส

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update : 26-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code