ความรุนแรง เรื่องที่ผู้หญิงต้องสู้

พบผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวมากถึง 80%

 

           เมื่อ ความรุนแรงเกิดขึ้นบุคคลที่ตกเป็น เหยื่อ ส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิงเสมอ ทำให้ที่ผ่านมามีสถิติระบุว่าในทุก ๆ 20 นาที มีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงอย่างน้อย 1 ราย และที่น่าตกใจกว่า นั่นก็คือผู้กระทำกลับเป็นคนใกล้ชิด สามี หรือคนในครอบครัวมากถึง 80%!!!

 

ความรุนแรง เรื่องที่ผู้หญิงต้องสู้

             และถึงแม้จะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ออกมาเพื่อสร้างมาตรการป้องกัน เยียวยาผู้กระทำและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงไม่ให้เกิดซ้ำหรือทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ทว่าปัญหาความรุนแรงดังกล่าวไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด…ดังจะเห็นได้จากข้อมูลเปรียบเทียบการให้บริการของศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง ในปี 2550 ที่มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งหมด 110 กรณี ได้แก่ พรากผู้เยาว์ 30 กรณี ข่มขืนกระทำชำเรา 53 กรณี โทรมหญิง 8 กรณี อนาจาร 8 กรณี ค้ามนุษย์ 2 กรณี และสามีบังคับร่วมเพศ 9 กรณี ในขณะที่ปี 2551 กลับมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงถึง 256 กรณี ซึ่งเป็นกรณีเดิม ๆ ที่เกิดมาแล้วในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา มิหน้ำซ้ำยังพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมอีกเท่าตัว!

  

             เมื่อผู้หญิงตกอยู่ท่ามกลางความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้น ผู้หญิงควรเรียนรู้ที่จะปกป้องตัวเองโดยการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันภัยอย่างสเปรย์พริกไทย ที่ใช้ฉีดในระยะ 3 เมตร ใส่คนร้ายที่จะเข้ามาประชิดตัว คนร้ายจะแสบร้อย มีเวลาให้เราวิ่งหนีได้ทันอย่างน้อย 5-10 นาที หรือพกนกหวีดอันเล็ก ๆ ติดตัวไว้ เวลาเกิดเหตุร้าย ก็เป่านกหวีด เสียงจะดัง ทำให้คนร้ายตกใจ ไม่กล้าลงมือ แต่ไม่ควรพกเครื่องช็อตไฟฟ้า มีด หรือปืน ซึ่งถือเป็นอาวุธที่ตำรวจไม่อนุญาตให้พกพาในที่สาธารณะ เพราะผิดกฎหมาย และอาจกลายเป็นอุปกรณ์ที่กลับมาทำร้ายเราได้

 

             แต่เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขันที่จะถูกกระทำความรุนแรง คุณผู้หญิงควรตั้งสติให้ดี อย่าตกใจจนเกินไป ให้สังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อหาทางหนีทีไล่ และช่วยเหลือตนเองเฉพาะหน้า โดยการใช้น้ำเย็นเข้าลูบ พูดจาถ่วงเวลาให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหาทางหลบหนีออกมาจากสถานการณ์นั้น ๆ พยายามไม่ยั่วยุคนร้ายเพราะอาจทำให้คนร้ายใช้ความรุนแรง จากนั้นให้ลองสังเกตจุดที่อาจจะจู่โจมคนร้ายได้ อาทิ ดวงตา อวัยวะเพศ แต่ต้องให้แน่ใจว่าสามารถทำให้คนร้ายเจ็บจริงจนหยุดการกระทำ หรือเสียการทรงตัวชั่วขณะ เพื่อให้สามารถหลบหนีออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้นได้ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิม

 

ความรุนแรง เรื่องที่ผู้หญิงต้องสู้

            หากยู่ท่ามกลางฝูงชนแล้วถูกทำอนาจาร ไม่ควรอาย ให้ร้องขอความช่วยเหลือดัง ๆ จากนั้นควรแจ้งความหรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวันเพื่อนำตัวคนทำผิดมาลงโทษ หรืออย่างน้อยเพื่อเป็นการตักเตือนผู้กระทำผิด หรือหากพบว่ามีคนเดินตามในที่เปลี่ยว ควรตะโกนว่า ไฟไหม้อย่าตะโกนว่า ช่วยด้วยแล้ววิ่งหนีให้เร็วที่สุด…นี่เป็นหนทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้เพื่อป้องกันตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์จริง!!  

 

            อย่างไรก็ตาม การรู้จักป้องกันตัวเองของผู้หญิง อาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยแก้ไขปัญหา เพราะต้นตอของความรุนแรงจะยุติลงได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุก ๆ คนที่จะต้องร่วมใจกันขจัดความรุนแรงออกไปจากสังคมไทย ก่อนที่สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงจะเข้าขั้น วิกฤติ เพราะในที่สุดแล้ว เหยื่อ รายต่อไปอาจเป็น คุณ หรือ คนที่คุณรัก”!!

 

 

 

 

ข้อมูลผู้ที่ถูกกระทำและผู้กระทำความรุนแรง

มากที่สุด 3 อันดับ ปี 2551 จำแนกเป็นอายุ อาชีพ สถานที่เกิดเหตุ และปัจจัยกระตุ้น

 














 

อันดับ 1

อันดับ 2

อันดับ 3

อายุ

ผู้ถูกกระทำ

16 – 20 ปี

1 ขวบ 15 ปี

26 30 ปี

ผู้กระทำ

16 20 ปี

46 50 ปี

21 25 ปี

อาชีพ

ผู้ถูกกระทำ

รับจ้าง

นักเรียน/นักศึกษา

ธุรกิจส่วนตัว

ผู้กระทำ

รับจ้าง

นักเรียน/นักศึกษา

รับราชการ

สถานที่เกิดเหตุ

 

ในบ้าน/ห้องของผู้ถูกกระทำ

ในบ้าน/ห้องของผู้กระทำ

โรงแรม/ร้านอาหาร

ปัจจัยกระตุ้น

 

ผู้กระทำดื่มเหล้าประจำ

ผู้กระทำดื่มเหล้าในวันเกิดเหตุ

ทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำต่างดื่มเหล้าทั้งคู่

 

ข้อมูลจากการบริการให้คำปรึกษาของศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง

 

 

 

 

เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th

 

 

Update 03-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code