ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องใหญ่ที่สังคมไทยยังมองข้าม
อาจกล่าวได้ว่า “ความรัก” และ “ความเกลียด” เป็นเส้นขนานสองเส้นที่อยู่ห่างกันไม่ไกลนัก หากเมื่อไรที่กระแสลมพัดให้เส้นขนานสองเส้นมาพบกัน จะทำอย่างไรให้ความรักยังคงเป็นความรัก ไร้ซึ่งอคติ และความเกลียดชังในหัวใจ เพื่อประคับประคองให้ความเป็นครอบครัวหนึ่งๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยดี
เมื่อไม่นานมานี้ งานวิจัยเรื่อง “สุขภาวะครอบครัวไทย ปี 2555” โดย ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ นักวิชาการจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าสถิติการใช้กำลังทำร้ายกันในครอบครัวในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ค่อนข้างมาก และเพิ่มขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย
ภาค กลาง (ไม่นับ กทม.) ครองแชมป์ความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุดของปี 2555 คือสูงถึงร้อยละ 41.9 พุ่งสูงอย่างก้าวกระโดดจากปี 2554 ที่มีเพียงร้อยละ 10.8 หรือกว่า 3 เท่าตัว ตามมาด้วยแชมป์เก่าอย่าง ภาคใต้ ปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 30.2 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีเพียงร้อยละ 16.6 ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 28.5 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีเพียงร้อยละ 14.1 ภาคเหนือ ปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 27.7 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีเพียงร้อยละ 13.1 และกรุงเทพมหานคร ปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 26.5 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีเพียงร้อยละ 15.3
สอดคล้องกับข้อมูลของ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิด เผยผลการสำรวจข่าวหน้า 1 ในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ (ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด คม ชัด ลึก) ตลอดปี 2555 พบว่ามีข่าวการใช้ความรุนแรงในครอบครัวถึง 333 ข่าว ในจำนวนนี้ ร้อยละ 59.16 เป็นความรุนแรงในระดับเข่นฆ่าเอาชีวิตกัน และในจำนวนนี้หากแบ่งแยกย่อย พบว่าเป็นความสัมพันธ์แบบสามีภรรยามากที่สุด ร้อยละ 64.97 รองลงมาคือความสัมพันธ์แบบแฟน ร้อยละ 15.74 ทั้งนี้ จังหวัดที่มีข่าวบ่อยที่สุดคือ กทม. รองลงมาคือ สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี และชลบุรี ตามลำดับ
และที่หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี ตลอดจนเพื่อนฝูงญาติพี่น้องของคู่กรณี รู้สึกหนักใจอยู่เสมอ คือทั้งที่หลายๆ กรณี ฝ่ายหญิงถูกทำร้ายร่างกายจนเลือดตกยางออก และเป็นการถูกทำร้ายแบบซ้ำซาก จนคนรอบข้างทนไม่ไหวไปแจ้งความร้องทุกข์ แต่พอเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะมาระงับเหตุและเตรียมดำเนินคดีกับผู้ลงไม้ ลงมือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายชาย กลับเป็นฝ่ายหญิงที่ไม่ยอม และต่อว่าต่อขานจนเจ้าหน้าที่หรือพลเมืองดีไม่อยากจะเข้าไปยุ่งด้วย
ในมุมนี้ ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา อธิบาย ว่า ส่วนหนึ่งของผู้หญิงที่ยอมถูกกระทำซ้ำซากจากแฟนหรือสามีของเธอ โดยลึกๆ แล้วรู้สึกกลัวจะขาดความมั่นคงในชีวิต แม้ด้านหนึ่งจะรู้ถึงความไม่ดีของฝ่ายชาย แต่อีกด้านหนึ่งก็กลัวว่าถ้าต้องเลิกราหย่าร้าง ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ด้วยตนเองคนเดียวได้หรือไม่ จึงยอมทนอยู่ทั้งที่รู้ว่าเจ็บปวด กับอีกส่วนหนึ่งอยู่ด้วยหน้าตา-ฐานะทางสังคม หรือทนอยู่เพื่อลูก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ตัดสินใจหย่าร้าง ก็มีอยู่พอสมควรเช่นกัน
“ตอนนี้เมืองไทยพอๆ กับเมืองนอกแล้ว แต่ของเราจะหนักกว่า อย่างการหย่าร้างคือเลิกเลยไม่เอาแล้ว ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ อยู่ได้ด้วยหน้ากากสังคม คือไม่ได้รักกันแล้ว เกลียดกันแล้ว คือไม่มองหน้ากัน แต่อยู่เพื่อลูกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่อยู่ด้วยหน้ากากทางสังคม ที่น่ากลัวก็คือ ผู้หญิงไทยทนอยู่ด้วยความแค้น ร่วมๆ 20 เปอร์เซ็นต์ คือคุณแก่เมื่อไร อ่อนแอเมื่อไรฉันจะแก้แค้นกลับ ถ้าได้โอกาสเมื่อไรก็จะแก้แค้นกลับ ดังนั้นถ้ามันเป็นแบบนี้ หย่าร้างกันเลยดีกว่า คือเรื่องสามีภรรยา ผมให้ 2 ล. คือถ้าไม่ลืมก็ต้องเลิก แต่ทีนี้มันลืมไม่ได้ก็ประชดประชัน ต่อว่ากัน ก็เป็นความรุนแรงในครอบครัว คือลืมไม่ได้ก็ต้องเลิกสิครับ เพราะยิ่งคิดยิ่งแค้น ยิ่งอยู่นานยิ่งแค้น ก็จะจบด้วยการทำร้ายกัน” ดร.วัลลภ กล่าว
อีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือสภาวะ “เสพติด” (Addict) ในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสพติดสุรา-ยาเสพติด การพนัน หรือกามารมณ์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเพศชายค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้อยู่เสมอ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งหรืออาจจะหลายอย่างพร้อมกัน โดย ดร.วัลลภ เล่าว่าผู้หญิงที่มาขอคำปรึกษา มักจะมาด้วยสาเหตุที่สามีไปมีผู้หญิงอื่น และพฤติกรรมนี้พบได้กับผู้ชายทุกวัย ด้วยทัศนคติที่เพศชายมักจะมองเรื่องเหล่านี้ว่าไม่เสียหาย
เช่นเดียวกัน หากเป็นกรณีผู้ติดการพนัน-สุรายาเสพติด ก็จะนำของในบ้านทุกอย่างไปขาย เพื่อเอาเงินไปเล่นพนัน จนมีปากเสียง
และจบลงด้วยการทะเลาะวิวาท ลงไม้ลงมือกัน และหากสะสมมากๆ เข้า อาจนำไปสู่การทำร้ายกันถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด
“การเสพติดที่ทำลายครอบครัวมากที่สุด คือเสพติดการพนัน รองลงมาคือเสพสารเสพติด อย่างการพนัน โบราณเขาบอกว่าถูกขโมยกี่ครั้งก็ไม่เท่าไฟไหม้ แต่ไฟไหม้กี่ครั้งก็ไม่เท่าผีสิงการพนัน ดังนั้นการเสพติดหรือที่เรียกว่า Addict ไม่ว่าจะเป็นการพนันหรือยาเสพติด มันเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด คือเมื่อเสพติดปุ๊บมันก็พูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว พูดกันไม่ได้เลย
หรืออย่างคนติดเหล้าหรือสารเสพติด เขาก็บอกมันไม่หนักหัวใคร เรื่องของเขาชีวิตของเขา คือพวกนี้มันเมา มันไม่รู้เรื่อง มันฆ่าใครก็ได้หมด พูดจาไม่รู้เรื่อง อย่างติดเหล้านี่พอเหล้าเข้าไปพูดจาไม่รู้เรื่อง ก็ยิงกันฆ่ากันตายได้หมด” ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านจิตวิทยา กล่าวทิ้งท้าย ซึ่งก็สอดคล้องกับการศึกษาของ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ที่พบว่าครอบครัวที่มีปัญหาความรุนแรง ร้อยละ 83.6 มีการดื่มสุราร่วมด้วย
ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเล็กๆ ที่สังคมไทยมักจะมองข้ามเสมอ ซึ่งก็มีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่มองว่าการนอกใจหรือทำร้ายร่างกายภรรยา เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ การมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น เสพติดสุราหรือสารเสพติด หรือเสพติดการพนัน
หรือแม้กระทั่งทิฐิมานะของฝ่ายหญิงเอง ที่ไม่ยอมเลิกราหย่าร้าง เพราะจะมีความรู้สึกเหมือนตัวเองแพ้และเสียหน้า และเมื่อทนอยู่ไปนานๆ มีการพูดจาประชดประชันกันไปมาหนักขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดฝ่ายชายอาจโมโหถึงขั้นลงไม้ลงมือกับฝ่ายหญิงถึงแก่ชีวิต ในทางกลับกัน ฝ่ายหญิงบางรายที่ถูกฝ่ายชายทำร้ายบ่อยครั้ง เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง อาจเป็นฝ่ายลงมือฆ่าฝ่ายชายเสียเอง ด้วยความโกรธแค้นที่สะสมมานานก็เป็นได้
ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย เพราะปัจจุบันเรามี พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ออกมารองรับ แต่สิ่งสำคัญ คือจะทำอย่างไร ให้การลงไม้ลงมือในครอบครัวเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ และจะทำอย่างไร ให้ผู้ถูกกระทำ ที่ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง เลือกที่จะเดินออกมาจากความรุนแรง แทนที่จะทนอยู่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม เพื่อตัดวงจรความรุนแรงเสียตั้งแต่ต้น
เพราะไม่ว่าชายหรือหญิง เข้มแข็งหรืออ่อนแอ เมื่อถูกกระทำมากๆ เข้า อาจตัดสินใจตอบโต้เอาคืน จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมได้ และผู้ที่ต้องทุกข์ใจที่สุด คือคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือลูกของพวกเขาเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า