ความรุนแรงเด็ก-สตรี เพิ่มขึ้น เน้นเฝ้าระวังใกล้ชิด

/data/content/23397/cms/acdfnopqsuy2.jpg

          เมื่อวันที่ 8 มีนาคม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องในวันสตรีสากล (International Women’s Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ทางองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ได้สนับสนุนให้ประเทศสมาชิก รณรงค์กระตุ้นเตือนให้สังคมทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

          ซึ่งส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจต่อผู้ถูก กระทำและกระทบต่อครอบครัว โดยเน้น 6 เรื่อง ได้แก่ อันตรายจากการบาดเจ็บ ผลกระทบด้านจิตใจ การถูกทอดทิ้ง การล่วงละเมิดทางเพศ ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น กามโรค โรคเอดส์ เป็นต้น

          ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบบริการดูแลปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยตั้งศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลในสังกัด ตั้งแต่ พ.ศ.2542 เพื่อให้บริการทางการแพทย์รูปแบบพิเศษ จัดบริการแบบสหวิชาชีพ และช่วยเหลือดูแลครบวงจร ร่วมกันหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การสังคมสงเคราะห์ การ ดำเนินการด้านกฎหมาย ขณะนี้ดำเนินการ ในระดับจังหวัด คือโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปครบ 96 แห่ง และขยายสู่ระดับอำเภอ ในโรงพยาบาลชุมชนอีก 734 แห่ง จนถึงขณะนี้ เปิดให้บริการ เต็มรูปแบบแล้ว 631 แห่ง

          นพ.ณรงค์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลการให้บริการในศูนย์พึ่งได้ พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยปี 2550 ศูนย์พึ่งได้ ให้การช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง 19,067 ราย เฉลี่ยวันละ 52 ราย ในปี 2556 สถิติบริการเพิ่มเป็น 31,866 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 87 ราย หรือถูกทำร้าย 1 คนในทุก 15 นาที ชั่วโมงละ 4 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นเด็ก

          นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อทำการวิเคราะห์ในกลุ่มเด็ก พบว่า เกือบ 9 ใน 10 ของเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงเป็นเด็กหญิง พบมากสุดในกลุ่มอายุ 10-15 ปี ร้อยละ 46 รองลงมา 15-18 ปี ร้อยละ 40 และต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 5 หรือจำนวน 1,000 ราย ลักษณะความรุนแรง อันดับ 1 ถูกล่วงละเมิดทางเพศร้อยละ 72 บาง รายเกิดปัญหาตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ด้วย

          รองลงมาเป็นการทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 21 ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น เพื่อน แฟน ส่วนความรุนแรงในเด็กที่อายุมากขึ้น ผู้กระทำมักเป็นแฟนมากที่สุด รองลงมาคือเพื่อน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อม ที่สำคัญคือการเสพสื่อลามก ความใกล้ชิด และโอกาสเอื้ออำนวย เป็นต้น ส่วน สถานที่เกิดเหตุมักเป็นบ้านของผู้กระทำความรุนแรงและบ้านที่เด็กอาศัย รวมทั้งในสถานที่เปลี่ยว

          ส่วนความรุนแรงในกลุ่มสตรี พบมากที่สุดอยู่ในกลุ่มอายุ 35-45 ปี ร้อยละ 39 รองลงมาคือ อายุ 18-25 ปี ปัญหาอันดับ 1 ที่พบคือการถูกกระทำรุนแรงทางร่างกาย เช่น การทุบตี ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ จำนวน 9,699 ราย รองลงมาคือ ถูกกระทำทางเพศ จำนวน 2,226 ราย โดยผู้กระทำรุนแรงคือคู่สมรสมากที่สุดร้อยละ 52 ส่วนสาเหตุใหญ่มาจากการนอกใจ หึงหวง ทะเลาะวิวาท

          “คาดว่าแนวโน้มของปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็กจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากหลายปัญหา เช่น การใช้สารเสพติด โดยเฉพาะสุรา ทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ขาดการคัดกรองอย่างรอบคอบ” ปลัด สธ.กล่าว

          นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในปี 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าตั้งศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ให้มีบริการครบทุกอำเภอ และเร่งขยายบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)โดยมุ่งเน้นการเฝ้าระวังผู้ที่มีความเสี่ยงถูกกระทำรุนแรงที่อยู่ในพื้นที่ที่สำคัญมี 7 กลุ่ม ได้แก่ เด็กผู้หญิง ผู้หญิงที่มีความพิการทางสติปัญญา ผู้พิการทางกาย ครอบครัวผู้ติดยาเสพติด ดื่มสุรา พ่อแม่เป็นโรคจิต ครอบครัวแตกแยก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและจัดระบบการทำงานประสานเชื่อมโยงเครือข่ายร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผู้หญิง หรือเด็กถูกกระทำรุนแรง สามารถโทรศัพท์ แจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือได้ที่ โรงพยาบาลทุกแห่ง หรือ รพ.สต.ทั่วประเทศ

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

Shares:
QR Code :
QR Code