ความทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ในปี 2559 ผู้สูงวัยในประเทศไทยมีจำนวนถึง 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ โดยทั่วไปถือว่าประชากรวัยสูงอายุเป็น "วัยพึ่งพิง" หรือเป็นกลุ่ม "เปราะบาง" (vulnerable group) จึงต้องมีระบบ "คุ้มครอง" หรือการดูแลที่เหมาะสมเพื่อปกป้องสิทธิ สร้างความรู้เท่าทัน ตลอดจนเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมีความสุข ไม่เช่นนั้นผู้สูงอายุอาจจะถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นปัญหาสังคม
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้จัดประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี ในประเด็น "ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย" พร้อมทั้งมีเวทีเสวนา "ทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัย" ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ นนทบุรี
นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัย ว่า ในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่สองรองจากสิงคโปร์ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย แม้ผู้สูงอายุจะผ่านโลกมามาก แต่เมื่อสูงวัยก็จะมีความเปราะบางตามธรรมชาติ ประการแรก เปราะบางเพราะเกษียณจากการทำงาน ทำให้โอกาสรับรู้ข่าวสารต่างๆ ลดลง จึงอาจถูกชักจูงจากผู้ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ได้โดยง่าย ประการที่สอง เปราะบางเพราะสภาพร่างกายเริ่มเสื่อมโทรมลง ความจำเป็นในการรับบริการด้านการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้น ระบบบริการที่ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้สูงวัยมีแนวโน้มในการเสาะหาบริการจากภาคเอกชน มีโอกาสให้สูญเสียเงินออม มีหนี้สินในบั้นปลาย
ประการที่สาม เปราะบางเพราะความต้องการสินค้าและบริการที่จะมาใช้สร้างเสริมสุขภาพ ทำให้ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาของการโฆษณาชวนเชื่อ ประการที่สี่ เปราะบางเพราะลูกหลานญาติมิตรต่างเสาะหาซื้อสินค้าสุขภาพต่างๆ มาให้ลองใช้ และประการที่ห้า เปราะบางเพราะผู้สูงอายุมีเวลาว่าง จึงมีเวลาถูกชักจูงได้มาก ทั้งโดยสื่อมวลชนแบบต่างๆ และสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐและภาคประชาสังคมจะต้องช่วยกันสร้างระบบที่ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเป็นพลังของสังคม แทนที่จะเป็นภาระของสังคม ที่สำคัญไม่ให้ผู้สูงอายุต้องกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของบุคคลหรือธุรกิจที่มุ่งแสวงประโยชน์จากความเปราะบางของผู้สูงวัย
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนา "ทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัย" ได้มีการถ่ายทอดประสบการณ์ความทุกข์ของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองและชนบท อันเกิดจากความเสื่อมภาพของร่างกายที่สูงวัยขึ้น และการไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองผู้บริโภค ปัญหาสุขภาพ และการถูกหลอกลวงเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากโฆษณาชวนเชื่อ ฯลฯ ดังต่อไปนี้
ลุงสงัด สิทธิรุ่ง ผู้สูงอายุจากจังหวัดสมุทรสงคราม เผยว่า ทุกวันนี้ตนเองต้องหารายได้ด้วยการหาไม้มาเผาถ่านขายเพื่อดำรงชีวิต ซึ่งมีรายได้ไม่สู้ดีนัก และยังต้องรับภาระเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว ได้แก่ ลูกที่เป็นผู้พิการและหลานในวัยเรียน ขณะที่ตัวเองก็มีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งหัวใจ เบาหวาน ความดัน ฯลฯ ซึ่งไม่มีหลักประกันในการใช้ชีวิต ทุกวันนี้จึงอาศัยรายได้เบี้ยยังชีพเดือนละ 700 บาท เป็นรายได้หลักที่จะถูกแบ่งมาจุนเจือสมาชิกในครอบครัว ความเป็นอยู่ทุกวันนี้จึงลำบากมาก
ป้าทองม้วน นพแก้ว ผู้สูงอายุที่มีโรคเสื่อมสภาพตามวัยเหยื่อถูกหลอกจากโฆษณาชวนเชื่อ เปิดเผยว่า ตนเองสุขภาพไม่ดี ป่วยด้วยโรค เบาหวาน ข้อเข่า เมื่อเห็นโฆษณาทางโทรทัศน์จึงหลงเชื่อหาซื้อยามาบริโภค แต่อาการก็ไม่หายขาด ทำให้สูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก
ป้าเรณู ภู่อาวรณ์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าอาการตนเองที่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ แต่กลับต้องเผชิญปัญหาสุขภาพซ้ำซ้อนจากอาการแพ้ยารักษาที่ได้รับจากโรงพยาบาล จนทำให้ตาสูญเสียการมองเห็นทั้งสองข้างกลายเป็นผู้พิการ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็คือเราแก่แล้ว แต่ต้องกลายเป็นคนตาบอด ทั้งที่เชื่อใจว่ารับการรักษาจากทางโรงพยาบาล ทำให้กินยาด้วยความสบายใจ แต่หมอกลับไม่บอกถึงผลกระทบว่ายานี้อาจมีผลต่อดวงตาได้ จากนี้ไปใครจะดูแล หาข้าวหาน้ำให้กิน สามีก็ตาบอด หูหนวก เงินเก็บก็ไม่มีเอาไปส่งเสียหลานจนจบปริญญาตรี แต่หลานก็ไม่เคยเหลียวแลเลย
ด้านผู้สูงอายุเขตเมือง ป้าสุธารัตน์ กิจติเวชกุล บอกว่า แม้ส่วนตัวไม่ได้ประสบปัญหาเรื่องความเป็นอยู่มากนัก หากแต่การได้เห็นความทุกข์ของคนอื่นหรือเพื่อนบ้านที่นอกจากมีโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังต้องเผชิญปัญหาเรื่องการหารายได้เลี้ยงชีพ ก็ทำให้รู้สึกเป็นทุกข์สงสารไม่ได้
ชุลีพร ด้วงฉิม เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพฯ อดีตผู้บริหารจากรัฐวิสาหกิจ ออกมาทำงานด้านจิตอาสา มองว่า สังคมไทยไม่เคยได้รับการถูกจัดระเบียบเรื่องคุณภาพชีวิตมาก่อน วันนี้เรากำลังย่างเข้าสู่ภาระปัญหาที่เป็นสิ่งที่สั่งสมมาจากในอดีต เมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย และน่าจะถึงเวลาที่ต้องยอมรับเรื่องหลักประกันรายได้ก่อนที่ประชาชนเข้าสู่ภาวะสูงวัย เพราะหากรัฐไม่จัดการตั้งแต่วันนี้ อีก 20 ปีข้างหน้าสังคมผู้สูงอายุจะมากขึ้น จะยิ่งสร้างภาระปัญหามากว่าที่เป็นอยู่ ส่วนความทุกข์ของตนก็คือการต้องอยู่ว่างๆ และความเกรงใจที่มีต่อลูกหลานทำให้ไม่กล้าเรียกร้องในสิ่งต่างๆ มากนัก เกรงว่าจะสร้างภาระให้ลูกหลาน
ขณะที่ เชษฐา แสนสุข เครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่า ปัจจุบันด้วยภาระทางครอบครัว แต่ละคนมีความสามารถส่งลูกให้มีการศึกษาก็ถือว่าดีแล้ว ฉะนั้นทำให้วันนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันเลย บำเหน็จบำนาญชีวิตไม่มี อย่างไรก็ตาม มองว่าทุกวันนี้ แม้ผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยสูงอายุเป็นหลักประกันรายได้จากภาครัฐ แต่ก็มีความกังวลว่าหากวันหนึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และทำให้หลักประกันนี้หมดไป ก็อาจจะยิ่งสถานการณ์แย่กว่านี้ สิ่งที่เราทำได้จึงการเข้าไปเป็นอาสาสมัครคอยดูแลเสริมสร้างสุขภาพจิตให้เขาคลายความทุกข์ได้บ้าง
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนผู้สูงอายุในประเทศไทย ดังนั้นการวางระบบคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับผู้สูงวัยจึงมีความสำคัญ ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การวางทิศทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยคำนึงถึงผู้สูงวัย การมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนต่อการสร้างความรับรู้ และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภคในการเฝ้าระวังและแก้ปัญหา ตลอดจนการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในการจัดการปัญหาของผู้สูงวัยด้วย