ความงดงามทางศิลปะ จรรโลงให้โลกเต็มไปด้วยความสุข

 


“ความสุข” ก็เหมือน “เม็ดเงิน” ที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางอากาศทั่วๆ ไป สุดแล้วแต่ว่า “ใครจะไขว่คว้า”เอามาไว้เป็นสมบัติของตัวเอง


พลังหรือความสามารถของผู้ที่จะไขว่คว้าเอาเม็ดเงินหรือความสุข มาเป็นของตัวเองได้ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของตัวเองและสมรรถภาพของสังคม  ซึ่งหมายถึงว่า พลังนั้นจะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ต้องอยู่ที่ความร่วมมือของคนในสังคมและตัวตนของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ


อย่างเรื่องของ “ศิลปะ” ทุกคนตระหนักดีว่ามันเปี่ยมล้นไปด้วย “ความงาม” และ “ความอ่อนละไม” ดังนั้น ศิลปะ สามารถเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างสรรค์ประเทศลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้เป็นอย่างดี ที่มนุษย์ไม่ควรปล่อยให้มันไร้คุณค่า


ดังนั้น จึงได้เกิดการรวมตัวของเหล่า “ศิลปิน” ผู้สร้างงาน “ศิลปะ” ขึ้น แล้วพวกเขาก็ได้ตั้งปณิธานที่จะเดินสายสัญจรไปทั่วประเทศเพื่อใช้คุณค่าทางศิลปะสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมและตัวบุคคลให้เกิดความสุขในชีวิต


ล่าสุดได้มีการสัญจรไปที่ภาคใต้เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยมีศิลปินสาขาต่างๆ ในจังหวัดภาคใต้เข้าร่วมอย่างสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม ปฏิมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์)/สาขาวรรณกรรม (กวี-นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์) และสาขาศิลปะการแสดง (ร่วมสมัยและพื้นบ้านพื้นเมือง) กว่า 120 คน ที่มารวมกันเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่อง


“ศิลปะจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมไทยได้อย่างไร?”


เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ รองประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป บอกว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำกันมาก การนำศิลปะและศิลปินมามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ประเทศจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป เนื่องจากมนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์อื่นเพราะมีลำตัวตั้งตรง สองแขนเป็นอิสระและยังมีมือที่วิเศษที่สุดโดยนิ้วหัวแม่มือสามารถจับกับทุกนิ้วได้ อีกทั้งยังมีสมองที่เลอเลิศ มีคุณภาพสูงสุด ทำให้มนุษย์สามารถประดิษฐ์คิดค้นอะไรออกมาได้มากมาย


ซึ่งสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นจะแบ่งได้ 3 ส่วนโดย 1. ผ่านวิชาวิทยาศาสตร์ (ที่ว่าด้วยความจริง) 2. ผ่านวิชาสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ (ที่ว่าด้วยความดี) และ 3. สุนทรียศาสตร์ (ที่ว่าด้วยความงาม) นี่จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ทำให้มนุษย์สามารถใช้งานศิลปะมาเปลี่ยนแปลงสังคมได้



นายสถาพร ศรีสัจจัง ประธานอนุกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาของชาติที่เผชิญหน้าอยู่มันหนักเกินไปที่คนคนเดียวหรือคนเพียงกลุ่มเดียวจะรับภาระหรือขับเคลื่อนมัน เชื่อว่าการเกิดมิติการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนน่าจะเป็นตัวชี้ขาดและเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนได้ ซึ่งศิลปินไม่ว่าจะเป็นสาขาไหนก็ตาม น่าจะเป็นกลุ่มพลังที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของสังคมที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างที่จับต้องและเห็นจริงได้


การรวมตัวกันในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นเพราะความเจตนา ความเชื่อและแนวคิดนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของภาคใต้ที่กลุ่มศิลปินมาพบปะพูดคุยกันอย่างออกรส จริงจัง จริงใจ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความคาดหวังที่จะร่วมรับรู้ และแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมร่วมกัน


มีสิ่งที่น่าจับตามองในการสัมมนาของเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปภาคใต้อีกเรื่องคือมีเยาวชนที่มีแววจะสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพในอนาคตเข้าร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นด้วยกว่า 20 คน โดย 5 คน ในจำนวนนั้นเป็นเยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้ความสนใจในเรื่องของการใช้งานศิลปะสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น


นายมูฮัมมัด ยือโร๊ะ เยาวชนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนที่มีสื่อการสอนอยู่อย่างไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เด็กและเยาวชนในชนบทขาดโอกาสในการใช้สื่อการเรียนที่ดีทำให้ชีวิตขาดสุนทรียะในบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของ “ศิลปะ”  ซึ่งเป็นเรื่องที่จรรโลงใจ หากสร้างบรรทัดฐานให้เด็กและเยาวชนได้รับสื่อที่เท่าเทียมกัน เชื่อว่าประเทศจะมีการพัฒนาและสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้


ด้วยเจตนาดี และด้วยความร่วมมือกันอย่างจริงจังของเหล่าศิลปินดังกล่าวนี้ ไม่ว่าข้อสรุปที่จะนำไปเสนอต่อสมัชชาเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2554 จะออกมาเช่นไร? สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของศิลปินครั้งนี้ จะเป็นเสมือนการเสริมสร้างลมหายใจในการสร้างสรรค์ให้เกิดกับสังคม เพื่อให้สังคมได้ “พลังแห่งความหวัง” ไปสร้างสรรค์ความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ อันจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมให้ลดลงได้อย่างแท้จริงนั่นเอง


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ