ควันมรณะเต็มสุวรรณภูมิ เร่งรัฐประกาศกระทรวงด่วน

งานวิจัยพบว่า ควันบุหรี่มือสองมีเต็มสนามบิน สูงกว่าอเมริกา 4 เท่า สำรวจพบว่านักท่องเที่ยวหนุนสนามบินปลอดบุหรี่ แนะรัฐแก้ไขประกาศกระทรวง และบังคับใช้กฎหมายด่วน

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550 – 2551) กล่าวว่า ควันมือสองยังล่องลอยอยู่ในท่าอากาศยานนานาชาติของโลกอย่างน่าเป็นห่วง การวิจัยโดยศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาพบคุณภาพอากาศเลวร้ายยังคงมีในท่าอากาศยานนานาชาติ 5 แห่ง จากทั้งหมด 29 แห่ง มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้โดยสารซึ่งใช้บริการ 110 ล้านคนต่อปี ผลของงานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก คาดว่า มลรัฐต่างๆ ที่มีท่าอากาศยานทั้ง 5 นี้ตั้งอยู่ คงจะออกกฏห้ามมีห้องสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิงในท่าอากาศยานเหล่านี้ในไม่ช้า

รศ.ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผย ผลสำรวจควันบุหรี่มือสองในท่าอากาศยานนานาชาติของประเทศไทย ปี 2556 โดยได้ทำการศึกษาที่สนามบิน 4 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ได้เก็บตัวอย่าง 3 จุด คือ 1)ในห้องพักสูบบุหรี่ 2)ใกล้ประตูห้องพักสูบบุหรี่ และ 3)บริเวณที่ปลอดบุหรี่ แล้วทำการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนเพื่อเป็นตัวชี้วัดถึงปริมาณควันบุหรี่มือสอง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสนามบินของสหรัฐอเมริกา พบว่า ในห้องพักสูบบุหรี่ของประเทศไทยนั้น ระดับค่าเฉลี่ยมีค่าสูงกว่าถึง 4 เท่า หรือ ปริมาณ 773.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนที่ใกล้ประตูที่พักสูบบุหรี่นั้น ระดับค่าเฉลี่ยของประเทศไทยก็มีค่าสูงกว่าเช่นกัน

ผศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อนโยบายปลอดบุหรี่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 200 คน ปี 2555 พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูบบุหรี่ครึ่งหนึ่งโดย 58% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูบบุหรี่สนับสนุนให้สนามบินปลอดบุหรี่และ 65.8% ตั้งใจจะมาเที่ยวที่ประเทศไทยอีกถึงแม้จะมีกฎหมายปลอดบุหรี่ที่สนามบิน แต่การรับรู้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับนโยบายสนามบินปลอดบุหรี่ ยังไม่อยู่ในระดับดีเท่าที่ควร

รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการให้ท่าอากาศยานนานาชาติ ยกเลิกการใช้ห้องพักสูบุหรี่ภายในอาคาร และกำหนดให้เป็นสนามบินปลอดบุหรี่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะปกป้องสุขภาพของผู้ใช้บริการและผู้ปฏิบัติงานประจำที่สนามบิน ในการลดความเสี่ยงจากการรับพิษภัยจากควันบุหรี่มือสองและสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศสะอาดเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับบรรทัดฐานทางสังคมไม่ให้เยาวชนได้เห็นต้นแบบการสูบบุหรี่ และเป็นการกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่ต้องการเลิกบุหรี่อีกด้วย

นพ.หทัย ชิตานนท์ สรุปว่า ควันบุหรี่มือสองเป็นสารอันตรายที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งเกิดจากบุหรี่ควันนี้ไม่มีระดับปลอดภัย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้องสุขภาพของผู้เดินทางทุกชาติทุกภาษา และผู้ปฏิบัติงานทุกคนในท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งของประเทศ

 
 
 

ที่มา : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ