ควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก เพิ่มความเสี่ยงแท้งลูก

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก เพิ่มความเสี่ยงแท้งลูก thaihealth


วิจัยพบผู้หญิงเคยรับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก เพิ่มความเสี่ยงแท้งลูก ชี้ระยะเวลาสัมผัสควันบุหรี่ยิ่งนาน โอกาสเสี่ยงแท้งยิ่งเพิ่มมากขึ้น


ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการวิจัยการได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก ของนักวิจัยชาวจีน ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวานสาร โทแบคโก คอนโทรล เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2559 ทำการวิจัยที่เมืองกว่างโจว โดยวิเคราะห์ประวัติสุขภาพของผู้หญิงจำนวน 19,562 คน โดยพบว่าร้อยละ 56.7 หรือ 11,091 คน เคยได้รับควันบุหรี่มือสองภายในบ้านเมื่อช่วงวัยเด็กอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน เป็นเวลามากกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ในบ้าน โดยส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการแท้งลูกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการแท้งลูกเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่สัมผัสควันบุหรี่มือสองด้วย


"รายงานนี้เป็นรายงานแรกจากเอเชียที่พบความสัมพันธ์ของการได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก กับการเพิ่มความเสี่ยงการแท้งลูกของสตรีในวัยเจริญพันธุ์ โดยสาเหตุอื่นๆ ของการแท้งลูก ได้แก่ การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ การที่สามีเป็นคนสูบบุหรี่ การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องขณะตั้งครรภ์ การได้รับมลพิษจากการประกอบอาชีพหรือจากสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยสันนิษฐานว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองขณะเป็นวัยเด็กทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของเด็กที่กำลังเจริญเติบโต จนนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งลูกได้" ศ.นพ.ประกิต กล่าว


ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การรับควันบุหรี่มือในสองของเด็กไทย จากการสำรวจเมื่อปี 2558 พบว่า เด็กไทยอายุ 13-15 ปี ร้อยละ 33.8 ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ขณะที่การสำรวจเมื่อปี 2554 พบว่า ร้อยละ 31.2 ของหญิงไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยภาคใต้มีอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านสูงสุด คือ ร้อยละ 43.5 และ กรุงเทพฯ ต่ำสุด คือ ร้อยละ 13.2 จึงขอเรียกร้องให้ผู้สูบบุหรี่ไทยทุกคนไม่สูบในบ้านหรือดีที่สุดควรเลิกสูบ

Shares:
QR Code :
QR Code