ควบคุมการเลี้ยงสัตว์ งดใช้ยาต้านจุลชีพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
คณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ เปิดตัว Roadmap ปี 63-64 ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้านการใช้ยาต้านจุลชีพ รุกคุมโรงงานเลี้ยงสัตว์ ต้องปราศจากยาปฏิชีวนะ หรือถ้ามีการใช้ยาต้านจุลชีพให้ถือว่าเป็นการให้สารเร่งโต พร้อมให้ความรู้ประชาชนตระหนักพิษภัย
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐ มนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 โดยเปิดเผยว่า เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศไทย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในคนไทย และการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบทั้งต่อภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
สธ.จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบูรณาการภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายฯ ได้เห็นชอบ Roadmap ปี 2563-2564 ในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การดื้อยาต้านจุลชีพฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่
1.เฝ้าระวังการดื้อยาต้าน จุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว 2.ควบคุมการกระจายยา ต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ 3.ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ในสถานพยาบาลและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม 4.ป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและการ ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม ในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.ส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยา และสร้างความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพแก่ประชาชน และ 6.บริหารและพัฒนากลไกระดับ นโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่เป้าประสงค์ที่วางไว้ภายในปี 2564 นอกจากนี้เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์การดื้อยาต้านจุลชีพฯ ฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี และเป็นฉบับแรกของประเทศไทย จะสิ้นสุดลงในปี 2564 คณะกรรมการนโยบายฯ จึงได้เห็นชอบให้มีการเตรียมจัดทำแผนฯ (ฉบับที่ 2) เพื่อรองรับการดำเนินการในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศในระยะต่อไปอีกด้วย
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ในช่วงปี 2560-2562 ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้สามารถแก้ไขจุดอ่อนที่สำคัญของการแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม นอกจากนี้มีการบรรจุการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการในนโยบาย service plan ของ สธ. ซึ่งครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ในภาคการเกษตร นำโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการห้ามใช้ยาต้านจุลชีพเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตในการเลี้ยงสัตว์ ยกระดับการควบคุมโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยา และมีโครงการเลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (Raised Without Antibiotics: RWA) ในการผลิตเนื้อสุกรเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค
รวมทั้งมีการสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเรื่องเชื้อ ดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม สธ. ร่วมกับสำ นักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนัก งานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดำเนินกิจกรรมผ่านทางอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ภาคประชาสังคม สื่อกระแสหลัก และสื่อสังคม รวมทั้งการนำแนวคิดการตลาดเพื่อสังคม (social marketing) มาใช้เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการติดตามและประเมินความรู้ของประชาชนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติควบคู่กันอีกด้วย
"โดยสรุป การดำเนินการระยะครึ่งแผนฯ ที่ผ่านมาเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบใหม่ที่จำเป็น และปรับปรุงสมรรถนะของระบบเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งประสานการทำงานร่วมของภาคส่วนต่างๆ ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อให้การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศเป็นไปด้วยความยั่งยืนและเป็นเอกภาพ และตั้งอยู่บนรากฐานทางวิชาการที่มั่นคง" เลขาธิการ อย. กล่าว.