‘คลินิกฟ้าใส’ ไขเคล็ด เลิกบุหรี่
“บุหรี่เลิกได้” ถ้าพูดคำนี้กับคนติดบุหรี่คงได้รับคำตอบว่า “พูดง่ายแต่ทำยาก” แต่ยิ่งเลิกได้เร็วยิ่งดี
การสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เลิกได้ จึงเป็นกระบวนการสำคัญ เพราะการเลิกบุหรี่เพียงลำพังเป็นเรื่องที่ต้องใจเข้มแข็งอย่างมหาศาล จึงมักพบว่าผู้ติดบุหรี่มักจะพยายามเลิกสูบอยู่หลายครั้งหลายหน บางคนทำสำเร็จ แต่หลายๆ คนทำไม่สำเร็จ การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นกระบวนการสำคัญควบคู่มากับการรณรงค์ไม่ให้คนสูบบุหรี่
เร็วๆ นี้มีการประชุมวิชาการ “มหกรรมวิชาการ ฟ้าใส” ครั้งที่ 1 เรื่อง “The Changing of Cigarettes” ซึ่งถือเป็นการประชุมวิชาการใหญ่ครั้งแรกที่รวบรวมเนื้อหาวิชาการเพื่อให้เกิดกระบวนการสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่ ทั้งในแง่นโยบายมหภาค แง่วิชาการ เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับข้อมูล ความรู้เพื่อนำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่ได้ในที่สุด
การรณรงค์เพื่อการเลิกสูบบุหรี่ในประเทศไทย ถือว่ามีความก้าวหน้าและเป็นตัวอย่างกับอีกหลายๆ ประเทศ เพราะมีมาตรการทางสังคม และกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบในทุกรูปแบบ การพัฒนาภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ การห้ามตั้งแสดงบุหรี่ ณ จุดขาย การขึ้นภาษีบุหรี่ เป็นต้น แต่ก็ยังมีคนไทยสูบบุหรี่ถึง 13 ล้านคน โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิต ป่วย ด้วยบุหรี่จำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ที่พยายามอยากเลิกสูบบุหรี่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ในขณะที่อุตสาหกรรมยาสูบเองก็กระตุ้นการบริโภค ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดหลากหลายรูปแบบ ทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ตลอดเวลา
หากจะมองถึงสถานการณ์การบริโภคยาสูบ ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ อธิบายว่า มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันได้ว่า บุหรี่นั้นมีฤทธิ์ เสพติดสูงจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประชาชนจะสามารถเลิกได้ด้วยตัวเอง กระบวนการช่วยเหลือผู้เลิกบุหรี่ในประเทศไทย มี “คลินิกฟ้าใส” ที่ถือเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ ช่วยเผยแพร่ความรู้ในการเลิกบุหรี่ให้ประชาชนสามารถเลิกได้สำเร็จ ภาระงานของคลินิกฟ้าใสมีทั้งงานเผยแพร่ อบรม และให้ความรู้ กับ ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีคลินิก ฟ้าใสที่ให้บริการให้คำแนะนำในการเลิกบุหรี่กับประชาชน 274 แห่งทั่วประเทศ โดยเชื่อว่าการประชุมวิชาการครั้งนี้จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุขและประชาชนให้เข้าใจประโยชน์และวิธีการเลิกบุหรี่ได้อย่างกว้างขวางขึ้น
ภายในการประชุมวิชาการจึงมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างกว้างขวางเพื่อนำไปสู่การสร้างแนวทางเลิกสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในส่วนของนโยบายที่จำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือผู้ป่วย และสร้างการเข้าถึงวิธีการเลิกบุหรี่ให้มากขึ้น
การเลิกสูบบุหรี่มีเทคนิคหลากหลายวิธี ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนาการเพื่อการป้องกันและบำบัด สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเรื่อง “กินอาหารอย่างไรดีในขณะเลิกบุหรี่” ทำให้ทราบว่าคนส่วนใหญ่เมื่อจะเลิกสูบบุหรี่ มักจะมีปัญหาหนึ่ง คือ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการสูบบุหรี่ เป็นความเคยชิน ผู้สูบบุหรี่มักจะหยิบบุหรี่มาสูบเมื่อไม่มีอะไรทำ หรือเมื่อรู้สึกว่าเครียด เมื่อจะเลิกสูบบุหรี่ หลายคนจึงพยายามทำให้ปากไม่ว่างด้วยการเคี้ยวอยู่ตลอดจึงทำให้น้ำหนักขึ้นโดยไม่รู้ตัว
“การสูบบุหรี่ยังไปทำลายผนังลำไส้ส่งผลต่อการยืดหดตัวของลำไส้ ทำให้การย่อยและดูดซึมอาหารผิดปกติไป การควบคุมอาหารระหว่างการเลิกบุหรี่ จึงเป็นเรื่องจำเป็น อาหารที่ควรจำกัดระหว่างการเลิกบุหรี่ คือ อาหารประเภทพลังงานสูง ของทอด แป้ง น้ำตาลเป็นกลุ่มที่ต้องระวังเพราะจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มน้ำตาล หรือ อาหารที่ให้ความหวานพบว่า เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ได้มากขึ้นด้วย โดยเปลี่ยนไปกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวแทนจะช่วยเรื่องความรู้สึกให้ไม่อยากสูบบุหรี่ได้ด้วย” ผศ.ดร.ชนิดากล่าว
ผู้ที่สูบบุหรี่ยังมีปัญหาในเรื่องการขาดวิตามินบางประเภท เช่น วิตามินบีรวมแมกนีเซียม ซิลิเนียม ซึ่งเป็นตัวช่วยเรื่องสารสื่อประสาท จึงต้องทดแทนในอาหารที่มีวิตามินกลุ่มนี้ เช่น ธัญพืช ผัก 5 สี เป็นต้น โดยสามารถกินเป็นอาหารว่างระหว่างมื้อไม่ให้ปากว่าง จนเกิดความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่ยังมีอาการข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ ระคายเคืองที่คอ ช่องปาก ซึ่งช่วยได้ด้วยสมุนไพรต่างๆ เช่น กานพลูจะช่วยลดอาการระคายเคืองได้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง และช่วยขับพิษนิโคตินได้ ซึ่งพบว่า การเคี้ยวกานพลูจะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคี้ยวกานพลูสามารถเลิกบุหรี่ได้ ร้อยละ 12
นอกจากนี้ ชะเอม มินต์ จะช่วยลดอาการระคายเคืองที่ลำคอได้ ขิง จะช่วยขับสารพิษตกค้าง และช่วยระบบทางเดินอาหาร ใบ ขี้เหล็ก ช่วยเรื่องการนอนหลับได้ เป็นต้น ผู้สูบบุหรี่ยังควรออกกำลังกาย เพราะเมื่อสูบบุหรี่มักจะมีปัญหาเรื่องการหายใจ เนื่องมาจากการทำงานของปอด เมื่อเลิกบุหรี่จำเป็นต้องใช้การออกกำลังกายมาช่วยเพื่อให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติ ให้ร่างกายได้หลั่งสารเอ็นโดรฟิน ทำให้เกิดความสุข รู้สึกสบาย เพื่อลดอาการกระสับกระส่ายจากการเลิกสูบบุหรี่ลง คนที่สูบบุหรี่ต่อเนื่องเป็นเวลานานมักจะทำให้รูปทรงของทรวงอกเปลี่ยนไป หากเป็นผู้ชายจะสังเกตได้ง่าย คือ อกจะมีลักษณะกลมเหมือนถังเบียร์ ความแข็งแรงทนทานของปอดจะน้อยลง ทำให้จำเป็นต้องฝึกการหายใจนอกเหนือจากการออกกำลังกายด้วย เพื่อเพิ่มความทนทานของปอด
เพราะบุหรี่เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา กรรมการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ คลินิกฟ้าใส อธิบายว่า จากสถิติการให้บริการของคลินิกฟ้าใสในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนเข้ารับบริการประมาณ 1 หมื่นราย โดยจากการติดตามอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 6 เดือน พบว่ามีผู้สามารถเลิกได้โดยไม่กลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ ร้อยละ 50 ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราความสามารถในการเลิกบุหรี่ได้จากการให้บริการในประเทศตะวันตก พบว่า อยู่ที่ร้อยละ 25
แนวทางการเลิกบุหรี่ของไทย ผู้เข้ารับการบริการจะได้รับคำปรึกษาเพื่อหาสาเหตุการติดบุหรี่ เพื่อนำไปสู่การประเมินการรักษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไปจนถึงการใช้ยาเพื่อเลิกบุหรี่ แต่พบว่าในจำนวนผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ต้องใช้ยา แสดงให้เห็นว่า แนวทางการให้คำปรึกษา การให้กำลังใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญในการเลิกบุหรี่อย่างมาก
ไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์ที่จะช่วยได้ แต่หมายถึงผู้สูบเองและคนรอบข้าง ต้องสู้และอดทนเพื่อเอาชนะจนเลิกบุหรี่ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยเมธาวี มัชฌันติกะ